ฟิทช์คงเครดิตปตท.

ฟิทช์คงอันดับเครดิต ปตท. แนวโน้มมีเสถียรภาพ ระบุสถานะการเงินแข็งแกร่ง แนวโน้มการลงทุนเพิ่มขึ้น หวั่นถ้าเสียสัมปทานแหล่งบงกช กระทบธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างมีนัยสำคัญ

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศของบริษัท ปตท. (PTT) ที่ระดับ ‘BBB+’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ระดับ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

การคงอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะเครดิตโดยลำพังของปตท. ที่ระดับ ‘BBB+’ ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของประเทศไทย สถานะเครดิตโดยลำพัง สะท้อนถึงความเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครบวงจร รวมถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ แม้ว่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมยังคงเผชิญกับความท้าทายอยู่ อัตราส่วนหนี้สิน ณ ปัจจุบันของบริษัทฯ ที่ต่ำ น่าจะช่วยรองรับการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากการแก้ปัญหาเรื่องปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยไม่ทำให้อัตราส่วนหนี้สินสูงขึ้นจนกระทบอันดับเครดิต

อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าสถานะของปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของบริษัทฯ น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตในกลุ่ม ‘BBB’ แม้ว่าบริษัทฯ จะมีปริมาณทรัพยากรอยู่เป็นจำนวนมากที่สามารถเปลี่ยนมาเป็นปริมาณสำรองได้ในอนาคตด้วยการลงทุนที่เพียงพอ แต่สถานะของปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วจากแหล่งที่มีอยู่ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้ในระยะเวลา2ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตามแผนการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนเพิ่มในโครงการบงกชจะช่วยเพิ่มยอดขายและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัทฯ ในปี 2561-2562

ปตท. เผชิญกับความเสี่ยงจากการที่สัมปทานแหล่งบงกชจะหมดอายุในปี 2565-2566 ถ้าเสียการถือครองแหล่งนี้ไป น่าจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัทฯ ทำให้ปริมาณสำรองฯของบริษัทอ่อนแอลงไปได้อีก โดยในปี 2560 บริษัทมีปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชคิดเป็น 24% ของการผลิตทั้งหมด

ขณะเดียวกันปตท. มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำที่สามารถรองรับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นได้ โดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียนลดลงมาอยู่ที่ 0.8 เท่าในปี 2560 จาก 1.1 เท่าในปี 2559 ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวน่าจะคงอยู่ที่ระดับนี้ในปี 2561-2562

ส่วนการลงทุนที่สูงในระยะปานกลาง ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายน่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีกในปี 2561 จากปีก่อนใช้เงินลงทุน 1.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.1 แสนล้านบาทในปี 2559

ทั้งนี้ ฟิทช์ใช้สมมุติฐานที่สำคัญ ในการประมาณการ เช่น ราคาน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ที่ 57.5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรท ปริมาณการขายของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นในปี 2561-2562 และลดลงหลังจากนั้น
ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้นในปี 2561-2562 จากปี 2560 มีการลงทุนทั้งสิน 1.43 แสนล้านบาท ส่วนการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนในโครงการบงกชมูลค่า 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2561 แต่ไม่รวมการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการอื่นๆ