HoonSmart.com>>ครม.ผ่อนเกณฑ์สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เพิ่มวงเงินปล่อยกู้ต่อรายเท่าตัว จาก 5 หมื่นบาทเป็น 1 แสนบาท ลดเพดานดอกเบี้ยลงไม่ถึง 36% ช่วยผู้มีรายได้น้อย คาดแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้มากขึ้น
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันที่ 19 มี.ค. 2562 เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ปรับปรุงเงื่อนไขการปล่อยกู้ของผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในการใช้เงินของประชาชน และแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ
ทั้งนี้ เดิมบริษัทต้องมีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท และสามารถปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อราย ภายใต้เพดานอัตราดอกเบี้ย 36% ต่อปี ปรับปรุงเป็นปล่อยกู้ได้รายละ 1 แสนบาท แต่บริษัทต้องเพิ่มทุนเป็นไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท พร้อมกำหนดอัตราดอกเบี้ย วงเงิน 5 หมื่นบาทแรก ที่อัตรา 36% ต่อปี และวงเงิน 5 หมื่นบาทถัดมา คิดอัตราดอกเบี้ย 28% ต่อปี
“กระทรวงการคลังรายงานว่า จากการลงพื้นที่ทำให้ทราบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความต้องการใช้เงินมากกว่า 5 หมื่นบาทต่อราย จึงจำเป็นต้องปรับเงื่อนไขการปล่อยกู้ให้สอดคล้องกับความต้องการ รและปรับอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมด้วย เพราะส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายเดิมที่ไม่มีค่าบริหารจัดการเพิ่มเติม จึงทำให้ผู้ประกอบการสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงได้” นายณัฐพร กล่าว
สำหรับการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยในปี 2560 มีข้อมูลว่าผู้มีรายได้น้อยที่เป็นหนี้นอกระบบ จำนวน 1.26 ล้านคน คิดเป็นมูลหนี้ 6.8 หมื่นล้านบาท คาดว่าโครงการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.16 ล้านคน จากเดิม 9.9 แสนคน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อปัญหาหนี้ครัวเรือน เพราะเป็นการแปลงหนี้นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบเท่านั้น
ทางด้านผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2559 – ก.พ.2562 มีนิติบุคคลยื่นขอจดทะเบียน ทั้งสิ้น 927 ราย ใน 74 จังหวัด มีผู้ได้รับใบอนุญาตทั้งสิ้น 516 ราย ใน 66 จังหวัด เปิดดำเนินการแล้ว 382 ราย ใน 64 จังหวัด และมีการปล่อยกู้แล้ว 358 ราย ใน 63 จังหวัด ยอดกาารปล่อยกู้จนถึง ธ.ค. 2561 อยู่ที่ 5.6 หมื่นราย วงเงินสินเชื่อ 1,550 ล้านบาท เฉลี่ยเป็นการปล่อยกู้รายละ 2.75 หมื่นบาท