ทริสฯ เปิดผลตรวจสุขภาพปี 61 บริษัทที่ออกตราสารหนี้มีคุณภาพลดลง ผิดนัดชำระหนี้ 1 บริษัท ถูกปรับลดเครดิต 13 บริษัท เพิ่มขึ้น 8 บริษัท ยังไม่รวมการประเมินแนวโน้ม และเครดิตพินิจ ส่วนมูลค่าที่จะออกขายในปี 2562 คาดว่าจะเพิ่ม 1-3% เผยปีก่อน 4 กลุ่มธุรกิจระดมทุนกระจุกตัวเกือบ 60%
บริษัท ทริสเรทติ้ง นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “อัตราการผิดนัดชำระหนี้และการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตในประเทศไทย ประจำปี 2561” โดยมีการจัดและประกาศผลอันดับเครดิตทั้งสิ้น 209 ราย ประกอบด้วยบริษัททั่วไป 155 ราย สถาบันการเงิน 46 ราย ผู้ออกตราสารที่มีโครงสร้างซับซ้อน 4 ราย ส่วนที่เหลืออีก 4 ราย เป็นรัฐบาลของประเทศ 1 ราย หน่วยงานภาครัฐระดับท้องถิ่นของไทย 1 ราย และสถาบันระหว่างประเทศ 2 ราย
การศึกษาอัตราการผิดนัดชำระหนี้ขององค์กรทั่วไป ทริสฯได้ใช้จำนวน 196 ราย เป็นบริษัททั่วไป 150 รายและสถาบันการเงิน 46 ราย (รวมผู้ออกตราสารจำนวน 4 รายที่ทริสจัดอันดับเครดิตองค์กรเพื่อใช้เป็นการภายใน ) ไม่รวม 5 รายที่ออกเฉพาะตราสารที่ค้ำประกันเต็มจำนวน และรายใหม่ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กร 29 ราย (รวม 1 รายที่จัดเพื่อใช้เป็นการภายใน) มีผู้ออกตราสารที่ยกเลิกอันดับเครดิต 3 ราย (ไม่รวมผู้ออกตราสารที่ผิดนัดชำระหนี้ 1 รายในปี2560 และยกเลิกอันดับเครดิตในปี 2561)
ในปี 2561 มีผู้ผิดนัดชำระหนี้ 1 ราย คงเหลือผู้ออกตราสาร 192 ราย ปรับลดอันดับเครดิต 13 ราย(รวมผิดนัด 1 ราย) และมีปรับเพิ่ม 8 ราย คิดเป็นสัดส่วนของผู้ที่ถูกลดเครดิตต่อผู้ได้รับเพิ่มอยู่ที่ 1.63 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 1 เท่าในปี 2560
นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ปรับเพิ่มแนวโน้มอันดับเครดิต (Rating Outlook) 8 รายและปรับลด 6 ราย และมีแนวโน้ม ‘ไม่ชัดเจน’ หรือ ‘Developing’ อีก 1 ราย
ส่วนการประกาศเครดิตพินิจ (CreditAlert) 4 ราย ซึ่ง ‘ยังไม่ชัดเจน’ 3 ราย และแนวโน้ม’ลบ’ 1 ราย โดยมีผู้ออกที่’ยังไม่ชัดเจน’ 1 รายและแนวโน้ม’ลบ’1 รายได้รับการทบทวนกลับมามีแนวโน้มอันดับเครดิต’คงที่’ (Stable)และ’ยังไม่ชัดเจน’ มาเป็นแนวโน้มอันดับเครดิต’ยังไม่ชัดเจน’ ด้วย
ในปี 2561 มีผู้ออกที่ผิดนัดชำระหนี้ 1 รายทำให้สะสมตั้งแต่ปี 2537 เพิ่มขึ้นเป็น 21 ราย แต่ อัตราการผิดนัดชำระหนี้สะสม 1 ปี 2 ปี และ 3 ปีในช่วงปี 2537-2561 ลดลงเล็กน้อย มาอยู่ที่1.11% 2.33% และ 3.41% จาก 1.16% 2.60% และ 3.71% ในช่วงปี 2537-2560 ตามลำดับ
ตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าของตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวคงเหลือ ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 3.033 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 13.42% ขณะเดียวกันสัดส่วนของตราสารหนี้ที่ไม่มีอันดับเครดิตก็ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 13.73% จาก 15.05% ณ สิ้นปีก่อน
ทริสเรทติ้งคาดว่ามูลค่าตราสารหนี้ที่จะออกในปี 2562 น่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1-3% โดยตราสารหนี้ใหม่ที่ออกและจดทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2561 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 837,549 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.61% จากปีก่อนหน้า แบ่งเป็นไม่มีอันดับเครดิต ประมาณ 18.60% ของตราสารที่ออกทั้งหมดในปี 2561 ลดลงจาก 23.63% ในปี 2560
ทั้งนี้ ผู้ออกใน 4 อุตสาหกรรม ได้แก่สถาบันการเงิน บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กองทรัสต์อสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า และธุรกิจอาหารและการเกษตร มีการออกตราสารหนี้เกือบ 60% ของมูลค่าหุ้นกู้ทั้งหมดที่ออกในปี 2561