บล.อาร์ เอช บี กอดเครดิต ‘AA-‘ ทริสฯ เผยแม่มาเลเซียหนุนเต็มที่

HoonSmart.com>>ทริสเรทติ้งมอง RHBS มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่มการเงินใหญ่อันดับ 4 มาเลเซีย  ได้รับการสนับสนุนทั้งธุรกิจและการเงิน ไม่ต้องห่วงเรื่องสภาพคล่อง ฐานทุน  ปีก่อนขาดทุน 127 ล้านบาท คาดแนวโน้มในปี 2562-2564 จะดีขึ้น  ROA จากติดลบจะเป็นบวก ได้ทีมวาณิชธนกิจเข้ามาเสริม เพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินออกมาขาย 

บริษัททริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อาร์ เอช บี (ประเทศไทย)หรือ RHBS ระดับ ‘AA-‘และแนวโน้ม”คงที่” สะท้อนถึงสถานะเครดิตเฉพาะของ บล. อาร์ เอช บี ซึ่งได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากการเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของ RHB Bank Group (ได้รับอันดับเครดิต “AA/Stable” จากทริสเรทติ้ง) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินขนาดใหญ่อันดับ 4 ในประเทศมาเลเซีย

บริษัทเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายในภูมิภาคเอเชียของ RHB Bank Group และได้รับการสนับสนุนทั้งทางด้านธุรกิจและการเงินจากกลุ่ม บริษัทยังดำเนินธุรกิจภายใต้ระบบบริหารจัดการความเสี่ยงและระบบปฏิบัติการร่วมกันกับกลุ่ม และยังได้รับวงเงินสินเชื่อจากกลุ่ม ซึ่งช่วยเสริมความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัทด้วย

สถานะเครดิตเฉพาะของ บล. อาร์ เอช บี มีปัจจัยสนับสนุนจากการมีสภาพคล่องและฐานทุนที่เพียงพอที่จะรองรับการขาดทุนจากธุรกิจเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จิ้น)และความผันผวนของราคาหลักทรัพย์จากธุรกิจการลงทุนของบริษัท เพราะมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินหลายแห่ง นอกจากวงเงินสินเชื่อจากธนาคาร อาร์ เอช บี (สาขาประเทศไทย)อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดจากผลประกอบการที่อ่อนแอและพึ่งพารายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์(คอมมิชชั่น)เป็นหลัก

บริษัทฯปล่อยมาร์จิ้น 1,400 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 คิดเป็นส่วนแบ่ง 2.3% ของทั้งตลาด หรือ 0.9 เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น บริษัทลดมาร์จิ้นลงจาก 2,200 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 เพื่อบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมมากขึ้น หลังจากการเกิดลูกหนี้ด้อยคุณภาพในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 ทริสเชื่อว่าการบริหารความเสี่ยง และนโยบายด้านเครดิตที่เข้มงวดมากขึ้น นอกจากการปฏิบัติตามนโยบายบริหารความเสี่ยงจาก RHB Bank Group นั้นจะช่วยจำกัดความเสี่ยงทางด้านเครดิตของบริษัทได้

บริษัทมีอัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์อยู่ที่ 58.2% ณ เดือนมิ.ย.2561 ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 54.2% บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้ทั่วไปอยู่ที่ระดับ 52% เทียบกับ 54% ในปีที่แล้ว และสูงกว่าเกณฑ์ 7% ที่ทางการกำหนด

สำหรับผลประกอบการได้รับแรงกดดันจากทั้งการแข่งขันที่รุนแรงและค่าใช้จ่ายที่สูง ในปี 2561 บริษัทขาดทุนสุทธิ 127.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากขาดทุนสุทธิ 80 ล้านบาทในปี 2560 บริษัทมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวม(ROA) ติดลบ1.6% ในช่วง 6 เดือนแรก ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 4.3% คาดว่าจะดีขึ้นเป็น 5-7%ในปี 2562-2564
ส่วนค่าธรรมเนียมและบริการลดลงซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน กำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง แต่ทริส คาดว่าแหล่งรายได้ทั้ง 2 แหล่งนี้จะดีขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากบริษัทได้ทีมวาณิชธนกิจที่มีประสบการณ์มาช่วยเสริมและยังมีแผนจะเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงิน

ขณะเดียวกัน บริษัทยังคงได้รับแรงกดดันต่อรายได้คอมมิชชั่น ส่วนแบ่งตลาดลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.3% หรืออันดับที่ 25 ในช่วง 6 เดือนแรก  จาก 1.6% หรืออันดับที่ 23 ในปี 2560 แม้ว่าอัตราค่าคอมมิชชั่นเฉลี่ยของบริษัทจะอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 0.10% ในปี 2561 ทริสคาดว่าบริษัทจะคงอยู่ที่ระดับในปัจจุบันเพื่อให้สามารถรักษารายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ได้

บริษัทยังมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่อยู่ในระดับสูง นอกจากความสามารถในการสร้างรายได้ที่อยู่ในระดับต่ำ โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิอยู่ที่ 94.5% ในช่วง 6 เดือนแรก  สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 59.8% โดยทริสประมาณการว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะอยู่ที่ระดับ 80-85% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากคาดว่ารายได้จะดีขึ้น

“บริษัทพึ่งพารายได้ค่าคอมมิชชั่นมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของตลาดและการแข่งขันที่รุนแรงหลังเปิดเสรี โดยค่าคอมมิชชั่นคิดเป็น 61.1% ของรายได้รวม ในช่วง 6 เดือนแรกใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 61.5% แต่นักลงทุนทั่วไปมีความอ่อนไหวต่อราคามากกว่านักลงทุนสถาบันคิดเป็น 86.5% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดของบริษัทในปี 2561 ส่วนรายได้อื่นยังคงมีอยู่จำกัด แต่บริษัทมีแผนจะพัฒนาและเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่จะเสนอขาย อาทิเช่น ตราสารอนุพันธ์ เชื่อว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยกระจายแหล่งรายได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า”ทริสเรทติ้งระบุ