โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวสำคัญเกิดขึ้นในเมืองไทยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นข่าวการสูญเสียบุคคลสำคัญของประเทศ ความวุ่นวายในสภาที่แค่การเลือกประธานและรองประธานสภาพก็วุ่นกันมากขนาดนี้แล้ว เลยไม่มั่นใจว่ารัฐบาลใหม่จะสามารถบริหารประเทศได้มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน แต่ข่าวเหล่านี้แม้จะสำคัญและเกี่ยวข้องกับคนไทยทุกคนก็ตาม
แต่อีกข่าวที่ได้รับความสนใจไม่น้อยกว่ากัน ก็คือ ข่าวราชกิจจานุเบกษา ประกาศใช้ พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 ซึ่งสาระสำคัญของการแก้ไขพ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ กำหนดให้กองทุนรวมเป็นนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (คูปอง) และส่วนลดจากการลงทุนในตราสารหนี้ในอัตราร้อยละ 15 จากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษี กฎหมายนี้ประกาศ 19 พ.ค. 2562 จะมีผลบังคับใช้ใน 90 วันหลังจากนั้น คือจะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป แต่จะไม่มีผลย้อนหลัง
ดังนั้นถ้ากองทุนรวมได้รับดอกเบี้ยจากตราสารหนี้ที่กองทุนรวมถืออยู่ก่อนหน้ากฎหมายบังคับใช้ กองทุนรวมก็ยังไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ย 15% แต่ดอกเบี้ยจากตราสารหนี้ที่กองทุนรวมซื้อมาหลังกฎหมายบังคับใช้ อันนี้กองทุนรวมต้องเสียภาษีดอกเบี้ย 15%
ที่มาของกฎหมายฉบับนี้ คือ เดิมกองทุนรวม(ไม่ว่าจะเป็นกองทุนประเภทใด)ไม่ใช่หน่วยภาษี ดังนั้น กองทุนรวมไปลงทุนในอะไรก็ตามไม่ต้องเสียภาษี แต่คนที่ลงทุนในกองทุนรวม ถ้าได้รับผลตอบแทนจะมีภาระต้องเสียภาษี อย่างเช่น หากผู้ลงทุนในกองทุนรวมเป็นบุคคลธรรมดา ได้รับเงินปันผลจากกองทุนรวมจะต้องเลือกว่าจะให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% หรือจะนำไปรวมคำนวณเป็นฐานเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้ปลายปีก็ได้ แต่ถ้าได้รับกำไรจากการซื้อขายกองทุนรวม อันนี้ยกเว้นภาษี
ดังนั้นเมื่อกองทุนรวมไปลงทุนในตราสารหนี้ ได้ดอกเบี้ยมาก็ไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ สมมติดอกเบี้ยจากตราสารหนี้ที่ลงทุนเท่ากับ 4% กองทุนรวมก็จะได้รับ 3% เต็มๆไม่ต้องเสียภาษีเทียบกับบุคคลธรรมดาทั่วไปต้องเสียภาษีดอกเบี้ย 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ สมมติได้ดอกเบี้ยเท่ากัน บุคคลธรรมดาจะเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของ 4% คือ 0.60% เท่ากับได้รับดอกเบี้ยจริงๆ แค่ 3.40% และโดยทั่วไปกองทุนตราสารหนี้ก็เก็บค่าธรรมเนียมไม่เกิน 0.5% ทำให้การลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง
กฎหมายที่ออกมาใหม่ เปลี่ยนให้กองทุนรวมถือเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีจากดอกเบี้ยในอัตรา 15% สรุปคือกองทุนรวมทุกประเภทเป็นคนจ่าย ไม่ได้จำกัดเฉพาะกองทุนตราสารหนี้ ภาระภาษีผู้ถือหน่วยเหมือนเดิม และเสียภาษีเฉพาะดอกเบี้ยจ่ายเท่านั้น โดยให้ผู้ออกตราสารหนี้เป็นคนหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ตอนจ่ายดอกเบี้ยให้กองทุนรวม เงินได้อย่างอื่นของกองทุนรวมอย่างเช่น กำไรจากการลงทุน เงินปันผล ฯลฯ ยังยกเว้นภาษีเหมือนเดิม ผลกระทบคือ ดอกเบี้ยจริงๆที่กองทุนรวมได้รับก็จะน้อยลงส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของกองทุนรวม จะกระทบมากกระทบน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่ากองทุนรวมนั้นลงทุนในตราสารหนี้มากน้อยแค่ไหน
กองทุนรวมที่น่าจะโดนกระทบมากที่สุด คือ กองทุนตราสารหนี้ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนตลาดเงิน หรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น กองทุนตราสารหนี้ระยะยาว เพราะต้องลงทุนในตราสารหนี้ 100% หลายคนอาจเริ่มไม่พอใจ “อ้าว กองทุนได้ดอกเบี้ยก็เสียภาษี 15% ตอนกองทุนจ่ายเงินปันผล ผู้ถือหน่วยก็เสียภาษีอีก 10% เท่ากับเงินได้ก้อนเดียวเสียภาษี 2 ครั้ง เรื่องนี้สบายใจได้ สรรพากรกำหนดให้เงินปันผลจากกองทุนตราสารหนี้ไม่ต้องเสียภาษี ส่วนเงินปันผลของ
กองทุนประเภทอื่น ผู้ถือหน่วยยังต้องเสียภาษี 10% เหมือนเดิม จากกฎหมายใหม่นี้ ก็น่าจะทำให้กองทุนตราสารหนี้จ่ายเงินปันผลกันมากขึ้น จากเดิมไม่ค่อยมีนโยบายจ่ายปันผลกัน ใช้วิธีการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ
จริงๆหากพิจารณากฎหมายนี้ดีๆ เงินได้ที่กองทุนตราสารหนี้ได้รับไม่ได้มีแค่ดอกเบี้ย ยังมีกำไรจากการซื้อขายตราสารหนี้ด้วยซึ่งส่วนนี้กองทุนไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้นหากกองทุนตราสารหนี้ไหนที่มีเงินได้จากกำไรเยอะๆ สมมติ 100% มีเงินได้จากดอกเบี้ยน้อยๆ สมมติ 0% เท่ากับกองทุนตราสารหนี้นั้นไม่ต้องเสียภาษีอะไรเหมือนเดิม แล้วจ่ายปันผลให้ผู้ถือหน่วย เงินปันผลที่ผู้ถือหน่วยได้รับก็ยกเว้นภาษีตามกฎหมายนี้ สรุปผู้ถือหน่วยไม่โดนภาษีอะไรเลยทั้งระดับกองทุนและระดับผู้ถือหน่วย
แต่กองทุนที่โดนผลกระทบมากกว่า คือ กองทุนประเภทอื่น อย่างเช่น กองทุนหุ้น กองทุนผสม ฯลฯ กองทุนพวกนี้แม้นโยบายการลงทุนส่วนใหญ่ไม่ได้ลงทุนในตราสารหนี้ แต่ก็หนีไม่พ้นที่กองทุนต้องลงทุนในตราสารหนี้บ้าง ซึ่งก็ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยตามกฎหมายนี้ แต่ที่แย่กว่ากองทุนตราสารหนี้ก็คือ เงินปันผลที่ผู้ถือหน่วยได้รับจากกองทุนพวกนี้ยังต้องเสียภาษี 10% เหมือนเดิม อันนี้แหละเงินได้จากดอกเบี้ยก้อนเดียวเสียภาษี 2 ครั้ง แต่เนื่องจากกองทุนเหล่านี้ลงทุนในตราสารหนี้ไม่มากนัก ผลกระทบเรื่องนี้จึงไม่น่าจะมากด้วยเช่นกัน
ข่าวดีบนข่าวร้าย กฎหมายนี้ยกเว้นไม่บังคับใช้กับ RMF กองทุนรวมที่จัดตั้งเพื่อรองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เนื่องจากกองทุนทั้งหลายเหล่านี้เป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อรองรับการเกษียณในอนาคต แปลว่าถ้ากองทุนเหล่านี้ได้รับดอกเบี้ย ก็ไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ย 15% เหมือนกองทุนอื่นๆ
สำหรับกองทุนรวมที่ลงทุนตราสารหนี้ในต่างประเทศ (FIF) ก็ต้องเสียภาษีดอกเบี้ย 15% เหมือนได้รับดอกเบี้ยจากตราสารหนี้ในประเทศ หากประเทศต้นทางเรียกเก็บภาษีไว้แล้วไม่ถึง 15% กองทุนรวมจะต้องหักส่วนที่ไม่ถึง 15% และนำส่งสรรพากร