ชอร์ตหุ้นแบงก์ลดฮวบ แนะซื้อ KBANK ส่วน PTTEP-PTTGC ยังขายต่อ

HoonSmart.com>>นักลงทุนชอร์ตหุ้นแบงก์ลดลง พลังงานยังสูงอยู่ PTTEP-PTTGC บล.เอเซียพลัสคาดเงินทุนต่างชาติไหลเข้าต่อ แนะซื้อ KBANK ลุ้นเก็บคืนหลังขายล่วงหน้าไปมากจนราคาถูก  STEC น่าสนใจ โบรกเกอร์ปล่อยให้ลูกค้าต่างชาติขายโดยไม่มีใบหุ้น บล.ซีแอลเอสเอสฯถูกปรับมากถึง 8.33 ล้านบาท

วันที่ 12 เม.ย.2562 ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติพลิกมาขาย 1,072 ล้านบาท หลังจากเข้าซื้อก่อนหน้านี้ รวมทั้งเดือนมียอดซื้อสุทธิ 4,114 ล้านบาท

ส่วนแรงขายชอร์ตหุ้นธนาคารพาณิชย์ใหญ่ลดลง อาทิ SCB และ KBANK เหลือไม่ถึง 1 ล้านหุ้น ยกเว้นธนาคารกรุงไทย(KTB)ที่มีเกือบ 2 ล้านหุ้น สัดส่วนสูงถึง 16% ขณะเดียวกันการขายล่วงหน้าหุ้นกลุ่มพลังงานยังคงสูงอยู่ อาทิ PTTEP และ PTTGC มากกว่า 10% รวมถึงหุ้น EA จำนวน 17.24 %

บริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส (ASP) ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทย 40% ของพอร์ตในสัปดาห์นี้(17-19 เม.ย.) บนความเชื่อว่าเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ปรับพอร์ต เพิ่มหุ้นธนาคารกสิกรไทย ให้มูลค่า 246 ล้านบาท เพราะที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับตัวลงมามากจากการถูกชอร์ต คาดว่าจะเห็นแรงซื้อกลับเพื่อปิดสถานะชอร์ต เซล และปัจจัยพื้นฐานที่ไม่เปลี่ยน ราคาถูก P/BV เข้าใกล้ 1 เท่า และให้อัตราผลตอบแทนปันผลราว 2.5% ต่อปี ซึ่งถือว่าดีสำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่

นอกจากนี้แนะนำ”ซื้อ”บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) ให้มูลค่าเหมาะสม 29.25 บาท ระดับ Backlog ที่รองรับการสร้างรายได้กว่า 3 ปี ฐานะการเงินที่เป็นเงินสดสุทธิเอื้อต่อการขยายฐานธุรกิจในระยะยาว และน่าจะเห็นการประมูลงานใหม่ๆ เข้ามาต่อเนื่อง เชื่อว่าน่าจะเป็นแรงหนุนให้ราคาหุ้นปรับขึ้นไปได้

” เชื่อว่าเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาต่อ จากก่อนเทศกาลสงกรานต์ เข้ามาซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย พร้อมเปิด Long ใน Future สัปดาห์นี้คาดยังอยู่ในช่วงการทดสอบแนวต้านบริเวณ 1660 จุด ส่วนสัปดาห์ถัดไป (22 –26 เม.ย.) มีโอกาสที่จะปรับขึ้นไปเหนือ 1660 จุด และมีเป้าหมายถัดไปที่ 1680 จุด”บล.เอเซียพลัสระบุ

สำหรับหุ้นต่างประเทศให้น้ำหนักการลงทุน 15% เน้นการลงทุนในตลาดหุ้น EM-Asia

กรณีโบรกเกอร์ปล่อยให้ลูกค้าต่างประเทศขายหุ้นโดยไม่มีใบหุ้นในครอบครองหรือเน็กเก็ตชอร์ต  เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2562 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการทางวินัยกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) หรือ CLSA โดยปรับเป็นเงินจำนวน 8,330,670 บาท และปรับบล.ฟินันเซีย ไซรัส (FSS)  จำนวน 220,484 บาท

ทั้งนี้ จำนวนเงินค่าปรับบริษัทหลักทรัพย์ทั้ง 2 แห่ง เป็นไปตามแนวทางการพิจารณาลงโทษด้วยวิธีปรับเป็นเงิน ตามประกาศว่าด้วยบทระวางโทษสมาชิกและการเปิดเผยการลงโทษ ซึ่งค่าปรับตามประกาศดังกล่าวข้างต้น มีอาทิค่าปรับเท่ากับกำไรที่ได้รับ ค่าปรับเนื่องจากไม่มีการรายงานตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ ตลาดหลักทรัพย์สั่งปรับบริษัทหลักทรัพย์ 3 แห่ง โดยบล.เอเชียเวลท์ ถูกปรับจำนวน 5.8 ล้านบาท ส่วนบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) และบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ถูกปรับรายละ 1.05 ล้านบาท