โดย..สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
ไม่คิดเลยว่า ภาษี online หรือ ภาษี e payment ที่กำหนดให้สถาบันการเงินต้องรายงานธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะในปีที่ล่วงมาดังต่อไปนี้แก่สรรพากร
1. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้ง หรือ
2. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมของ ธุรกรรมฝากหรือรับโอนรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป
ทั้งที่ข้อมูลที่รายงานไม่ใช่ข้อมูลที่จะต้องเสียภาษี เป็นเพียงข้อมูลที่จะนำมาประกอบเพื่อทำการวิเคราะห์ แยกระหว่างผู้ประกอบการกลุ่มดีกับผู้ประกอบการกลุ่มไม่ดีตามนโยบายการบริหารจัดเก็บภาษีอากรของกรมสรรพากรเท่านั้น
ปรากฏว่า มีบางคนบอกว่าต่อไปนี้ไม่ต้องโอนเงินทาง e payment กันแล้ว หันไปใช้เงินสดให้หมด เพื่อนบางคนที่อยู่โบรกเกอร์หุ้น ก็บอกว่ามีลูกค้าหลายคนลดการซื้อขายหุ้น ก็เพราะไม่ต้องการให้สรรพากรรู้ข้อมูล
การกระทำดังกล่าวนับว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด และอาจทำให้เกิดปัญหาในอนาคตด้วยซ้ำ เพราะหากเรามาดูนโยบายการบริหารจัดเก็บภาษีอากรของกรมสรรพากรแนวใหม่ นั่นคือ การบริหารจัดเก็บภาษีอากรโดยหลักการบริหารความเสี่ยง (Compliance Risk Management (CRM)) โดยสรรพากรจะวิเคราะห์ผู้เสียภาษีโดยใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจที่เรียกว่า RBA (Risk Based Audit) ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลทั้งจากภายในและภายนอกกรมสรรพากรโดยมีเกณฑ์ในการประเมินความเสี่ยงมากถึง 132 เกณฑ์ แถมจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอีกต่างหาก
• ข้อมูลจากภายใน เช่น ข้อมูลภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ฯลฯ
• ข้อมูลจากภายนอก เช่น ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมศุลกากร ตลาดหลักทรัพย์ฯ ฯลฯ
ดังนั้น สำหรับคนที่มีแนวคิดว่าจะแตกบัญชีเงินฝากออกเป็นหลาย ๆบัญชี เพื่อเลี่ยงการถูกตรวจสอบนั้นคงไม่มีประโยชน์ เพราะกรมสรรพากรยังมีวิธีอื่นๆอีกมาก (อย่างน้อยก็อีก 131 เกณฑ์) ในการตรวจสอบได้ แถมกลับมีข้อเสีย คือ การบริหารจัดการบัญชีเงินฝากจะยุ่งยาก และอาจเป็นสาเหตุให้เกิด Dormant account บัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เพราะผู้ฝากเงินอาจจะลืมไปแล้วว่ามีบัญชีนี้อยู่ สุดท้ายเพียงเพราะเข้าใจผิด อาจทำให้สูญเงินฝากทั้งบัญชีก็ได้ เพราะเงินที่เราลืมว่ามีอยู่ ก็เท่ากับเราสูญเงินบัญชีนั้นไปแล้ว
การประเมินความเสี่ยง ก็เช่น การดูความเสี่ยงของการทำบัญชี เช่น การรับชำระเงิน หรือจ่ายเงินอย่างไร รับจ่ายเงินสด เช็ค หรือ บัญชีธนาคาร ยอดกระทบบัญชีเงินฝากถูกต้องหรือไม่ (ด้วยนโยบายดังกล่าว ใครยิ่งใช้เงินสดกลับจะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกสรรพากรตรวจสอบ) โปรแกรมบัญชีมีมาตรฐานหรือไม่ สามารถเชื่อมโยงกับระบบอื่นๆ เช่น ระบบสินค้าคงคลังได้หรือไม่ ฯลฯ ดูอัตราส่วนทางการเงินโดยกรมสรรพากรดูข้อมูล DBD e filing จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า การประเมินความเสี่ยง ก็เช่น บัญชีมีความเป็นไปได้เชิงธุรกิจหรือไม่ รายได้หรือค่าใช้จ่ายของกิจการผันผวนผิดธรรมชาติหรือไม่ ฯลฯ ดูระดับของผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี เช่น ผู้ทำบัญชีหรือผู้สอบบัญชีที่ใช้มีคุณภาพหรือไม่ ถ้าไม่มีคุณภาพ กรมสรรพากรก็จะตรวจสอบใกล้ชิด ฯลฯ
สรุปสุดท้าย ก็คือ นโยบายใหม่ของกรมสรรพากรจะแยกผู้ประกอบการตามความเสี่ยง ผู้ประกอบการกลุ่มดี ก็จะได้รับคืนภาษีไว ถูกตรวจสอบน้อย ตรงข้ามกับผู้ประกอบการกลุ่มไม่ดี จะถูกติดตามอย่างใกล้ชิด คืนภาษีก็ได้ช้า เพราะสรรพากรจะขอดูเอกสารเยอะ
การทำตามนโยบายของกรมสรรพากรเช่น การทำบัญชีเดียว นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจเองแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงิน การรู้ถึงสถานะของธุรกิจอย่างถูกต้อง รวดเร็ว สามารถวิเคราะห์ คาดการณ์ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนได้ ยังช่วยให้เราสามารถบริหารภาษีได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย