เชื่อหรือไม่ !!! คนไทยจ่าย (ดอก) ยืมหุ้นชอร์ต แพงกว่าต่างชาติ

HoonSmart.com>>ตะลึง !!! ยืมหุ้นทำชอร์ตเซล นักลงทุนไทยจ่ายแพงกว่าต่างชาติ 3-3.5 % ชี้หากไม่คุมปริมาณการยืมหุ้น NVDR มาชอร์ต จะคุมตลาดไม่ได้ เผยเกณฑ์ที่ผ่านมากำหนดเพดานสูงสุด 10%

แหล่งข่าวโบรกเกอร์ กล่าวว่า การประกาศให้สถาบันต่างชาติยืมหุ้น NVDR ออกมาขายชอร์ตได้ ซึ่งกำลังจะมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 เม.ย.นี้ ยังไม่มีรายละเอียดออกมา เช่น ปริมาณหุ้น NVDR ที่ให้ยืมชอร์ตเซล สูงสุดจำนวนเท่าไร หากไม่มีการควบคุมจำนวน จะส่งผลกระทบกับตลาดและราคาหุ้นได้


ปกติแล้ว การยืมหุ้นจากโบรกเกอร์ ที่มีธุรกรรมให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL) แต่ละวันมีปริมาณไม่มาก เทียบกับหุ้นที่ถือโดย NVDR ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ นักลงทุนไทย ที่ถือหุ้นขนาดใหญ่ระยะยาวเพื่อรับเงินปันผล เช่น ปตท. ( PTT ) มีจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่ซื้อขายเก็งกำไรระยะสั้น เห็นได้ว่า การประกาศหุ้นถูกชอร์ตเซล ที่ตลาดหลักทรัพย์ประกาศออกมาแต่ละวัน มีจำนวนไม่มาก

อัตราดอกเบี้ยจากการยืมหุ้นมาชอร์ต สำหรับนักลงทุนทั่วไปที่ต้องจ่ายให้กับโบรกเกอร์ที่ไปยืมหุ้น ต้องจ่ายราว ๆ 5.5 % ต่อปี โดยโบรกเกอร์ได้ส่วนต่าง 1.5-2 % เจ้าของหุ้นที่นำหุ้นไปให้ยืม ได้ดอกเบี้ย 3.5 %

ขณะที่สถาบันต่างชาติ ยืมหุ้นมาขาย มีต้นทุนดอกเบี้ย 1.5-2 % เท่านั้นขึ้นอยู่กับจำนวนและปริมาณ ซึ่งต่ำกว่าราว 3-3.5 % ขณะที่ลูกค้ารายย่อยที่ยืมจากโบรกเกอร์เสียดอกเบี้ย 5.25-5.5 % ต่อปี

นอกจากนี้สถาบันที่จ่ายค่าคอมมิชชั่น (ค่านายหน้า) ถูกมากแล้ว เช่น โบรกเกอร์สัญชาติสิงคโปร์ คิดคอมมิชชั่น ล้านละ 150 บาท รวมค่าธรรมเนียม รับเข้าโบรกเกอร์จริงประมาณ 80 บาท

” ตามหลักการหุ้นที่ถูกฝากไว้กับโบรกเกอร์ต่าง ๆ ที่มีไว้ให้ยืม แต่ละตัวมีจำนวนไม่มาก เทียบกับหุ้นที่สถาบันต่างชาติซื้อในรูปแบบ NVDR แล้วฝากไว้กับคัสโตเดียน เมื่อเปิดโอกาสให้ต่างชาติยืมหุ้น NVDR มาชอร์ตเซลได้ จึงเป็นการช่วยเพิ่มแรงขายหุ้นจำนวนมากออกมาในตลาดย่อมส่งผลกระทบกับตลาดและราคาหุ้น ขณะเดียวกันต้นทุนยืมหุ้นจากต่างประเทศ (ออฟชอร์ ) ถูกกว่าที่นักลงทุนทั่วไปยืมจากโบรกเกอร์ นักลงทุนไทย จึงเสียเปรียบต่างชาติ นอกเหนือจากโปรแกรมเทรด AI ที่นักลงทุนไทย ส่งคำสั่งซื้อขายไม่ทันแล้ว เป็นเหตุให้การลงทุนยุคนี้เก็งกำไรไม่ได้” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้มีการแชร์ข้อความจาก SBL ของบล.ฟินันเซียไซรัส ระบุว่า การให้ต่างชาติยืมหุ้น NVDR ขาย Short ได้มีผล วันที่ 3 เม.ย. 2562 นี้ มีคนถามเข้ามามากว่า มีผลกระทบอะไรบ้าง

กรณีนี้ คนที่ได้ประโยชน์ มากที่สุดคือ กองทุนของสถาบันต่างประเทศ เพราะจะมีหุ้นให้ยืมมากมายและสะดวกในการนำมาขายในกระดานหลักได้ง่ายขึ้น

ส่วนนักลงทุนในประเทศได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะหุ้นจะถูก Short ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม SET 50 นอกจากนี้หุ้นจะแกว่งตัวขึ้นได้ยากขึ้น จะหวังถือยาว ๆ ได้ยาก มาก และการ Short จะสูงขึ้นมาก จากเดิมเฉลี่ยประมาณ 3-4%

ดังนั้นนักลงทุนควรต้องเปิดบัญชี SBL เตรียมไว้บ้าง ป้องกันกรณีหุ้นลงหนัก ๆ จะได้ยืมหุ้นมาทำกำไรได้บ้าง

สำหรับการอนุญาตให้ทำชอร์ตเซลหุ้น ตลาดหลักทรัพย์มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ครั้งแรกเริ่มขึ้นในสมัย นายสิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ เป็นกรรมการและผู้จัดการตลาด ประกาศให้วันที่ 1 ม.ค. 2541 เป็นต้นไป ให้โบรกเกอร์ขายชอร์ตได้เฉพาะหุ้นที่อยู่ใน SET 50 Index จำนวน 50 หลักทรัพย์ โดยตลาดหลักทรัพย์จะทบทวนความเหมาะสมทุก 6 เดือน นอกจากนี้ให้โบรกเกอร์ดำเนินการให้ลูกค้าทั่วไปขายชอร์ตผ่านบัญชีมาร์จิ้นและยืมหลักทรัพย์เพื่อส่งมอบขายชอร์ตจากโบรกกอร์เท่านั้น

ส่วนปริมาณสูงสุด กรณีที่ขายชอร์ตไว้และยังมิได้ซื้อคืน เบื้องต้นกำหนดไว้ที่ 10% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมดของบริษัทนั้น หากมีการขายชอร์ตเกินกว่าจำนวนดังกล่าว ตลาดหลักทรัพย์อาจสั่งห้ามการขายชอร์ตนั้นในวันถัดไปจนกว่าจำนวนดังกล่าวจะลดลง

หลังจากนั้นมีการออกข้อบังคับตลาดเรื่องการชอร์ตในตลาดหลักทรัพย์ ลงวันที่ 3 ม.ค. 2544 ปรับปรุงการขายหลักทรัพย์โดยผู้ร่วมค้าหน่วยลงทุน หรือผู้ดูแลสภาพคล่องของกองทุนรวมอีทีเอฟ เพื่อบัญชีบริษัทประเภทเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของรตาคาหรือเพื่อดูแลสภาพคล่องแล้วแต่กรณี

ในสมัยนายจรัมพร โชติกเสถียร เป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ประกาศให้ วันที่ 4 ม.ค.2554 เปิดทางให้หุ้น SET100 Index ขายชอร์ตได้ ในช่วงแรกให้มีผลเฉพาะหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท และมีการกระจายการถือหุ้นของรายย่อยไม่น้อยกว่า 20% ของทุน โดยยังคงหลักเกณฑ์สำคัญ คือปริมาณสูงสุด 10% ของทุน ลูกค้าทั่วไปขายชอร์ตผ่านบัญชีมาร์จิ้นและ SBLเท่านั้น ส่วนลูกค้าสถาบันที่มีการยืมหลักทรัพย์มาเองเพื่อส่งมอบก็ให้สามารถขายชอร์ตผ่านบัญชีเงินสดได้ ทั้งนี้ โบรกเกอร์ส่งคำสั่งขายชอร์ตผ่านระบบอัตโนมัติ โดยระบุอักษร
“S”เพื่อแสดงว่าเป็นการขายชอร์ตด้วย

อ่านประกอบ

อึ้ง! เปิดช่องตปท.ยืมหุ้น NVDR ขายชอร์ต โบรกเกอร์หวั่น กระแทกตลาดขาลง