รายงานพิเศษ
บริษัท บ้านปู (BANPU) ก้าวเข้าสู่ธุรกิจพลังงานครบวงจรอย่างเต็มตัว โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี ในการรุกเข้าไปลงทุนบริษัทชั้นนำในเอเชีย และข้ามไปไกลถึงสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้มีธุรกิจพลังงานอยู่ในมืออย่างน้อย 6 ธุรกิจ ที่สามารถต่อยอดให้กลุ่มมีความแข็งแกร่งอยู่รอดปลอดภัยในทุกสถานการณ์ นักลงทุนไม่ต้องลุ้นระทึกว่าบริษัทจะประสบปัญหาขาดทุนอีกหรือไม่ หลังจากเห็นราคาถ่านหินลดลงมานานตั้งแต่กลางปี 2556 เพิ่งมาผงกหัวขึ้นในเดือน ก.ค. 2559 ที่ผ่านมา
บริษัท บ้านปู จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2526 โดยครอบครัว “ว่องกุศลกิจ” และ “เอื้ออภิญญกุล” ด้วยทุนจดทะเบียนเพียง 25 ล้านบาท เพื่อทำสัญญาเช่าช่วงการทำเหมืองถ่านหินที่เหมืองบ้านปู (BP-1) อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วันที่ 16 มิ.ย. 2532
“ชนินท์ ว่องกุศลกิจ” เป็นแม่ทัพ นั่งบริหารธุรกิจมานานมากกว่า 20 ปี เริ่มต้นจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายถ่านหิน ก่อนผงาดขึ้นเป็นพี่ใหญ่ในวงการเหมืองถ่านหินทั้งในประเทศไทยรวมถึงต่างประเทศ และธุรกิจไฟฟ้าที่ใช้พลังงานถ่านหิน-พลังงานทดแทน
รายได้หลักยังคงอยู่ในธุรกิจถ่านหิน ซึ่งมีตัวแปรที่สำคัญ คือเรื่องราคาขึ้นๆลงๆ เมื่อบ้านปูเผชิญกับวิกฤติ จากสถานการณ์ราคาถ่านหินตกต่ำอย่างยาวนานร่วม 3 ปี ตกลงไปประมาณ 50% จากที่เคยอยู่แถว 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลงมาเหลือเฉลี่ย 59 เหรียญสหรัฐ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อฐานะการเงิน ราคาหุ้น และความเชื่อมั่นต่อการลงทุน สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนทุกคน
ทางออก ณ เวลานั้น บริษัทจำเป็นต้องรัดเข็มขัดให้แน่น กดค่าใช้จ่ายลงให้มากที่สุด เมื่อไม่มีรายได้เข้ามา เพื่อให้ผ่านสถานการณ์ที่ย่ำแย่ออกไปให้ได้
ขณะเดียวกันต้องศึกษาหาทางรอดอย่างยั่งยืน การปรับกลยุทธ์ใหม่เป็นทางออกที่ดี เพราะเล็งเห็นแล้วว่าการใหญ่ในธุรกิจถ่านหินต่อไป ไม่มีประโยชน์อีกแล้ว แม้ว่าจะพยายามสร้างรายได้ที่มั่นคงจากธุรกิจไฟฟ้าเข้ามาเสริม ก็ไม่สามารถช่วยให้บริษัทเติบโตได้ในระยะยาว
เมื่อรอดพ้นวิกฤตมาได้ระยะหนึ่ง บริษัทก็ถือโอกาสเปลี่ยนแม่ทัพคนใหม่ “สมฤดี ชัยมงคล” ลูกหม้อที่ร่วมทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ “ชนินท์” มานาน ในฐานะ CFO ผู้รู้จุดแข็งและจุดอ่อนของบ้านปูเป็นอย่างดี จึงมองหาโอกาสตลอดเวลา เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานใหม่ ๆ ค่อยๆต่อจิ๊กซอว์ บนพื้นที่ที่กว้างใหญ่มากขึ้น จนมาถึงต้นปี 2562 บริษัทบ้านปูได้ขยายออกไปทำธุรกิจพลังงานถึง 6 ธุรกิจ ต่อยอดให้ธุรกิจเติบโตมั่นคง ก้าวขึ้นสู่ผู้นำธุรกิจพลังงานครบวงจรในเอเชีย
ภาพการขยายอาณาจักรของบ้านปูเห็นชัดเจนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปี 2562 โดยเฉพาะการออกไปร่วมลงทุนแหล่งก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (Shale Gas)ในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือในแหล่ง Marcellus Shale รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา นับเป็นธุรกิจใหม่ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ในการถือครองสินทรัพย์ที่สร้างกระแสเงินสดแล้ว ผลตอบแทนที่ได้รับดีมาก ทำให้บริษัทตัดสินใจใส่เงินเพิ่มเข้าไปอีกหลายครั้ง รวมแล้วมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท จนกลายเป็นหุ้นส่วนใหญ่ รับผลประโยชน์เต็มๆ จาก ทั้งปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติ ปริมาณสำรองประมาณ 292 พันล้าน จากทั้งหมด 112 หลุม และครอบคลุมพื้นที่การผลิตก๊าซประมาณ 6,700 เอเคอร์
บ้านปูยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจ เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2560 ได้ใช้บริษัทลูกซื้อหุ้นใหญ่ 25.7% ในบริษัท Sunseap Group Pte Ltd.เป็นเงินลงทุนประมาณ 1,860 ล้านบาท ซึ่งเป็นผู้นำด้านการให้บริการพลังงานสะอาดแบบครบวงจร ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ บ้านปูใส่เงินลงทุนแล้ว รับรายได้ทันที เพราะมีฐานลูกค้าเป็นหน่วยงานรัฐบาล สถาบันการศึกษาและบริษัทต่างๆ นอกจากนี้ยังมีโครงการลงทุนในธุรกิจเดียวกันในอีกหลายประเทศ ได้แก่ออสเตรเลีย กัมพูชา อินเดีย มาเลเซีย ไทย และ เวียดนาม ปัจจุบัน Sunseap มีกำลังการผลิตประมาณ 93.3 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 182.9 เมกะวัตต์
“การลงทุนครั้งนี้นับเป็นก้าวธุรกิจที่สำคัญในการขยายไปยังประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตในธุรกิจพลังงานสะอาด สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบ้านปู ในการพัฒนาสู่บริษัทชั้นนำด้านพลังงานอย่างเต็มรูปแบบ”
ส่วนธุรกิจพลังงานของโลกในอนาคต บ้านปูใช้เงิน ประมาณ 1,050 ล้านบาท ลงทุนในบริษัท New Resources Technology Pte. Ltd. (NRT ) สัดส่วน 44.84 % ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ ผลิต และติดตั้งระบบจัดเก็บพลังงาน แบตลิเธียมไอออน (LiB) สำหรับยานยนต์และระบบไฟฟ้าสำรองต่างๆ มากว่า 8 ปี ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 80 MWh และมีแผนจะขยายเพิ่มเติมในอนาคต บริษัทอยู่ในประเทศสิงคโปร์ และมีโรงงานอยู่ในประเทศจีน
“นับเป็นก้าวแรกของบริษัทฯ ในธุรกิจจัดเก็บพลังงาน หน่วยธุรกิจใหม่ที่จะสนับสนุนการพัฒนาสู่บริษัทพลังงานครบวงจร”
ล่าสุด วันที่ 4 ก.พ. 2562 บริษัท บ้านปู ใช้บริษัทย่อยลงทุนประมาณ 635 ล้านบาท ถือหุ้นจำนวน 21.50% ในบริษัท FOMM Corporation ประเทศญี่ปุ่น ผู้นำด้านการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก (Compact EV)พัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาดที่มีความล้ำหน้าและทันสมัยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้มีการลงนามในสัญญาความร่วมมือระหว่างกันในการถ่ายทอดวิทยาการ ความรู้ต่างๆ มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาและลงทุนในธุรกิจ โรงไฟฟ้าเสมือนการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (micro-grids), รถยนต์ไฟฟ้า , สถานีชาร์จรถไฟฟ้า และ แบตเตอรี่
ทั้งนี้การพัฒนาของ FOMM ได้มีการใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ที่พัฒนาและผลิตโดยบริษัท Durapower Technology (Singapore) ซึ่งบ้านปูถือหุ้นจำนวน 47.68%
สำหรับธุรกิจดั้งเดิม “ถ่านหินและไฟฟ้า” บ้านปูยังมีการลงทุน เสริมความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง เช่นการซื้อเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียเพิ่ม 2 แห่ง ใช้เงินลงทุนรวม 1,214 ล้านบาท ในการถือหุ้นใหญ่ 70% และ 100% เพื่อถือสิทธิการทำเหมืองถ่านหินประเภท IUPคุณภาพดี เหมืองแรกมีปริมาณสำรองถ่านหินจำนวน 4.7 ล้านตัน คาดปริมาณการผลิต 2 ล้านตันต่อปี เริ่มผลิตในปี 2562 และเหมืองแห่งที่ 2 มีปริมาณสำรอง จำนวน 77.4 ล้านตัน คาดจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 2565
“การซื้อเหมืองที่อินโดฯ เพิ่มขึ้น เป็นการช่วยเสริมกลยุทธ์การขายถ่านหิน และยังสามารถผสมผสานสร้างมูลค่าเพิ่มใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของเหมืองถ่านหิน Trubaindo และ Bharinto ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน”
ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้า ได้ใช้บริษัท บ้านปูเพาเวอร์ (BPP) เป็นแกนนำ ลงทุนโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานถ่านหินและพลังงานทดแทน ซึ่งมีการขยายไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่เวียดนาม กำลังการผลิตรวม 80 เมกะวัตต์ แบ่งการพัฒนา 3 ระยะคือ 30 MW 30 MW และ 20 MW คาดว่าโครงการในระยะที่ 1 จะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์(COD)ได้ภายในปี 2563 และ อีก 2 โครงการคาดว่าจะ COD ภายในปี 2564
นอกจากนี้ยังลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นาริไอสึ ประเทศญี่ปุ่น มีกำลังการผลิตรวม 20.46 เมกะวัตต์ (15.35 เมกะวัตต์ตามสัดส่วนลงทุน) สัญญาขายไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 20 ปี เข้ามาเสริมจากที่มีอยู่แล้วทั้งสิ้น 13 โครงการกำลังการผลิตรวม 358.76 เมกะวัตต์ ( 233.57 เมกะวัตต์ตามสัดส่วนการลงทุน) เปิด COD แล้ว 58.86 เมกะวัตต์ ( 37.42 เมกะวัตต์ตามสัดส่วนการลงทุน)
BPP ยังคงมองหาโครงการที่ดี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนกลยุทธ์กำลังการผลิต 4,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 แบ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนสัดส่วน 20% เน้นตลาดที่มีการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าและมีนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาล
การขับเคลื่อนธุรกิจของบ้านปูครั้งนี้ เป็นการลงทุนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำถึงปลายน้ำ สร้างพอร์ตลงทุนที่มีคุณภาพยอดเยี่ยม จังหวะเหมาะกับราคาถ่านหินตีกลับเร็ว ส่งผลให้กำไรเติบโตก้าวกระโดด จากปี 2559 พลิกมามีกำไรกว่า 1,677 ล้านบาท ปี 2560 กำไรพุ่งพรวดถึง 7,900 ล้านบาท ส่วนปี 2561 ช่วง 9 เดือนมีกำไรรวม 5,207 ล้านบาท แม้ว่าในไตรมาส 1 เกิดผลขาดทุน 1,262 ล้านบาทก็ตาม เพราะถึงเวลาต้องจ่ายค่าเสียหายคดีฟ้องร้องมากกว่า 2,700 ล้านบาท แต่บริษัทยังคงจ่ายเงินปันผลกลางปีเท่ากับปีก่อน หุ้นละ 0.35 บาท สะท้อนถึงความมั่นใจในการสร้างกำไรของผู้บริหารและคณะกรรมการของบริษัท โมเดลธุรกิจที่มีการต่อยอดอย่างไม่หยุดนิ่ง ทำให้ผู้ถือหุ้นมีโอกาสลุ้นว่าราคาหุ้นจะเทิร์นอะราวด์ ตีมาร์เก็ตแคปขึ้นไปแตะ 1 แสนล้านบาทเหมือนที่ผ่านมาอีกครั้งหนึ่ง…