ความจริง ความคิด : กฎของ Murphy (Murphy’s Law)

สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

เช้าวันก่อนฝนตกหนักมาก และดันเป็นวันที่ผมต้องเข้าประชุมสำคัญของบริษัทเสียด้วย กลัวรถติดจริงๆ ทำไมวันอื่นไม่ตกมาตกวันสำคัญอย่างนี้ ว่าแล้วก็ทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์หนึ่งเมื่อปีที่แล้ว ที่ฝนตกหนักมากๆๆๆๆๆ ตั้งแต่ตีสามจนทำให้เกิดน้ำท่วมหลายแห่งทั่วกรุงเทพ และเมื่อน้ำท่วม ผลที่เกิดตามมาแน่นอนโดยไม่ต้องพิสูจน์ ก็คือ รถต้องติดมโหฬารด้วยเช่นกัน

และโชคร้ายวันนั้น ผมต้องไปบรรยายที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวสนามบินดอนเมืองตอน 9.00 น.เช้าวันนั้น ผมต้องตื่นตีสี่รีบโทรบอกคนขับรถของทางผู้จัดให้มารับผมเร็วขึ้นเป็นเวลาตีห้า เพื่อให้บรรยายได้ทันตามกำหนดเวลา ปรากฎว่าต่อให้โทรกำชับตั้งแต่ตีสาม

แต่สุดท้ายคนขับรถก็มารับผมไม่ทันอยู่ดี เพราะรถติดมาก ทำให้ผมต้องตัดสินใจนั่ง taxi แทนและบอกให้ Taxi วิ่งรอบนอก เพื่อหนีปัญหาการจราจรในกรุงเทพ ปรากฎว่าคนคิดแบบผมเยอะมาก สังเกตุจากรถติดมากๆๆๆๆๆๆๆ และเมื่อเห็นว่าอย่างนี้ไม่ทันแน่ๆ ผมตัดสินใจเปลี่ยนขึ้นมอเตอร์ไซค์รับจ้างต่อทันที นั่งไปได้ซักพัก เหมือนพระเจ้าแกล้ง มอเตร์ไซค์เสีย สุดท้ายผมก็ไปไม่ทันงานจริงๆ ทำไมซวยซ้ำซวยซ้อนอย่างนี้

เรื่องนี้ทำให้ผมได้นึกถึงกฎประหลาดกฎหนึ่ง คือ กฎของ Murphy (Murphy’s Law) หลายคนอาจไม่รู้จักเหมือน “กฎของ Pareto 80:20” แต่ก็เป็นกฎที่เกิดขึ้นบ่อยมากๆ

กฎของ Murphy (Murphy’s Law) มีประโยคง่ายๆ ว่า “If anything can go wrong, it will.” ซึ่งแปลความหมายเป็นไทยก็คือ “ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าหากเราปล่อยให้มีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ รับรองได้ว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นแน่นอน” หรือ อย่างที่พวกผมใช้กันในความหมายง่ายๆ ก็คือ “ในภาวะที่เลวร้าย สิ่งที่เลวร้ายกว่ามีโอกาสเกิดขึ้นเสมอ”

มีหลายคนพยายามค้นหาว่ากฎนี้มีที่มาจากผู้ใด จนพบว่าแหล่งที่น่าเชื่อถือมากที่สุดน่าจะมาจาก กับตัน Edward Murphy JR ซึ่งเป็นวิศวกรอยู่ที่ฐานทัพทหารอากาศ Muroc ในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1949 ได้ทดลองเกี่ยวกับความอดทนของมนุษย์ที่มีต่อแรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งทำการทดลองโดยมัดคนติดกับยานยนต์ที่เคลื่อนที่เหมือนจรวด และให้หยุดอย่างเร็ว แต่การทดลองมักจะเกิดความผิดพลาดจากผู้ช่วยทดลองที่ดูแลสายไฟฟ้า จนกัปตันต้องเปล่งประโยคออกมาว่า “If there’s any way to do it wrong, he will.” ซึ่งเชื่อกันว่าประโยคนี้คือจุดเริ่มต้นของ Murphy’s law ต่อมา Murphy’s Law แตกลูกหลานออกมาอีกมากมาย จนพอสรุปได้ ดังนี้

• Nothing is as easy as it looks.
ทุกอย่างไม่ง่ายอย่างที่เห็น

• Anything that can go wrong will go wrong.
ถ้ามีอะไรที่สามารถผิดพลาดได้ ก็มักจะเกิดความผิดพลาดเสมอ

• If there is a possibility of several things going wrong, the one that will cause the most damage will be the one to go wrong. Corollary: If there is a worse time for something to go wrong, it will happen then.
ถ้าหากมีความเป็นไปได้ที่อะไรบางอย่างจะผิดพลาด ขอให้ระวังไว้เถิดว่าอะไรบางอย่างนั้นมักจะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายให้ได้มากที่สุด หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ในช่วงภาวะที่วิกฤติที่สุดที่ไม่ควรจะเกิดความผิดพลาดเลย ความผิดพลาดมักจะเกิดในตอนนั้น

• If anything simply cannot go wrong, it will anyway.
อะไรก็ตามที่ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่ยอมให้เกิดไม่ได้ ก็มักจะเกิดความผิดพลาดเสมอ

เราลองมาคิดๆดูจะเห็นว่าในชีวิตมีหลายอย่างที่เป็นไปตามกฎของ Murphy อย่างเช่น รถเรามักเจออุบัติหตุตอนประกันขาด หรือ ในบางครั้งที่เรารู้สึกว่าโชคร้าย มักจะมีเหตุการณ์ร้ายมาซ้ำเติม ถามถึงเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน แต่ก็มีบางเหตุการณ์ที่เป็นตามกฎของ Murphy และเราสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าก็มี เช่น สำหรับมนุษย์เงินเดือน บริษัทมักจะให้สวัสดิการรักษาพยาบาลทั้งคนไข้นอก และคนไข้ใน แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยได้ใช้สวัสดิการนี้กัน เพราะสุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่ในวันที่เราเกษียณ เราไม่มีรายได้ ลำพังใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็นยังต้องประหยัด แต่ในวัยเกษียณ เราก็มักจะเจ็บไข้ได้ป่วยตามวัย ทำให้เรายิ่งมีปัญหาการเงินมากเข้าไปอีก ซึ่งก็เป็นไปตามกฎของ Murphy เช่นกัน

ตัวอย่างข้างต้นของ Murphy’s Law เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่คอยเตือนเรา อย่าได้ปล่อยให้มีโอกาสผิดพลาดเกิดขึ้น หรือเราต้องพยายามป้องกันโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดให้มากที่สุด มิฉะนั้นแล้วความผิดพลาดที่เราเปิดโอกาสไว้จะเกิดขึ้นแน่นอน

ขอสรุปสุดท้ายสำหรับบทความนี้ที่ใกล้เคียงกับ Murphy’s Law ก็คือ ปัจฉิมโอวาทขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้แสดงก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานว่า “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ของตน และประโยชน์ของผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”