กองตราสารหนี้ไม่สูญพันธุ์ เก็บภาษีไม่ฉุดยิลด์ลดฮวบ

HoonSmart.com>>สมาคมบลจ.ประเมินภาษีกองทุนตราสารหนี้ 15% ไม่กระทบรุนแรง เก็บเพื่อสร้างความเท่าเทียมการลงทุนโดยตรง นักลงทุนมีเวลาศึกษาข้อมูลก่อนบังคับใช้ 20 ส.ค.62 แนะอย่าตื่นตระหนกขาย ชี้กระทบผลตอบแทนค่อยเป็นค่อยไป ตราสารหนี้ถือครองก่อนกฎหมายบังคับได้ยกเว้นภาษี เชื่อเป็นสินทรัพย์ช่วยจัดพอร์ต เศรษฐกิจไม่ดีหนุน “ตราสารหนี้” ปลอดภัยสำหรับเงินลงทุน

หลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ.2562 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 พ.ค.62 ให้เก็บภาษีผู้ลงทุนบุคคลธรรมดาในอัตรา 15% จากรายได้หรือดอกเบี้ยรับส่วนลดจากการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ โดยมีผลบังคับใช้ 90 วันนับจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือในวันที่ 20 ส.ค.62 โดยยกเว้นไม่เก็บภาษีตราสารหนี้ที่กองทุนถือก่อนมีผลบังคับใช้

มองผลกระทบไม่รุนแรง ยิลด์ลดค่อยเป็นค่อยไป
นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ประเมินผลกระทบจากกฎหมายใหม่ไม่น่าส่งผลกระทบทำให้เงินไหลออกจากกองทุนรวมตราสารหนี้อย่างรุนแรง เนื่องจากนักลงทุนมีเวลาเตรียมตัว 90 วันก่อนกฎหมายบังคับใช้ อีกทั้งการถือครองตราสารหนี้ก่อนวันที่กฎหมายบังคับใช้ก็ไม่เสียภาษี ดังนั้นผลกระทบต่อผลตอบแทนของกองทุนรวมจะค่อยเป็นค่อยไปไม่รุนแรง ไม่ใช่ลดลง 15% ในทันที เพราะทรัพย์สินภายในกองทุนมีทั้งตราสารหนี้เก่าที่ไม่ถูกหักภาษีและตราสารหนี้ใหม่ที่ถูกหักภาษี ผลตอบแทนจะลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป

นอกจากนี้ในแต่ละปีมีเม็ดเงินใหม่ไหลเข้าลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ทั้งอุตสาหกรรมประมาณ 70,000-100,000 ล้านบาทและในปีนี้ตัวเลขที่บลจ.กสิกรไทยเก็บข้อมูลไว้มีเงินไหลเข้ามาประมาณ 90,000 ล้านบาท ซึ่งระยะเวลาก่อนวันที่ 20 ส.ค.62 ก็เชื่อว่าบลจ.จะออกกองทุนรวมตราสารหนี้ประเภทกำหนดระยะเวลาลงทุน (เทอมฟันด์) ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ระวังหนีเสือปะจระเข้
“การเก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ ไม่ใช่เกิดการดีฟอลท์หรือล้มละลายที่นักลงทุนจะตื่นตระหนกและนำเงินออกไป นักลงทุนควรบริหารจัดพอร์ตโฟลิโอให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมมากกว่ามองเรื่องภาษีอย่างเดียวและสภาวะแวดล้อมในปัจจุบันซึ่งยังมีความไม่แน่นอนเรื่องเศรษฐกิจ จึงมองตราสารหนี้ยังปลอดภัยสำหรับการลงทุน”นายวศิน กล่าว

พร้อมแนะนำนักลงทุนอย่าตัดสินใจขายกองทุนรวมตราสารหนี้ เพื่อโยกไปลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานหรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับความนิยมมากในปีนี้และในปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีกระแสรายได้สม่ำเสมอ เพราะการแห่เข้าไปลงทุนในกองทุนดังกล่าวในจำนวนมากๆ จะทำให้ผลตอบแทนของกองทุนลดลง ซึ่งจะกลายเป็นว่านักลงทุนหนีเสือปะจระเข้ แม้ไม่ถูกเก็บภาษีแต่ผลตอบแทนกองทุนปรับลดลง ผู้จัดการกองทุนจึงแนะนำให้เป็นสินทรัพย์สำหรับการกระจายลงทุนมากกว่า

อย่าแพนิคแนะล็อคผลตอบแทน
นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย ในฐานะกรรมการสมาคมบลจ. แนะนำกลงทุนควรถือลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ต่อ เพราะหากขายออกไปแล้วกลับเข้ามาลงทุนใหม่จะเสียโอกาสเพราะต้องเสียภาษี ในขณะที่วัตถุประสงค์ของการเก็บภาษี เพื่อให้กิดความเสมอภาคเท่ากับการลงทุนโดยตรงซึ่งถูกเก็บภาษี 15% อยู่แล้ว ส่วนกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (MF for PVD) ได้รับการยกเว้น

“มองกฎหมายใหม่กระทบไม่มาก เพราะมีเวลาให้นักลงทุนทำความเข้าใจและบังคับใช้กับกองทุนตราสารหนี้ออกใหม่เท่านั้น อีกทั้งหากเปรียบกับกองทุนรวมอื่นๆ เมื่อมีการจ่ายเงินปันผลนักลงทุนจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% และสามารถเลือกที่จะไม่นำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ สิ้นปีก็ได้ ทำให้เมื่อเทียบกับกองทุนรวมอื่นๆ ถือว่าภาษีเพิ่มขึ้น 5% เท่านั้น และกองทุนรวมตราสารหนี้ยังได้รับสิทธิยกเว้นภาษี capital gain และได้รับการยกเว้นภาษีเงินปันผลอยู่”นายสมจินต์ กล่าว

กองทุนตราสารหนี้ไม่สูญพันธุ์
พร้อมกับมองตลาดทุนไทยมีพัฒนาการขึ้นมาต่อเนื่อง จากอดีตมีกองทุนตราสารหนี้ 60-70% จากสินทรัพย์ทั้งหมด ตอนนี้ลดเหลือ 50% ทั้งที่ตลาดใหญ่ขึ้น นักลงทุนได้เรียนรู้กับการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำผลตอบแทนก็จะต่ำ และค่อยๆ ขยับไปขึ้นสู่ความเสี่ยงปานกลางและสูงขึ้น เช่นเดียวกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นด้วย จึงมองภาษีเป็นผลกระทบเพียงเล็กน้อยและค่อยเป็นค่อยไป หากผู้ถือหน่วยมีความเข้าใจที่ดี เชื่อว่ากองทุนตราสารหนี้จะยังคงอยู่และมีโอกาสเติบโตต่อไปเหมือนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก”นายสมจินต์ กล่าว

ส่วนกรณีผู้ลงทุนจะแบ่งเงินไปลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนอสังหาริมทรัพย์หรือมัลติแอซเสทหรือตลาดหุ้นถือเป็นพัฒนาการของนักลงทุน ซึ่งไม่อยากให้ตัดสินใจโยกย้ายเงินเพราะตกใจ อยากให้ตัดสินใจลงทุนโดยจัดทัพลงทุนให้ตรงวัตถุประสงค์ สอดคล้องความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ จึงมองเรื่องภาษีไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของไทย แต่เป็นพัฒนาการอีกก้าวหนึ่ง

ปัจจุบันกองทุนรวมตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สิน 2.55 ล้านล้านบาท โดยมีบัญชีผู้ถือหน่วยกองทุนรวมตราสารหนี้1.41 ล้านบัญชี จากจำนวนบัญชีของผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งหมด 3.16 ล้านบัญชี

เทอมฟันด์ 8 แสนล้านไม่กระทบ

นายชัชชัย สฤษดิ่อภิรันกษ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า กองทุนรวมตราสารหนี้แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเทอมฟันด์ ซึ่งประมาณ 35% ของมูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนรวมตราสารหนี้หรือประมาณ 8 แสนล้านบาทนั้นไม่น่าได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษี และเมื่อครบอายุกองทุนหากนักลงทุนจะลงทุนใหม่อยู่ที่ผลตอบแทนลดลงไปหรือยังน่าจูงใจมากน้อยแค่ไหน

กลุ่มสอง กองทุนรวมตลาดเงินหรือมันนี่ มาร์เก็ต สินทรัพย์ประมาณ 1.3-1.4 ล้านล้านลานหรือ 55% ขอมูลค่าสินทรัพย์กองทุนรวมตราสารหนี้ ซึ่งกลึ่มนี้ก็ไม่น่ากระทบมาก ส่วนใหญ่ลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น เงินฝากบ้าง ซึ่งการเก็บภาษีอาจทำให้ผลตอบแทนลดลงประมาณ 0.50 บาท เช่นจากเคยได้รับ 1.4-1.45% จะเหลือ 1.35-1.4% ยังดีกว่าฝากเงินแบงก์

กลุ่มสุดท้ายประมาณ 10% ขอมูลค่าสินทรัพย์กองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นกองทุนตราสารหนี้ทั่วไปซึ่งส่วนใหญ่อายุเฉลี่ยของตราสารอยู่ที่ 1-2 ปีกว่า หากลูกค้าไม่มีเม็ดเงินใหม่เข้ามาเยอะ เงินเดิมก็ไม่กระทบหรือเงินใหม่เข้ามา 10-20% ก็ไม่ได้กระทบมาก เพราะเงินก่ายังไม่ถูกกระทบ จึงมองปีแรกไม่น่ากระทบ

“แม้แนวโน้มผลตอบแทนของกองทุนรวมตราสารหนี้อาจลดลง แต่เงินใหม่ที่ผู้จัดการกองทุนนำไปลงทุนตราสารหนี้นั้นอาจขายเพื่อทำกำไรออกไปโดยไม่ได้ถือครองจนถึงวันขึ้น X เพื่อรับดอกเบี้ยเงินใหม่ก็ไม่ต้องเสียภาษีและยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนเพิ่มชึ้นได้”นายชัชชัย กล่าว

อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดแล้วยังต้องจับตาเมื่อพ้นวันที่ 20 ส.ค.62 ผลกระทบจะเป็นเช่นไร ซึ่งนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เชื่อว่า ความท้าทายไม่ได้อยู่ที่ผู้ลงทุน แต่อยู่ที่ผู้จัดการกองทุนจะต้องหาตราสารเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเท่าเดิม เพื่อชดเชยกับภาษีที่ผู้ลงทุนต้องเสียไปได้มากน้อยแค่ไหน และสุดท้ายเชื่อว่า “แม้กองทุนเทอมฟันด์อาจออกยากขึ้นแต่ไม่น่าจะหายไปจากระบบ”