หุ้นแบงก์กลับมาคึกคัก กระแสเลื่อนใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ บล.ทิสโก้มองมูลค่า BBL ถูกน่าสนใจ แต่ขาดปัจจัยบวก ส่วน KTB ต้องรอเวลาสร้างฐานอีกระยะหนึ่ง
ตลาดหุ้นเช้าวันนี้ นักลงทุนหันมาสนใจหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้ราคาหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ปรับตัวขึ้น อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) บวก 1.50 บาทซื้อขายที่ 134 บาท ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) บวก 1.50 บาท เคลื่อนไหวบริเวณ 194 บาท และธนาคารกรุงเทพ(BBL) บวก 1.50 บาท ซื้อขายที่ 190.50 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มพลังงานเริ่มมีการขายทำกำไรออกมาหลังจากราคาปรับตัวขึ้นมามาก โดยเฉพาะครอบครัว ปตท. นำโดย PTTEP รูดลงแรง 5 บาท หรือ 3.64%ซื้อขายที่ 132.50 บาท PTT ติดลบ 1 บาท ซื้อขายที่ 55.75 บาท
สาเหตุหลักที่ทำให้หุ้นธนาคารพาณิชย์คึกคัก เนื่องจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ยื่นข้อเสนอมาให้เลื่อนใช้มาตรฐานบัญชีใหม่หรือ IFRS9 ทั้งระบบออกไปเป็นปี 2565 ขณะที่คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) รับลูก กกบ. จะนัดประชุมใหญ่เดือน พ.ค.นี้ ก่อนสรุปว่าจะเลื่อนหรือไม่ หากเลื่อนการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ออกไป จะช่วยลดภาระการตั้งสำรองจำนวนมากของสถาบันการเงินทั้งระบบ
บล.ทิสโก้ออกบทวิเคราะห์ แนะนำ”ซื้อ”หุ้นธนาคารกรุงเทพ(BBL)มูลค่าเหมาะสม 214 บาท ส่วนธนาคารกรุงไทย(KTB) แนะนำให้ “ถือ” มีมูลค่าที่เหมาะสม 18 บาท
ปัจจุบันมูลค่าของ BBLน่าสนใจ ราคาที่ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยมีสัดส่วนราคาต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี( PBV )ที่ 0.9 เท่า และสัดส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น(P/E)ที่ 11 เท่า แต่ขาดปัจจัยบวก
ธนาคารคาดว่าในปีนี้สินเชื่อโต 5-6% แม้ว่าจะชะลอตัวลง -1.3% ในไตรมาส 1 ก็ตาม แต่ BBL ยังเชื่อว่าเป้าการเติบโตยังเป็นไปได้ จากการส่งออกและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นปัจจัยหนุน ขณะที่คุณภาพสินเชื่อดีขึ้น ไตรมาสแรกได้ตั้งสำรอง 2 หมื่นล้านบาท คาดว่าการตั้งสำรองจะลดลงในช่วงที่เหลือของปี BBL ไม่มีการตัดจำหน่ายหนี้สูญ และการขายหนี้เสีย
ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียม BBL คาดว่าผลกระทบจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 3-4% ของรายได้ค่าธรรมเนียม เราคาดว่าการเติบโตของค่าธรรมเนียมน่าจะอยู่ในช่วง 5% และรักษาอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ในระดับ 40% ได้ ในขณะที่คู่แข่งเริ่มการลดสาขาลง แต่ BBL ยังคงขยายสาขาเพิ่มต่อในปี 2018 (แม้ว่าจะในอัตราที่ลดลงก็ตาม)
” BBL เริ่มมีอัพไซด์เพิ่มขึ้นหลังจากที่ราคาลดลงในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่เพิ่มขึ้น และสงครามการค้าในไตรมาส 2 เราคาดว่ากลุ่มธนาคารและ BBL ไม่น่ามีการปรับตัวที่ดีกว่าตลาดในระยะสั้น”บล.ทิสโก้ระบุ
สำหรับ KTB กำลังปรับทิศทาง เริ่มการวางรากฐานใหม่ ธนาคารมีแผนที่จะเติบโตในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ KTB มีแผนที่จะขยายสินเชื่อไปยังเอสเอ็มอีขนาดกลาง ในขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มโรงสี เรามองว่า หาก KTB ยังมีนโยบายสินเชื่อที่เข้มงวดจะทำให้ส่วนแบ่งในตลาดลดลง โดยคุณภาพสินเชื่อและต้นทุนดีขึ้น
ด้านผลกระทบจากค่าธรรมเนียมคาดไม่เกิน 1,000 ล้านบาทในปีนี้ ซึ่ง KTB คาดว่าจะต้องใช้เวลา เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัด ส่วนค่าใช้จ่ายตั้งเป้าบุคคลากรลดลงภายใน 5 ปี โดยตั้งงบลงทุนด้านไอทีไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาทในช่วง 2 ปี จะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของสาขามากกว่าการปิดสาขา ทำให้การประหยัดต้นทุนของ KTB เห็นผลน้อยกว่า SCB, KBANK และ BAY