ต่างชาติทิ้งตราสารหนี้สั้น เพิ่มยาว คาดดอกเบี้ยนิ่งถึงสิ้นปี

HoonSmart.com>>สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเผยไตรมาส 1/2562 นักลงทุนต่างชาติขายกว่า 4.2 หมื่นล้าน เน้นทำกำไรพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น ผลตอบแทนสู้เพื่อนบ้านไม่ได้ ซื้อระยะยาว เพิ่มอายุเฉลี่ยเป็น 8.46 ปี คาดดอกเบี้ยนโยบายไม่เปลี่ยนแปลงจนถึงสิ้นปี รอเงินเฟ้อ-การลงทุนเอกชนมหาศาลกระตุ้น ยืนเป้าหมายเอกชนออกหุ้นกู้ระยะยาวปีนี้ไว้ที่ 7.5-8.5 แสนล้านบาท ครบอายุ 5.6 แสนล้านบาท ออกใหม่รีไฟแนนซ์ 60% ต้องการเงินเพื่อดีลควบรวมกิจการ

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) แถลงว่าภาวะตลาดตราสารหนี้ในไตรมาสแรกของปี 2562 โดยรวมยังเติบโตดีทั้งตลาดแรกและตลาดรอง แต่นักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิรวม 42,305 ล้านบาท จากตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้นเพื่อรับรู้ผลกำไรหลังจากเข้ามาซื้ออย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีที่ผ่านมา และเพิ่มการถือครองตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาวมากกว่า 10 ปี ทำให้การถือครองสะสมลดลงเหลือ 942,993 ล้านบาท คิดเป็น 7.3% ของมูลค่ารวมตลาดตราสารหนี้ไทย แต่อายุเฉลี่ยยาวขึ้นเป็น 8.46 ปี จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 7.88 ปี นับว่าถือนานที่สุดนับตั้งแต่มีตลาดตราสารหนี้ไทย

“คาดว่าจะเห็นต่างชาติขายออกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะสั้น เนื่องจากผลตอบแทนต่ำกว่าสหรัฐฯ นักลงทุนหันกลับไปลงทุนในสหรัฐฯ และประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ โดยเฉพาะมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ เป็นต้น เพราะให้ผลตอบแทนดีกว่า ในไตรมาส 1 เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีความชันน้อยลง รุ่นอายุไม่เกิน 1 ปี เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 0.05-0.12% ส่วนรุ่นอายุ 2-10 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 0.01-0.09% “นายธาดากล่าว

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะคงอยู่ในระดับเดิมจนถึงสิ้นปี และอัตราดอกเบี้ยระยะยาวจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆแทบไม่ขยับ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ และการลงทุนภาคเอกชนเติบโตน้อยมากมานาน หากการลงทุนของเอกชนโตอย่างมากและรวดเร็วถึงจะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะต้องรอนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะการลงทุนโครงการขนาดใหญ่และใหม่ๆในอีอีซีที่จะต้องใช้เงินลงทุนภาคเอกชนมหาศาล จะหวังพึ่งพาโครงการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้ เพราะการก่อสร้างรถไฟฟ้าในช่วง 2-3 ปีแรกใช้เงินไม่มากนัก

ส่วนการออกตราสารหนี้ภาคเอกชน นายธาดากล่าวว่า สมาคมฯ ยังคงเป้าหมายการออกตราสารหนี้ระยะยาวปีนี้ไว้ที่ 7.5-8.5 แสนล้านบาท คาดครบอายุ 5.6 แสนล้านบาท ประมาณ 60% จะมีการออกใหม่เพื่อรีไฟแนนซ์ และออกหุ้นกู้เพื่อการซื้อกิจการ ขณะที่ในช่วงไตรมาสแรก เอกชนมีการออกหุ้นกู้ระยะยาว 2.79 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ในภาค Real sector ที่เสนอขายให้กลุ่มนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ ทั้งนี้ กลุ่มไม่มีเรทติ้งออกทั้งสิ้น 29,284 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 184% กว่า 54% เป็นหุ้นกู้ที่มีประกัน โดยผู้ถือหุ้นใหญ่และใช้หลักทรัพย์

อย่างไรก็ตามการออกตราสารหนี้ระยะสั้นลดลง เพราะกลุ่มธุรกิจเดียวกันที่เคยให้กู้ยืมกันผ่านการออกตั๋วบี/อี และหุ้นกู้ เปลี่ยนเป็นสัญญาเงินกู้แทน ส่วนภาค Real sector และกลุ่มสถาบันการเงินส่วนหนึ่งชะลอการออก เพื่อรอจังหวะที่เหมาะสม เพราะดอกเบี้ยระยะสั้นปรับขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะผู้ออกที่มีเครดิตไม่สูง หรือต่ำกว่า BBB-ลงไปและไม่มีเรทติ้ง ส่วนผู้ออกในภาค Real sector ที่มีอันดับเครดิตสูง ตั้งแต่ A- ขึ้นไป ยังคงมีออกมาอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยรวมมูลค่าคงค้างตราสารหนี้เอกชนเท่ากับ 3.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.34% หรือ 48,747 ล้านบาท

ส่วนตราสารหนี้ทั้งระบบมีมูลค่าคงค้างรวม 12.96 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.3% จาก 12.79 ล้านล้านบาทในปี 2561โดยมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 81,361 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.21%

“ไตรมาส 1 ตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าต้นทุนการกู้ยืมจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปลายปีที่ผ่านมาก็ตาม โดยเฉพาะกลุ่มอันดับเครดิตไม่สูง ภาพโดยรวมยังคงเสนอขายให้กลุ่มนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ ส่วนนักลงทุนทั่วไปหรือรายย่อยมีไม่ถึง 10% หรือ 1 ล้านล้านบาท เป็นบุคคลธรรมดา ขณะที่ต่างประเทศไม่มีกลุ่มนี้เพราะนักลงทุนลงทุนผ่านกองทุนรวม”นายธาดากล่าว

ส่วนการเก็บภาษี 15% จากดอกเบี้ยของกองทุนตราสารหนี้ นายธาดากล่าวว่า กองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ทุกประเภทจะต้องเสียภาษี ไม่ว่าจะเป็นต่างประเทศ หรือซีโรคูปอง(ไม่มีดอกเบี้ย)