ตลาดหลักทรัพย์ฯ วางกลยุทธ์ 3 ปี สร้างแพลตฟอร์มตลาดทุนครบวงจรของประเทศสำเร็จ เพิ่มโอกาสลงทุนในยุคดิจิทัล หยุดตั้งเป้าหมายระยะสั้น ยันมาร์เก็ตแคป 30 ล้านล้านบาทปี 2566 ผงาดเท่าสิงคโปร์ ส่วน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯฉบับใหม่ จะมีผลในปีนี้ เพิ่มคู่แข่ง มีสินค้าที่หลากหลาย ขยายฐานผู้ลงทุน
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แถลงว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯได้วางกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2562-2564) เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาด้วยบทบาทการเป็นแพลตฟอร์มตลาดทุนของประเทศ หวังใช้เป็นกลไกช่วยลดต้นทุนและขยายโอกาสทางธุรกิจของตลาดทุนทั้งระบบ ทำให้เติบโตอย่างยั่งยืนเป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม โดยนำกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์จะดำเนินการภายใต้ 4 กลยุทธ์ได้แก่ 1.การขยายขอบเขตการทำธุรกิจ เพื่อขยายฐานนักลงทุน 2.แสวงหาโอกาสใหม่ๆ ด้วยเทคโนโลยี โดยการสร้างแพลตฟอร์มแบบเปิดที่ครบวงจร ทำให้ต่อยอดระบบเข้าถึงกองทุนรวม ให้สามารถซื้อขายกองทุนข้ามประเทศได้ และเตรียมสร้างตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นโทเคนดิจิทัล
3.ลดความซ้ำซ้อนของกระบวนการและกฎเกณฑ์ โดยนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ จะช่วยลดขั้นตอนการทำงาน และลดอุปสรรคการดำเนินธุรกิจได้ และ 4.การปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
นายภากร กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯยกเลิกการตั้งเป้าหมายระยะสั้น เกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมหรือมาร์เก็ตแคป จำนวนบริษัทที่จะเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (ไอพีโอ) เนื่องจากมีความคลาดเคลื่อนสูงตามภาวะตลาดที่ผันผวนค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามยังคงเป้าหมายมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นไทยแตะ 30 ล้านล้านบาทในปี 2566 จากปัจจุบันอยู่ที่ 16.78 ล้านล้านบาท และตั้งเป้ามูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 9.5 หมื่นล้านบาท และจำนวนนักลงทุนเพิ่มขึ้นปีละ 1 แสนรายซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นไทยใหญ่ขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับตลาดหุ้นสิงคโปร์
ปัจจุบันนี้ตลาดหุ้นไทยมีการเติบโต และแข็งแกร่งจะเห็นได้จากการเป็นตลาดหุ้นที่มีสภาพคล่องสูงสุดในอาเซียน รวมถึงมีบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ของไทย ถูกนำเข้าคำนวณใน MSCI จำนวนถึง 35 บริษัท และอยู่ในดัชนีดาวโจนส์ยั่งยืน(DJSI) จำนวน 19 บริษัท สูงที่สุดในอาเซียน
“หุ้นไอพีโอ ที่เข้ามาซื้อขายแล้วราคาต่ำกว่าจอง มาจาก sentiment ของนักลงทุนรายย่อยที่ชะลอการซื้อขาย ไม่ใช่แต่หุ้น IPO แต่ตลาดหุ้นโดยรวมนักลงทุนรายย่อยก็ชะลอการซื้อขาย และเมื่อดูจากข้อมูลของที่ปรึกษาทางการเงิน จะเห็นได้ว่ายังมีลูกค้าไอพีโออีกเยอะมาก ไม่ใช่แค่หุ้นขนาดเล็กเท่านั้น หุ้นขนาดใหญ่ก็ยังมี เชื่อว่าหุ้น ไอพีโอ จะกลับมาดีขึ้นได้”นายภากร กล่าว
สำหรับพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฉบับใหม่ มีโอกาสประกาศใช้ในปีนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ถือว่าหนึ่งในปัจจัยที่ท้าทายของตลาดทุน หากประกาศใช้จะทำให้มีตลาดหลักทรัพย์แห่งใหม่ ไม่จำเป็นต้องมีเพียงแห่งเดียว มีการแข่งขัน โครงสร้างการกำกับดูแลใหม่ รวมถึงจะมีสินค้าเพิ่มขึ้น และช่วยขยายฐานผู้ลงทุน
นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลท. กล่าวว่า จะมีการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ในส่วนของบริษัทจดทะเบียน ในรูปแบบของ one-stop-services นับตั้งแต่บริษัทมีแผนจะเข้าตลาด และยื่นคำขอเข้าจดทะเบียน เมื่อเข้ามาซื้อขายแล้ว มีข้อมูลแจ้งตลาดหลักทรัพย์ ก็สามารถเปิดเผยข้อมูล ผ่านระบบแพลตฟอร์มของตลาดได้
ส่วนการดึงบริษัทจดทะเบียนจากตลาดหุ้นต่างประเทศเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นไทย นายแมนพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีบริษัทจากตลาดหุ้นประเทศเพื่อนบ้าน แสดงความสนใจจะเข้ามาจดทะเบียน แต่จะต้องมีการพัฒนากฎระเบียบบางประการที่แตกต่างกันให้สอดคล้องกันได้
ดร.รินใจ ชาครพิพัฒน์ รองผ้จัดการหัวหน้าสายงานการตลาด และกรรมการผู้จัดการ บริษท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า(ประเทศไทย) กล่าวว่า มีแผนที่จะขยายฐานผู้ลงทุนไปยังจังหวัดเมืองรอง เพื่อเป็นการขยายฐานนักลงทุน โดยตลาดหลักทรัพย์ต้องการที่จะมีกลุ่มนักลงทุนที่หลากหลาย