HoonSmart.com>>บริษัทจดทะเบียนปรับตัวครั้งสำคัญ อาศัยจังหวะสงครามการค้ายืดเยื้อ ปตท.ลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่ง ขยายไปแอฟริกา อินเดีย ตะวันออกกลาง เน้นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม ส่วนเคซีอีฯ ลดน้ำหนักตลาดยานยนต์ ใช้เครื่องจักร แทนพนักงงาน ตั้งเป้าลดพนักงาน 1,000 คน ส่วน BDMS ยืนยันกลยุทธ์ระยะยาวมาถูกทาง ขยายเครือข่ายครอบคลุมลูกค้าหลายกลุ่ม หลายประเทศ
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.(PTT) เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มเห็นผลกระทบจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนแล้วจากส่วนต่างราคา(สเปรด)ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกปรับตัวลง ซึ่งกลุ่มปตท. ได้ปรับแผนธุรกิจและการตลาด โดยไม่พึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่ง แต่จะหันไปทำตลาดแอฟริกา อินเดีย และตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น รวมถึงจะมุ่งเน้นผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และลดต้นทุนค่าใช้จ่าย
“เรายังต้องติตตามสถานการณ์ต่อไป โดยคาดว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 จะดีขึ้นกว่าไตรมาส 1 หลังจากสเปรด ราคาน้ำมันเบนซินกับน้ำมันดิบเริ่มมีทิศทางดีขึ้น คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ น่าจะยังทรงตัวสูงในระดับ 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมันของกลุ่มปตท.ในปีนี้ จะทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด “นายชาญศิลป์ กล่าว
ส่วนกรณีหุ้นบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE)ถูกเทขายออกมาอย่างรุนแรงและต่อเนื่องจนราคาปรับตัวลงต่ำกว่า 20 บาท ลดลงมากกว่า 50% เมื่อเปรียบเทียบกับราคาสูงสุดที่ 47 บาท ในช่วง 52 สัปดาห์ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจนทำให้กำไรสุทธิไตรมาส1/2562 เหลือเพียง 268 ล้านบาท ลดลงประมาณ 50% จากช่วงเดียวกัปีก่อนมีกำไรสุทธิ 541 ล้านบาท โดยผู้บริหารให้ข้อมูลกับนักวิเคราะห์ว่า บริษัทปรับลดรายได้เป็นทรงตัวจากเดิมคาดว่าจะเติบโต 10-11%
บริษัทถือเหตุการณ์ครั้งนี้ หันมาปรับภายในครั้งใหญ่ ลดการพึ่งพิงอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีสัดส่วนถึง 70% หันไปเพิ่มสินค้ากลุ่มซับซ้อน ที่มีมาร์จิ้นดีกว่า เช่น HDI ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า และลดพนักงานลงเหลือ 5,500 ล้านบาทจากที่มีอยู่ทั้งหมด 6,100 ล้านบาทและเป้าหมายระยะยาวต้องการให้เหลือจำนวน 4,500 ล้านบาท แต่จะไม่ใช้วิธีการเลิกจ้าง ไม่รับเพิ่มถ้ามีการลาออก
ด้านบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ(BDMS)ให้ข้อมูลนักวิเคราะห์ว่า กลยุทธ์ระยะยาวของบริษัทมาถูกทาง สำหรับการขยายเครือข่ายครอบคลุมลูกค้าหลายกลุ่ม หลายประเทศ เพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว