ความจริงความคิด : PESTEL

โดย..สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีนซึ่งเดิมเป็นข่าวดี เพราะมีความคืบหน้ามาโดยตลอด แต่อยู่ๆ ประธานาธิบดีสหรัฐก็ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน จาก 10% เป็น 20% เอาดื้อๆ เล่นเอาหุ้นตกกันไปเลย แต่อีกเดี๋ยวก็ออกมาให้ข่าวว่า การเจรจาคืบหน้าดี หุ้นก็ขึ้นกัน ดูแล้วเหนื่อยมากกับการเล่นหุ้นตามข่าว

สงสัยเลยว่าน่าจะมีหลักการในการดูว่าลงทุนอะไรดี กองทุนไหนดี หุ้นไหนดี จังหวะไหนดี ฯลฯ ซึ่งบางสำนักก็แนะนำให้วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน บางสำนักก็แนะนำให้ดูเทคนิค บางสำนักบอกต้อง hybrid คือ ดูทั้งพื้นฐานและเทคนิค

สุดท้ายที่ได้ฟังมาล่าสุดเลย คือ ใช้บริการ Roboadivor ทำให้เสร็จทุกอย่างแค่มีตังค์และบอกเป้าหมายให้ชัดเจน หุ่นยนต์ทำให้หมด เห็นแล้วก็คิดไปเรื่อยเปื่อยต่อให้คนเราจะฉลาดขึ้นหรือโง่ลง อย่างตอนนี้เห็นเด็กรุ่นใหม่หลายคนไม่สามารถบวกลบคูณหารในใจได้ เพราะใช้เครื่องคิดเลขมาตลอด อย่าว่าแต่เด็กรุ่นใหม่เลย ขนาดเราเองสมัยก่อนจำเบอร์โทรศัพท์ได้เป็นสิบๆเบอร์ เดี๋ยวนี้ขนาดเบอร์ตัวเองยังต้องขอเวลาคิด แล้วอย่างนี้ต่อไป จะมีใครลงทุนเองเป็นจริงๆบ้าง และถ้าทุกคนใช้ Roboadvisor กันหมด มี model ในการตัดสินใจเหมือนกัน ใครจะเป็นผู้ชนะในตลาด เพราะตลาดการลงทุนเป็น zero sum game เมื่อมีคนได้ ก็ต้องมีคนเสีย

อย่างไรก็ตาม แม้ Roboadvisor จะเก่งกว่าคน แต่การศึกษาเรื่องการลงทุนไว้ ย่อมเป็นประโยชน์กับเรามากกว่า ทำนองที่ว่าต่อให้ที่บ้านมีเครื่องปั๊มน้ำใช้ แต่มีน้ำใส่แท็งค์เก็บไว้เผื่อตอนไฟดับก็น่าจะเป็นประโยชน์

การลงทุนโดยเฉพาะหุ้น แม้จะให้ผลตอบแทนที่สูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูง ต้องอาศัยความรู้และข้อมูลในการลงทุน ดังนั้นถ้าซื้อโดยไม่มีความรู้หรือข้อมูลย่อมเป็นการลงทุนที่เสี่ยงมากๆ ตามคำเตือนของ ก.ล.ต. ที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน”

หลักการคัดเลือกแบบที่เรียกว่า การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานที่จะช่วยในการพิจารณาเลือกสินทรัพย์ในการลงทุนได้ดีหลักการหนึ่ง โดยการวิเคราะห์ก็มีทั้งแบบ top down และ bottom up

Top down คือ การมองจากปัจจัยมหภาคก่อนแล้วค่อยมองมาที่อุตสาหกรรม แล้วค่อยมาเลือกหุ้นว่าตัวไหนจะเป็นตัวที่ให้ผลตอบแทนที่ดีในภาวะปัจจัยมหภาค ณ ขณะนั้น ส่วน bottom up ก็จะมองตรงข้าม คือ เลือกหาหุ้นที่มีลักษณะที่ดีตามที่เราต้องการก่อน อย่างเช่น เป็นผู้นำในธุรกิจ ผู้บริหารเก่ง ผลประกอบการดี การจ่ายปันผลดี มีจรรยาบรรณ ฯลฯ เมื่อได้หุ้นที่สนใจแล้ว ก็จะมองต่อที่ระดับอุตสาหกรรมว่ามันเป็นช่วงขาขึ้น หรือขาลง แล้วก็ตบท้ายด้วยการดูภาพมหภาคว่าเอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมนั้น ๆ หรือไม่

การวิเคราะห์ทั่วไปก็ใช้ทั้ง 2 อย่างทั้ง top down และ bottom up แต่จะใช้อันไหนมากกว่ากัน ก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อ กับ ความถนัดครับ

หากเรามาดูวิธี top down เครื่องมือหนึ่งที่เขาใช้กันในการวิเคราะห์ภาพใหญ่ (มหภาค) ก็คือ PESTEL

• P ย่อมาจาก Political คือ ภาวะการเมือง อย่างเช่น การเลือกตั้งในไทยที่จะมีขึ้นในต้นปีหน้าเป็นผลบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย หรือ อย่างการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐที่เพิ่งผ่านก็มีผลต่อการลงทุนทั่วโลกมากอย่างที่เห็นกันอยู่

• E ย่อมาจาก Economic คือ ภาวะเศรษฐกิจว่าอยู่ในวัฏจักรช่วงไหน จะเป็น

o Expansion (คือภาวะเศรษฐกิจขยายตัว): เป็นช่วงที่การผลิต อัตราการจ้างงาน อัตราดอกเบี้ย ความต้องการสินเชื่อ และ ความเชื่อมั่นเริ่มเพิ่มขึ้น รายได้และรายจ่ายของครัวเรือนสูงขึ้น ทิศทางการลงทุนมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น
o Boom (คือภาวะเศรษฐกิจรุ่งเรือง): อัตราดอกเบี้ยพุ่งขึ้นสูง การผลิตและความเชื่อมั่นทรงตัว เป็นจุดสูงสุดของวัฏจักรเศรษฐกิจ มีความขาดแคลนทั้งแรงงานและวัตถุดิบ ทำให้ต้นทุนการผลิตและระดับราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น
o Recession (คือภาวะเศรษฐกิจถดถอย): ทิศทางการลงทุนมีแนวโน้มเป็นขาลง เป็นช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) การจ้างงาน และ ความต้องการสินค้าโดยรวมลดลง ธุรกิจเริ่มขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน
o Depression (คือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ): เป็นจุดต่ำสุดของภาวะเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย ความต้องการสินเชื่อ และ ความเชื่อมั่นตกต่ำ นโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มการผลิตเริ่มเข้ามามีบทบาทและวนกลับไปสู่ระยะถัดไปของวัฎจักร

• S ย่อมาจาก Social คือ ภาวะสังคม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆก็คือ ตอนนี้ไทยเป็นสังคมคนสูงอายุ และจะเป็นอย่างรุนแรงและเร็วด้วย

• T ย่อมาจาก Technology คือ ภาวะเทคโนโลยี อย่างเช่น การเกิดขึ้นของ internet และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากๆทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ และหลายๆธุรกิจก็ต้องตายลงไป

• E อีกตัวย่อมาจาก Environment คือภาวะสิ่งแวดล้อม หลายคนคงรู้สึกถึงว่าปัจจุบันภัยธรรมชาติเกิดขึ้น รุนแรงและถี่ขึ้นมาก โชคดียังเป็นของประเทศไทยที่เราไม่ได้อยู่ในโซนที่มีความเสี่ยงสูงด้านภัยภิบัติธรรมชาติ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะรอดพ้น อย่างเช่น ภัยแล้ง ภัยน้ำท่วม ฯลฯ ก็เป็นสิ่งที่เราเคยเจอกันมาแล้ว

• L ย่อมาจาก Legal คือ กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลไทย หรือ ออกโดยรัฐบาลต่างประเทศ อย่างเช่น สงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน การยกเลิกการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตเชื้อเพลิงไบโอดีเซลภายในปี 2564ของ EU หรือ การสนับสนุนโครงการ EEC ของไทย ฯลฯ

ปัจจัยเหล่านี้เป็นแนวทางในการช่วยให้เราประเมินภาวะมหภาคได้อย่างครบถ้วน เมื่อเราประเมินได้ครบและถูกต้อง โอกาสที่เราเลือกการลงทุนที่จะได้รับประโยชน์ และหลีกเลี่ยงการลงทุนที่เสี่ยง ก็จะถูกต้องมากยิ่งขึ้น