“รพี” เผยก.ล.ต.เตรียมประกาศหลักเกณฑ์การออกและซื้อขายเงินดิจิทัลไม่เกินเดือนมิ.ย.นี้ พร้อมจำกัดรายย่อยเข้าลงทุน เหตุมีความเสี่ยงสูง
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.จะนำร่างประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เกี่ยวกับการออกและซื้อขายโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี ไปเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในช่วงต้นสัปดาห์หน้าหรือประมาณวันที่ 21 พ.ค.นี้ โดยจะใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ ก่อนจะประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าวในช่วงกลางเดือนถึงปลายเดือนมิ.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการซื้อขายโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี ผู้ลงทุนมีความเสี่ยงสูงจากราคาที่ผันผวน และสตาร์สอัพที่ระดมทุนผ่านโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี มีความเสี่ยงล้มเหลวสูง ดังนั้น ร่างประกาศฯจะจำกัดประเภทนักลงทุน เช่น ต้องเป็นนักลงทุนสถาบัน กองทุน นักลงทุนรายใหญ่ และนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ ส่วนนักลงทุนรายย่อยจะมีการกำหนดคุณสมบัติ เช่น ต้องมีรายได้และสินทรัพย์เท่าไหร่จึงจะลงทุนได้ รวมทั้งจะจำกัดการซื้อต่อครั้งด้วย
“การลงทุนในโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี เป็นตลาดของผู้รู้ แต่ก็มีคนเข้ามาเก็งกำไร และมีคนเจ๊งมากถึง 90% จึงเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้ต้องจำกัดประเภทนักลงทุน”นายรพีกล่าว
นอกจากนี้ เบื้องต้นร่างประกาศฯจะกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี เช่น มีแหล่งเงินทุนเพียงพอ ต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการขายเสนอและร่างหนังสือชี้ชวนให้ก.ล.ต.อนุญาตก่อน เป็นต้น ส่วนผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ ศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องมีระบบยืนยันและตรวจสอบข้อเท็จจริงของลูกค้า มีมาตรการป้องกันการฟอกเงิน และมีระบบการรักษาความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์
นายรพี กล่าวว่า ในระหว่างที่ประกาศหลักเกณฑ์ฯเกี่ยวกับออกและการซื้อขายเงินดิจิทัลยังไม่ออกมา การออกโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซีใหม่จะทำไม่ได้ ส่วนการซื้อขายเงินดิจิทัลผ่านผู้ให้บริการระบบซื้อขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ในประเทศไทยที่มี 3 ตลาดนั้น ยังสามารถทำการซื้อขายได้ตามปกติ แต่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องมายื่นขออนุญาตจาก ก.ล.ต.ภายใน 90 วันหรือภายในวันที่ 14 ส.ค.นี้
นายรพี ระบุว่า พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 จะไม่คุ้มครองการลงทุนโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซีในต่างประเทศ ดังนั้น ก.ล.ต.อยากเตือนนักลงทุนว่า การลงทุนดังกล่าวมีความเสี่ยงสูง และอาจไม่มีสภาพคล่องหรือเปลี่ยนมือได้ยาก หากไม่มีความเข้าใจอย่าลงทุน และหากมีผู้ชักชวนให้ลงทุนโดยบอกว่าจะการันตีผลตอบแทนให้คิดไว้ก่อนว่าเป็นการหลอกลวง เพราะการลงทุนประเภทนี้ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนได้
“เราคงห้ามไม่ให้ใครไปลงทุนเงินดิจิทัลที่ออกและขายในต่างประเทศได้ เราทำได้แค่เตือน”นายรพีกล่าว
นายสาโรช ทองประคำ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสรรพากร กล่าวว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) เรื่องการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล กำหนดหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% สำหรับกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใด ที่นักลงทุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาได้จากการถือ ครอบครอง หรือโอนโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี ขณะเดียวกัน นักลงทุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% รวมทั้งต้องนำรายได้มาคำนวณเพื่อเสียภาษีประจำปีด้วย
อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆนี้กรมสรรพากรจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณากฎหมายยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีการซื้อขายโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี ผ่านศูนย์ซื้อขายที่ได้รับอนุญาตจากรมว.คลังตามพ.ร.ก.ฉบับนี้ นอกจากนี้ กรมสรรพากรและก.ล.ต.อยู่ระหว่างการหารือวิธีการเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% สำหรับกำไรที่ได้จากการขายเงินดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ทำธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล
“โทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซีที่มีการซื้อขายอยู่ในปัจจุบัน เช่น JFin Coin ยังซื้อขายได้ตามปกติ แต่หากนักลงทุนมีรายได้จากการซื้อขายโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี แม้ว่าจะขาดทุนและไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย แต่มีหน้าที่ต้องชี้แจงรายได้ในแบบแสดงรายการภาษีประจำปี หากไม่ดำเนินการจะมีบทลงโทษ โดยกรมสรรพากรสามารถเข้าทำการตรวจสอบภาษีย้อนหลังได้ 2-5 ปีแล้วแต่กรณี”นายสาโรชกล่าว
สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดนิติบุคคล ที่เสนอขายโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซีนั้น จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และมูลค่าเงินดิจิทัลที่ออกให้ถือว่าเป็นรายได้ที่ต้องนำมาคำนวณภาษีนิติบุคคล รวมทั้งจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% เท่ากับบุคคลธรรมดาด้วย เช่นเดียวกับศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ต้องมีหน้าที่เสียภาษีต่างๆเช่นกัน โดยกรมสรรพกรจะเสนอร่างประกาศอัตราการเสียภาษีดังกล่าวให้ครม.พิจารณาต่อไป