AOT ยันรวมประมูลดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน-บริหารพื้นที่สุวรรณภูมิ ชะลอขายซอง

HoonSmart.com>>บริษัทท่าอากาศยานไทยชะลอวันที่เปิดขายซองประมูลจาก 19 มี.ค. คาดไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ ขอฟังเหตุผลกระแสสังคมก่อน ยืนยันรวมสัญญาเดียวประมูลดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิ-เชียงใหม่-ภูเก็ต-หาดใหญ่ และการบริหารโครงการเชิงพาณิชย์ ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ลั่นแยกประมูลไมได้ เชียงใหม่และหาดใหญ่ขายน้อย ยังขาดทุน ไม่มีอำนาจต่อรองสินค้าแบรนด์เนม

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT)แถลงข่าวกรณีนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ AOT ทบทวนโครงการประมูลพื้นที่ดิวตี้ ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ AOT กำลังจะขายซอง TOR ในวันที่ 19 มี.ค.-1 เม.ย. 2562 ว่าบริษัทฯจะเลื่อนการขายซองสัญญาออกไปก่อน เพื่อรอฟังเหตุผลที่มาหักล้างจากกระแสสังคมให้มีความชัดเจนมากขึ้น คาดว่าไม่น่าจะเกิน 1-2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะมีการกำหนดวันเปิดขายซองประมูลได้ คาดหวังว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลไม่เกินเดือนก.ย.นี้

นิตินัย ศิริสมรรถการ

ผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวว่า การดำเนินการที่จะจัดการประมูลในช่วงที่ผ่านมา ทำตามกระบวนการ โดยมีฝ่ายกฎหมายเข้ามาร่วมพิจารณา ตามพรบ. การร่วมทุนระหว่างรัฐฯและเอกชน เมื่อพิจารณาตาม ข้อมูลและไม่มีข้อสงสัย จึงไม่ได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)ตีความ

“จะมีการเชิญตัวแทนสคร.เข้ามาพิจารณาด้วยในวันที่ประกาศคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูลรอบใหม่ เพื่อจะได้มีความชัดเจนขึ้น ส่วนการประมูลให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีทั้ง 4 ท่าอากาศยาน คือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และการบริหารโครงการเชิงพาณิชย์ ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมอยู่ในสัญญาเดียว มีเหตุผลหากแยกจะดึงแบรนด์เนมชั้นนำเข้ามาจำหน่ายในสนามบินหาดใหญ่ เชียงใหม่ ภูเก็ตไม่ได้ เพราะยอดขายมีไม่เยอะ ส่วนใหญ่ขายในสนามบินสุวรรณภูมิ ถึง 82% ที่หาดใหญ่ ขายน้อยมากแค่ 0.04% ภูเก็ต 13-14% เชียงใหม่ 4-5% ทั้งนี้ที่หาดใหญ่ เชียงใหม่ ยังขาดทุนอยู่เลย ถ้ารวมสัญญามีความน่าสนใจมากกว่า “นายนิตินัยกล่าว

สำหรับดิวตี้ฟรีที่ขาดทุนยังสามารถดำเนินกิจการอยู่ได้ เนื่องจากมีการถัวกำไรจากสนามบินสุวรรณภูมิ นอกจากนี้การเปิดเสรีเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ตได้เริ่มประสบปัญหาการขาดทุนจากการแข่งขันของร้านค้าปลอดอากรในเมือง แสดงให้เห็นว่าความแข็งแรงและศักยภาพของผู้ประกอบการจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น จากผลการศึกษาของที่ปรึกษาชี้ชัดว่า การรวมสัญญาทั้ง 4 ท่าอากาศยาน จะทำให้ผู้ชนะการประมูลมีอำนาจต่อรองกับผู้แทนจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมชั้นนำได้มาก

นายนิตินัยกล่าวว่า การเปิดเสรีเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากรเป็นการยุติการผูดขาดธุรกิจร้านค้าปลอดอากร โดยสามารถเห็นตัวอย่างได้จากการเปิดเสรี Pick-up Counter ที่ท่าอากาศยานภูเก็ต ทำให้มีผู้ยื่นความจำนงประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมืองนับสิบราย ซึ่งบริษัทคาดว่าหลังจากมีการเปิดเสรี ที่อากาศยานสุวรรณภูมิจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันในธุรกิจร้านค้าปลอดอากรที่สำคัญของประเทศไทย

รูปแบบของการให้สิทธิประกอบกิจการโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และการบริหารโครงการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่เหมาะสมที่สุดและเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายในระยะยาว คือการให้สิทธิสัมปทานเพียงรายเดียว และการแยกประมูลตามหมวดสินค้า จะไม่ส่งผลดีต่อองค์กรและประชาชาติโดยรวม เพราะไม่เหมือนการค้าปลีก โดยเฉพาะเรื่องสถานที่ห้างสรรพสินค้ามีประตูอยู่ที่เดิมตลอดไป แต่ท่าอากาศยานมี contact gate ที่เปรียบเสมือนประตู และแต่ละ contact gate สามารถรองรับเครื่องบินได้ในแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน ดังนั้นการไหลเวียนของผู้โดยสารในท่าอากาศยานจึงแตกต่างจากห้างสรรสินค้า ขึ้นอยู่กับประเภทเครื่องบินที่สายการบินนำมาให้บริการ จึงสุ่มเสี่ยงที่หากมีการแยกสัญญาแล้วจะทำให้ผู้ประกอบการบางรายมีปัญหาเมื่อปริมาณและการไหลเวียนของผู้โดยสารมีการเปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ยังทำให้ภายในสนามบินเดียวกัน มีความแตกต่างให้เห็นทั้งโครงการส่งเสริมการขาย มาตรฐานการให้บริการ ซึ่งจะสร้างการเปรียบเทียบและความสับสนให้กับผู้โดยสาร อีกทั้งยังนำมาซึ่งการผูกขาดในรายสินค้านั้นและไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด แต่จะแสดงถึงความไม่มีมตรฐานของสนามบินของประเทศอีกด้วย

“ธุรกิจร้านค้าปลอดอากรเป็นธุรกิจที่ต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการอื่นในระดับโลก การจะทำให้ท่าอากาศยานภูมิภาคมีสินค้าแบรนด์เนมให้บริการผู้โดยสารเหมือนที่ท่าอากาศยานใหญ่ AOT จำเป็นต้องคัดเลือกให้ได้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมากที่สุด เพื่อให้สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ หากไม่สามารถแข่งขันได้ จะส่งผลเสียต่อประเทศชาติโดยรวม”

นายนิตินัยกล่าวยืนยันว่า AOT ได้จัดทำข้อกำหนดและรายละเอียดของทั้งสองโครงการตามขั้นตอนอย่างถูกต้องทุกกระบวนการ โดยคำนึงประโยชน์สูงสุดของบริษัทและประเทศที่จะได้รับเป็นสำคัญ รวมถึงการที่จะดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2562 ที่กำหนดให้คนนอกร่วมอยู่ในกระบวนการด้วย เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบและชี้แจงต่อสาธารณชนได้

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ออกบทวิเคราะห์ว่า การเลื่อนประมูล ไม่น่ากระทบสัมปทานรอบใหม่ เพราะมีเวลาพอควรกว่าที่สัมปทานเดิมจะหมดอายุในเดือน ก.ย. 2562 แต่ที่ผ่านมาราคาหุ้น AOT มีความอ่อนไหวต่อการชะลอประมูลงานต่างๆ จึงแนะนำให้ระมัดระวังในการเก็งกำไร ในเชิงปัจจัยพื้นฐาน แนะนำเพียงถือ ราคาเป้าหมาย 73 บาท

ด้านการซื้อขายหุ้น AOT ภาคเช้าวันที่ 18 มี.ค. ราคาหุ้นปรับตัวลงแรงต่ำสุดที่ 66.75 บาท ก่อนฟื้นมาปิดที่ 67.25 บาท ลดลง 0.75 บาทหรือ 1.105 มูลค่าการซื้อขายมากถึง 882 ล้านบาท