เมื่อภาษีคืออาวุธ และเวทีการค้าโลกคือสนามรบ ดร.กอบฯแนะ 5 วิธีพยุงศก.ไทยโต 2.5%

HoonSmart.com>>ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ชี้ผลกระทบจากการขึ้นภาษีการค้า 3 ระดับ พร้อมแนะ 5 ทางออกดันไทยฟื้นตัวและสร้างภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจในยุคที่สหรัฐฯเปลี่ยนภาษีเป็นอาวุธ และเวทีการค้าโลกเป็นสนามรบ ที่เป็นจุดเริ่มต้นที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในมิติอื่นๆ เพิ่มเติม ศึกครั้งนี้ 2 พี่ใหญ่ไม่ยอมง่ายๆ เพราะเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี

ทั้งนี้ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวในหัวข้อ Aftershocks Reciprocal TARIFFS ในรายการ Bnomics by Bangkok Bank ทันเศรษฐกิจ สรุปได้ว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ใช้ภาษีการค้าเป็นอาวุธ และเปลี่ยนเวทีการค้าโลกเป็นสนามรบ

สำหรับ การขึ้นภาษีนำเข้าไปยังสหรัฐฯ มี 3 ระดับ คือ ระดับประเทศ ระดับอุตสาหกรรม และระดับบริษัท โดย 2 ระดับแรกได้ดำเนินการไปแล้ว เหลือระดับบริษัทที่ยังไม่ได้เริ่ม ซึ่งจะมีการพิจารณาลงลึกไปถึงว่าบริษัทไหนได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯมากที่สุด หากลงลึกถึงระดับบริษัทจะทำให้โครงสร้างทางการค้าของโลกจะมีการเปลี่ยนโฉมไปอย่างสิ้นเชิงและถาวร

ปัจจุบันการขึ้นภาษีระดับประเทศ และระดับอุตสาหกรรม เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น โดยทรัมป์ ต้องการดึงให้ 70 ประเทศทั่วโลกเข้ามาเจรจา เพื่อให้ลดภาษีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ แบบหมัดต่อหมัด โดยที่สหรัฐฯจะไม่ยอมเสียเปรียบอีกต่อไป เป็นการวางระบบใหม่ให้กับการค้าโลก ซึ่งทรัมป์ ภาคภูมิใจมากว่า นับจากที่เข้ามาเป็นประธานาธิบดี 3 เดือน สามารถหาเงินลงทุนทางตรง หรือ FDI ได้ถึง 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา อนาคตจะมีโรงงานใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมาก เพราะถ้าไม่อยากเจอภาษี จะต้องไปตั้งฐานการผลิตที่สหรัฐอเมริกา เพื่อหาเงินเข้าประเทศและไปสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในชาติ

สถานการณ์ที่ประเทศต่างๆ พึ่งพิงการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ทำให้ต้องยอมรับเงื่อนไขและข้อเสนอ “ทางเดียว” จากมหาอำนาจเท่านั้น แม้แต่ในประเทศที่ไม่มีเงินซื้อสินค้านำเข้าจากสหรัฐก็ไม่เว้น เช่น Lesotho ที่ถูกขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐถึง 50% เพราะสหรัฐฯมองว่า Lesotho มีวัตถุดิบอยู่จำนวนมาก วันนี้สหรัฐฯกำลังกุม“เส้นออกซิเจนทางการค้าโลกไว้ในมือ”

ในขณะที่ อาเซียน เป็นกลุ่มประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐอเมริกาถึง 2.2 แสนพันล้านเหรียญสหรัฐ รองจากกลุ่มสหภาพยุโรป(EU) และอาเซียนยังมีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาน้อยมากด้วย กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลัก เพราะสหรัฐฯ มองว่า “นำเข้าน้อย แต่ได้ดุลมาก” คือความไม่สมดุลที่ต้องถูกแก้ด้วยการขึ้นภาษี

นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำในสหรัฐอเมริกา มองว่า สูตรการคำนวณเพื่อขึ้นภาษีของทำเนียบขาว”ไม่ได้เป็นไปตามหลักเศรษฐศาตร์” บางคนถึงกับว่า”บ้า” หลายคนบอกว่า”คิดแต่เรื่องตัวเลขการค้า ไม่ได้คิดถึงบริการ และด้านอื่นๆ”

ท่าทีต่อการถูกขึ้นภาษีแตกต่างกันไป โดยกลุ่มที่ยอมรับสภาพ ซึ่งถูกขึ้นภาษีต่ำเพียง 10% เช่น อังกฤษ มีท่าทีว่ายังไม่เร่งรีบเจรจาการค้า และสิงคโปร์ ทางผู้นำบอกว่ากำลังติดตามผลกระทบก็ไม่ได้เร่งรีบ

ขณะที่กลุ่มที่ดิ้นแรงและเร็ว คือ กลุ่มที่ถูกขึ้นภาษี 20%-50% จะต้องเร่งและดิ้นเจรจา ซึ่งไทยก็อยู่ในกลุ่มนี้ ถ้าช้าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องแบกรับภาษีนำเข้าสูงไปอีกนาน และอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันจากการถูกประเทศที่เร่งเจรจาเสร็จสิ้นก่อน

กลุ่มที่”สู้เพื่อศักดิ์ศรี อย่าง จีน และกลุ่ม EU ที่ยังไม่เห็นการเคลื่อนไหวมากนัก เพราะสมาชิกมีหลายประเทศ เข้าใจว่าต้องฟังเสียงประเทศอื่นๆ ด้วย ก่อนที่จะออกมาทำการตอบโต้

ขณะที่ จีน มีการตอบโต้กลับทันที ที่โลกต้องจับตามอง โดยตลาดคาดว่าการสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน จะรุนแรงต่อไป และตลาดกังวลว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งในมิติอื่นๆ ตามมา เช่น มิติทางด้านการเมือง ทหาร

จีน ยังมีไพ่ที่เหนือกว่าประเทศอื่นๆ แม้จะถูกขึ้นภาษีนำเข้า 34% แต่จีนมีการพึ่งพาการส่งออกแค่ 19% และที่ส่งไปสหรัฐอเมริกาอยู่ในระดับ 10% การถูกขึ้นภาษี 10% ก็ไม่สะเทือนมาก ขณะที่สหรัฐฯก็มีการส่งสินค้ามาจีนอยู่ในระดับหลัก 10% แม้จะถูกจีนตอบโต้ก็ไม่สะเทือนมากเช่นกัน

การขึ้นภาษีครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องเฉพาะกิจ ไม่ใช่แค่สงครามการค้า แต่คือการเขียนกฎใหม่ของระบบเศรษฐกิจโลก โดยผู้เขียนคือสหรัฐอเมริกา ใครจะอยู่รอด ต้องรู้ว่าจะ “ยอม เจรจา หรือสู้” และที่สำคัญ ต้องมี “แผน”รับมือ

ทั้งนี้ ดร.กอบศักดิ์ แนะ 5 ทางออก และทางรอดของไทยในสมรภูมิภาษี ประกอบด้วย

1.เริ่มเจรจาแบบจริงจังกับสหรัฐฯ และประเทศเป้าหมายการส่งออก ซึ่งต้องมากางดูว่า ในระดับอุตสาหกรรม กลุ่มไหนเป็นเป้าของการขึ้นภาษี ซึ่งทรัมป์ก็มีบอกในแผนใหญ่แล้ว และเขาอยากให้ไทยลดอะไรให้ ก็ทำการเจรจาตามที่เขาขีดให้เดิน เพราะเราไม่มีทางเลือกมาก และต้องเจรจาอย่างจริงใจ และตั้งใจ ไม่ใช่ให้แบบครึ่งๆ กลางๆ เพราะวันนี้มี 70 ประเทศที่จะไปเจรจากับสหรัฐ หากช้า หรือ ไม่จริงใจ ไทยจะเสียเปรียบด้านความสามารถการแข่งขันในเวทีการค้าโลก คาดว่าหลังเจรจาต่อรอง สหรัฐน่าจะลดภาษีนำเข้าให้กับประเทศต่างๆได้ เหลือประมาณ 10% เป็นขั้นต่ำ

2.รักษา Momentum เศรษฐกิจ ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศยังเผชิญความเปราะบางจากหนี้ครัวเรือนที่สูง จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำ โดยทางธนาคารกรุงเทพมองว่าจีดีพีไทยปีนี้น่าจะโตต่ำกว่า 2.5% จากเดิมที่คิดว่าจะโต 2.5-3% การที่จะรักษาให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระดับนี้ ต้องพึ่งพาภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว รัฐจะต้องสนับสนุนทรัพยาการให้กับการท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะหลังจากเจอแผ่นดินไหว และถูกขึ้นภาษีการค้า ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยจะส่งกระทบต่อการท่องเที่ยวทางอ้อม เพราะคนกลัวไม่ปลอดภัย และภาษีทำให้รายได้ของประเทศต่างๆลดลง ประชาชนก็จะลดการท่องเที่ยวลงไปด้วย

“การลงทุนทางตรง หรือ FDI จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีการค้าครั้งนี้ จะเห็นว่ามีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง และกลุ่มไมโครซอฟท์ ที่มีการประกาศว่าจะไปลงทุนประเทศต่างๆ มีท่าทีออกมาแล้วว่าอาจจะต้องทบทวนการตัดสินใจใหม่ ฉะนั้นสิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ก็มีส่งออกกับท่องเที่ยว”ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

3.เตรียมรับมือสินค้าจีนที่จะเข้ามาในไทยมากขึ้น หลังจากส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาไม่ได้

4.ลดการพึ่งพิงตลาดสหรัฐและจีน และมองหาตลาดส่งออกใหม่ เพื่อลดพึ่งพาสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกไปสหรัฐถึง 18% ของการส่งออก ไทยต้องส่งออกไปอินเดีย ตะวันออกกลาง อาเซียน และแอฟฟริกา ให้มากขึ้น ควรลดสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯให้เหลือ 10% ถ้าทำได้จะเป็นภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจของไทย และแม้จะถูกขึ้นภาษีสูงก็ไม่ตื่นเต้นแล้ว

“ส่วนตัวมองว่า ทางสหรัฐอเมริกาต้องการให้เราทำงานกับเขาอย่างใกล้ชิด มิฉะนั้นคงไม่มาสร้างสถานทูตมูลค่า 2 หมื่นล้านบาทในไทย ฉะนั้นต้องเร่งเจรจาและทำอย่างตั้งใจ ควบคู่กับแผนระยะกลางและระยะยาวที่จะต้องลดการพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯลงให้เหลือ 10% แต่การถูกขึ้นภาษี 36% ก็ไม่ได้เลวร้ายทั้หมด เพราะโดนหนักกว่าเมื่อรวมภาษีที่จีนส่งเข้าไปยังสหรัฐสูงถึง 104% สินค้าจากไทยก็ยังแข่งขันได้อยู่ ซึ่งผู้ประกอบการสหรัฐอเมริกา ยังไม่สามารถผลิตสินค้าทดแทนสินค้าจากจีนได้ เชื่อว่าสินค้าไทยเป็นตัวเลือกที่ดี “ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

5.Position ตนเอง สำหรับ Geopolitics สิ่งที่ไทยต้องระวัง คือ ให้รักษาความเป็นมิตรกับทั้ง 2 ประเทศนี้ต่อไป อย่าได้ตกเป็นเครื่องมือในการถูกนำเข้าไปเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อรวมกลุ่มโจมตีกันและกัน ไทยต้องรักษาสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ไว้เช่นที่ผ่านมา

เลี้ยงตัวให้รอดในคลื่นยักษ์

ดร.กอบศักดิ์เปรียบเปรยว่า ในช่วงนี้ตลาดทุนไทยกำลังมีมรสุมเข้า (สงครามการค้า และภาวะความเชื่อมั่นหดจากแผ่นดินไหว) ใครเล่นเจ็ทสกีในวันที่คลื่นแรงเสี่ยงตาย ต้องเลือกไปเล่น วินด์เซิร์ฟ แทน

ฉะนั้นต้องประเมินความเชี่ยวชาญของตัวเองก่อน และถามตัวเองว่ามีความพร้อมที่จะรับมือกับมรสุมมากแค่ไหน อย่างไร
จะเห็นว่าในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา สภาวะตลาดสะท้อนความรู้สึกของนักลงทุนที่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์และความกลัว มากกว่าปัจจัยพื้นฐาน เพราะไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

คนกังวลว่า คืนนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ จะพูดอะไร รวมถึงท่าทีของจีนและยุโรปที่ยังคงเป็นปริศนา ความไม่แน่นอนเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างชัดเจน และทำให้การตัดสินใจลงทุนยากขึ้น มีการขายหุ้นออกมาทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น

ในสถานการณ์เช่นนี้ หลักการสำคัญสำหรับการลงทุนคือ ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง แนะนำนักลงทุนที่ยังคงอยู่ในตลาด ให้ใช้เงินสดในการเทรดหุ้นแทนมาร์จิ้น และต้องเป็นเงินเย็นด้วย โดยกระจายลงทุนในหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ แต่ต้องเตรียมใจสำหรับการสูญเสียหากเงินทุนหายไป

แต่ถ้าใครอยากพักเพื่อรอให้มรสุมผ่านไป ก็เลือกพักเงินไว้ที่การฝากธนาคาร หรือ พันธบัตรได้ เพื่อรักษาเงินต้น ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของนักลงทุนที่เงินต้นสำคัญที่สุด ต้องรักษาไว้ให้ได้ เพื่อที่จะกลับเข้ามาใหม่ในวันที่มรสุมผ่านไป

“ราคาปัจจุบันถือว่าดีพอสมควร ต้องถามตัวเองว่าพร้อมลงทะเลเมื่อมีมรสุมไหม มีสินทรัพย์มากน้อยแค่ไหน รับความเสี่ยงได้แค่ไหน แล้วรอโอกาสเปิด”ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

เรียบเรียงโดย วารุณี อินวันนา