BEAUTY ร่วง 10% หลังกำไรหด ผู้บริหารยันไตรมาส 2 ดีขึ้น

HoonSmart.com>>นักลงทุนเทขายหุ้น BEAUTY ร่วงแรงหลังผลงาน Q1/62 กำไรลดวูบ 75% จากงวดปีก่อน ผู้บริหารเผย Q2/62 แนวโน้มธุรกิจโตดีกว่าไตรมาสแรก รุกตลาดต่างประเทศหนัก ลดพึ่งพาตลาดเดียว มั่นใจปีนี้รายได้โตมากกว่า 20% รักษาอัตรากำไรสุทธิมากกว่า 25% ตามเป้า

ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นบริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ (BEAUTY) เช้าวันที่ 14 พ.ค.62 ปรับตัวลงแรงกว่า 9% ตั้งแต่เปิดตลาด ณ เวลา 11.33 น.อยู่ที่ 4.92 บาท ลดลง 0.53 บาท หรือ -9.72% มูลค่าการซื้อขาย 474.46 ล้านบาท จากราคาเปิด 4.90 บาท ลดลง 0.55 บาท หรือ -10% และลงไปต่ำสุดที่ 4.84 บาท ขณะที่ราคาสูงสุดเช้านี้ 4.96 บาท

BEAUTY ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1/19 มีกำไรสุทธิ 69 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.02 บาท ลดลง 75% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และลดลง 43% จากไตรมาส 4/2561 ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาด 44% โดย Bloomberg consensus ให้ราคาเป้าหมายที่ 7.19 บาท (Buy/Hold/Sell : 4/4/6) ข้อมูลจากบล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี

ด้านนายแพทย์สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ (BEAUTY) ผู้ดำเนินธุรกิจจำหน่ายปลีกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและบำรุงผิว เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจในช่วงไตรมาส 2 จะเติบโตดีกว่าไตรมาส 1/62 และปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง เชื่อมั่นว่าในปีนี้จะสามารถสร้างการเติบโตของรายได้มากกว่า 20% และรักษาอัตรากำไรสุทธิมากกว่า 25% ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยสัดส่วนรายได้แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 60% ต่างประเทศ 40%

โดยการปรับกลยุทธ์โครงสร้างการจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ มุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วนรายได้โดยขยายธุรกิจช่องทาง Non Retail ในประเทศ เดินหน้ารุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพื่อรักษาอัตรากำไรสุทธิที่ดีต่อเนื่อง เนื่องจากช่องทางดังกล่าวมีต้นทุนดำเนินการที่ต่ำ และเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงลดการพึ่งพิงตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไปโดยขยายสัดส่วนการขายช่องทางต่างๆเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ตลาดในประทศจะมุ่งเน้น ช่องทาง Non Retails หรือช่องทางการขายที่ไม่ใช่ร้านค้าปลีก เช่นขยายช่องทางการจำหน่ายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ช่องทางสินค้าอุปโภค สินค้าประจำวัน (Consumer Product) ช่องทางการจัดกิจกรรมการตลาดที่เรียกว่า บิวตี้ เฟส ( BEAUTY FEST ) ซึ่งเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าในรูปแบบของงานแสดงสินค้าซึ่งสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าหรือตลาดนัด สินค้าที่จำหน่ายจะมีทั้งสินค้าของบริษัทเองและของคู่ค้าต่างๆ ช่องทางโฮมชอปปิ้งถือว่าเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ของบริษัท โดยมีแผนเริ่มจำหน่ายในต้นไตรมาส 3 รวมทั้งใช้กลยุทธ์สินค้าขับเคลื่อน (Product Driven) ซึ่งในปีนี้มีแผนสร้าง Product Hero จำนวน 57 รายการสินค้า และออกโปรโมชั่นต่างๆจัดกิจกรรมกับลูกค้าสมาชิกเพื่อผลักดันยอดขาย

ช่องทาง Retails มุ่งกลยุทธ์การเปิดสาขาใหม่ในทำเลที่มีศักยภาพการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าสูง โดยในปี 2562มีแผนขยายสาขารวมทั้งสิ้น 15 สาขา แบ่งเป็น BEAUTY BUFFET 11 สาขา BEAUTY COTTAGE 4 สาขา ปัจจุบันมีจำนวนสาขาในประเทศรวม 363 สาขา และมีแผนปรับดีไซน์ของร้าน BEAUTY BUFFET ให้ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค โดยจะเปิดร้านต้นแบบสาขาแรกที่มาบุญครองภายในไตรมาส 2 นี้

สำหรับตลาดต่างประเทศในปีนี้มีแผนขยายตลาดจำนวน 15 ประเทศ ปัจจุบันมีตัวแทนจำหน่ายใน11 ประเทศ และอีก 4 ประเทศเป้าหมาย คือ รัสเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แคนาดา และบรูไน โดยรูปแบบของตัวแทนจำหน่ายแบ่งเป็น Product Distributor, Shop Licence, Shop in Shop และ Counter sales ซึ่งปัจจุบันแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย BEAUTY COTTAGE ในประเทศจีน 1 ราย และจะเริ่มแต่งตั้งตัวแทนในประเทศบรูไน 1 ราย อีกทั้งมีแผนออกงานแสดงสินค้าตลอดทั้งปี จากต้นปีมีออกงานแสดงสินค้าไปแล้ว 7 งาน ซึ่งมีกระแสตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังเน้นรุกตลาดประเทศจีน โดยกระจายสินค้าผ่านช่องทาง Cross Border E-commerce อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าวางจำหน่ายแล้วจำนวน 8 Platforms อาทิ TMALL, JD, Kaola, VIP, YUNJI, Little, Redbook, Beidiam, Jumei และในปีนี้มีแผนเจรจาเพิ่มจำนวน Platform อีกมากกว่า 2 รายและยังขยายจำนวน SKUs สินค้าเข้าจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์สุวิน กล่าวต่อไปถึงผลประกอบการไตรมาส 1/62 ว่า บริษัทมีรายได้รวม 548.7 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 904.9 ล้านบาท ลดลง 39.4% และมีกำไรสุทธิ 69.6 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 282.4 ล้านบาท ลดลง 75.4 %

ทั้งนี้ผลประกอบการปรับตัวลดลง เนื่องจากตลาดในประเทศเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อกระแสข่าวผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอางของบริษัทอื่นๆไม่ผ่านมาตรฐาน อย. ส่งผลกระทบให้ฐานลูกค้ารายย่อยระมัดระวังการซื้อมากขึ้น แต่ในระยะยาวถือว่าเป็นผลดีต่อบริษัทเพราะสินค้าของบริษัทผลิตถูกต้องมีเลขที่จดแจ้งที่ได้รับการรับรองจาก อย. ทุกรายการ อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในช่วงที่ผ่านมาลดลงเป็นจำนวนมากส่งผลให้ยอดซื้อลดลง

ด้านตลาดต่างประเทศยังคงได้รับผลกระทบจากกระแสข่าวเรื่อง อย. ปราบปรามสินค้าไม่ได้มาตรฐานของบริษัทอื่น ทำให้การส่งออกสินค้าทุกประเภทไปประเทศจีนล่าช้า ลูกค้าขายส่งของบริษัทต้องใช้ระยะเวลาในการนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายยาวนานกว่าเดิม ประกอบกับประเทศจีนมีการออกกฎหมายใหม่ เก็บภาษีสินค้าออนไลน์ อย่างไรก็ตามธุรกิจ BEAUTY ยังคงขยายตัวได้ดี และมีศักยภาพในการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ยังได้รับคำสั่งซื้อสินค้าจากตัวแทนจำหน่ายประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสินค้า BEAUTY ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคจีนและมีความต้องการเพิ่มขึ้น

บริษัทได้ดำเนินการปรับกลยุทธ์เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า อาทิ Cross Boder E-commerce และ ช่องทางตลาดหลัก (General Trade) ประกอบด้วยช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ในตลาดทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน(Mainland China) รวมถึงแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในประเทศอื่นๆที่มีศักยภาพเพื่อสร้างยอดขายในตลาดต่างประเทศเติบโต