HoonSmart.com>>ทริสเรทติ้ง ปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “ธนาคารเกียรตินาคิน” เป็น “A” จาก “A-” หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 เป็น “BBB+” จาก “BBB” แนวโน้ม “Stable”
บริษัท ทริสเรทติ้ง ปรับอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ขึ้นเป็นระดับ “A” จากระดับ “A-” และปรับอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ขึ้นเป็นระดับ “A” จากระดับ “A-” และปรับอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคาร ขึ้นเป็นระดับ “BBB+” จากระดับ “BBB” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น และฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นจากการรวมฐานการดำเนินการของธุรกิจตลาดทุนและธุรกิจธนาคารพาณิชย์
การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความหลากหลายของรายได้โดยเฉพาะรายได้ที่ไม่ได้มาจากการให้สินเชื่อ และฐานเงินทุนที่มีอยู่อย่างเพียงพอของธนาคาร โดยทริสเรทติ้งประมาณการอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ในระดับ 13%-14% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนลงจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก และการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมในระดับค่อนข้างสูง
สำหรับประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต คือ แหล่งที่มาของรายได้ที่หลากหลาย ซึ่งสถานะทางธุรกิจของธนาคารเกียรตินาคิน และบริษัทย่อยภายใต้ บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) (กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร) สะท้อนถึงธุรกิจที่มีความหลากหลาย ประกอบด้วยธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่มีความมั่นคง ธุรกิจวาณิชธนกิจที่แข็งแกร่ง และธุรกิจ Private Banking ที่มีการเติบโตสูง
สัดส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 60% และ 40% ตามลำดับของรายได้รวมในปี 2561 ซึ่งใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น ๆ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิมีสัดส่วนค่อนข้างสูงอยู่ที่ระดับ 24.1% ของรายได้รวม
ทริสเรทติ้งคาดว่า ธุรกิจสินเชื่อจะคงสัดส่วนต่อรายได้สูงที่สุดในระยะอีกสามปีข้างหน้า ถึงแม้ว่าธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะมีขนาดค่อนข้างเล็ก ณ สิ้นปี 2561 ธนาคารเกียรตินาคิน มีสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 9 จากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งสิ้น 11 แห่ง มีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อ 1.9% และเงินรับฝาก 1.5% ธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ระดับ 78% ของรายได้รวม และ 72% ของกำไรสุทธิรวม ในขณะส่วนที่เหลือเป็นส่วนใหญ่มาจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน
นอกจากนี้คาดว่าการเกื้อหนุนระหว่างธุรกิจในกลุ่มที่เพิ่มสูงขึ้นยังคงมุ่งเน้นความร่วมมือในการให้บริการ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ และการรวมฐานการดำเนินงานจะเพิ่มสัดส่วนของของรายได้และกำไรจากธุรกิจนอกเหนือจากธุรกิจสินเชื่อต่อไปได้ในอนาคต ถึงแม้ว่าจะมีความเชื่อมโยงต่อความผันผวนของธุรกิจตลาดทุนสูงก็ตาม
ธนาคารมีความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งสนับสนุนการเพิ่มฐานทุนของกลุ่ม อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยที่ระดับ 2.1% ในปี 2561 อยู่ในกลุ่มที่มีระดับสูงที่สุดในอุตสาหกรรม อัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังจากหักต้นทุนทางเครดิต อยู่ที่ระดับ 3.8% ในปี 2561 ก็อยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 2.1% เช่นเดียวกับ 2-3 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์จากสินเชื่อคงค้างเดิม สะท้อนถึงความพยายามของกลุ่มในเพื่อยกระดับมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้พยายามแก้ปัญหาหนี้เสียคงค้างอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งธนาคารเกียรตินาคินมีอัตราส่วนสภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ แต่อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดเล็กที่ 158% และค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ 183% ตามตัวเลขของ ธปท. อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝากรวมตั๋วแลกเงินและเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารอยู่ที่ระดับ 30.4% ณ สิ้นปี 2561 ซึ่งใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น ๆ