ICO-Startup-Shutdown

นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

“นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” นักลงทุนวีไอ รุ่นเซียน ให้มุมมอง ICO -Startup – Shutdown เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับเงินดิจิตอล

การเปิดซื้อขาย Jfin Coin ซึ่งน่าจะเป็นเงินดิจิตอลแรกของไทยที่ “เป็นเรื่องเป็นราว” เมื่อสัปดาห์ก่อนนั้นดูเหมือนว่าจะ “น่าผิดหวัง” ราคาซื้อขายในวันแรกตกลงมาจากราคา ICO ถึงครึ่งหนึ่งและปิดที่ประมาณลบ 40% ทั้ง ๆ ที่ในช่วงออกขายครั้งแรกนั้นหลายคนแอบคาดหวังว่ามันอาจจะปรับตัวขึ้นมากคล้าย ๆ กับเงินดิจิตอลอื่น ๆ เช่นบิทคอยหรืออีเธอเรียม อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ภาครัฐ “ไม่สนับสนุน” การระดมเงินแบบนี้เนื่องจากเห็นถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นหากปล่อยให้มีการระดมเงินและซื้อขาย “เหรียญ” แบบนี้ได้อย่างเสรี ผลก็คือ “แรงเก็งกำไร” ที่คนคาดว่าจะมีก็หายไปจนหมดสิ้นในขณะเดียวกันเรื่อง “พื้นฐาน” ของเหรียญนั้น แทบจะไม่มีอยู่แล้ว เพราะเหรียญไม่ได้ให้ผลตอบแทนเป็นเงินแก่ผู้ที่ถือ มันแค่เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ราคาขึ้นอยู่กับ Demand-Supply ของคนที่ต้องการซื้อและขาย

ดังนั้น ราคาก็สะท้อนออกมาว่าในช่วงนี้คนยังไม่เห็นว่าใครจะต้องการเหรียญ เราคงต้องรอต่อไปว่าเงินที่ระดมไปใช้นั้นสุดท้ายแล้วสามารถสร้างประโยชน์แก่คนถือเหรียญได้จริง ๆ หรือไม่ อย่างไรก็ตาม นี่ก็ไม่ใช่การ “จบเกม” หรือการ “Shutdown” ปิดตำนานของการทำธุรกิจแบบ “Startup” ของคนที่ทำหรือของไทย แต่นี่ก็เป็นเครื่องเตือนให้เรารู้ว่า การลงทุนในธุรกิจ Startup นั้น มีความเสี่ยงแค่ไหน

ความเสี่ยงของธุรกิจ Startup นั้น ผมคิดว่ามันสูงมากจนไม่เหมาะกับคนทั่วไป มันควรเป็นเรื่องของ “เซียน” ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งจริง นอกจากนั้น การลงทุนในสตาร์ทอัพแต่ละรายก็ควรเป็นเงินเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับเงินลงทุนทั้งหมดในพอร์ตซึ่งทำให้ถ้าขาดทุนและเงินสูญไปทั้งหมดก็ไม่เกิดความเสียหาย คนที่จะลงทุนในสตาร์ทอัพเป็นเรื่องเป็นราวเองนั้นก็ควรที่จะมีการกระจายความเสี่ยงอย่างกว้างขวางคือลงทุนในสตาร์ทอัพหลาย ๆ ตัวในอัตราที่แต่ละตัวไม่ใหญ่เกินไปเมื่อเทียบกับพอร์ตของการลงทุนในสตาร์ทอัพทั้งหมด และแม้ว่าจะเป็น “เซียน” ผ่านการลงทุนที่ประสบความสำเร็จไม่น้อยก็จะต้องจำไว้ว่า เมื่อลงทุนในสตาร์ทอัพแล้ว ก็จะต้องเตรียมพร้อมหรือทำใจไว้เสมอว่ามันอาจจะถูก “Shutdown” หรือถูกปิดได้เสมอแม้ว่ามันอาจดูเหมือนว่าจะประสบความสำเร็จอย่างงดงามในช่วงต้น

ก่อนที่จะคิดลงทุนใน startup นั้น ผมคิดว่าเราควรที่จะศึกษากรณีของบริษัท Theranos “สุดยอด” ของสตาร์ทอัพของอเมริกาในช่วงสิบกว่าปีก่อนที่กำลังถูก Shutdown หรือปิดตัวลง เพราะกรณีของ Theranos นั้น มันครอบคลุมทุกมิติของเรื่องของสตาร์ทอัพ อ่านจบแล้วบางทีมันอาจจะเปลี่ยนมุมมองต่อกรณีของสตาร์ทอัพได้อย่างสิ้นเชิงเลยก็ได้ หรือไม่อย่างนั้นอย่างน้อยมันก็อาจจะช่วยให้เราคิดอย่างรอบคอบขึ้นก่อนที่จะลงทุน

ธีรานอสเป็นบริษัทที่ก่อตั้งในปี 2004 และบริหารโดย Elizabeth Holmes อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัย Stanford ที่ลาออกในปีสองเพื่อที่จะสร้างสตาร์ทอัพที่จะผลิตเครื่องตรวจเลือดแบบง่าย ๆ ราคาถูกที่คนใช้อาจจะแค่เจาะเลือดที่ปลายนิ้วแล้วก็สามารถตรวจสอบได้หลายอย่างซึ่งรวมถึงสัญญาณของมะเร็งบางอย่าง ค่าคลอเรสเตอรอล และระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น

โฮล์มมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการทำสตาร์ทอัพร้อยเปอร์เซ็นต์ เธอเป็นเด็กที่ฉลาดเฉลียวมาก ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ เธอบอกกับพ่อว่าสิ่งที่เธอต้องการในชีวิตก็คือการค้นพบอะไรใหม่ ๆ และเป็นสิ่งที่มนุษยชาติไม่รู้ว่าจะทำได้ ในช่วงวัยเด็ก โฮล์มเรียนเก่งมาก และได้รางวัลและทุนทำวิจัยจากมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะการทำงานกับศาสตราจารย์ในด้านของการตรวจและวินิจฉัยเลือดและนั่นนำมาสู่การตั้งบริษัทใน “หอพักนักศึกษา” และเช่าเครื่องมือทำแล็บพร้อมพนักงานคนแรกด้วยเงินเก็บจากทุนทำงานวิจัยของมหาวิทยาลัย เวลานั้นโฮล์มอายุแค่ 19 ปี พอ ๆ กับสตีฟจ็อบตอนที่ก่อตั้งแอ็บเปิลคอมพิวเตอร์ที่เป็น “ไอดอล” ของเธอ

ในช่วงปลายปี 2004 ธีรานอสก็สามารถระดมทุนได้ 6 ล้านเหรียญหรือประมาณเกือบ 200 ล้านบาทไทย พอถึงปี 2010 เธอก็ระดมทุนได้ถึง 92 ล้านเหรียญหรือเกือบ 3 พันล้านบาทจากเวนเจอร์แค็บปิตอลที่อาจจะเริ่มเห็นว่าโครงการนี้ถ้าประสบความสำเร็จก็จะมีรายได้และกำไรมหาศาล ปีต่อมาเธอสามารถเชิญอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐคือ George Shultz เข้าเป็นกรรมการของบริษัทหลังจากพบกันแค่ 2 ชั่วโมง ซึ่งทำให้เป็นที่ยอมรับนับถือกันทั่วไปว่าเธอเป็นคนที่สามารถก่อตั้งคณะกรรมการที่โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกา อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานทุกอย่างของบริษัทถูกปิดเป็นความลับสุดยอด บริษัทไม่เคยแถลงข่าวและไม่มีเวบไซ้ต์ของตนเองจนกระทั่งถึงปี 2013 ที่บริษัทประกาศเป็นพันธมิตรกับเครือข่ายร้านขายยาและอาหารเพื่อสุขภาพวอลกรีนที่จะเปิดศูนย์รวบรวมตัวอย่างเลือด

ความสนใจของสื่อเริ่มมีมากขึ้นมากในปี 2014 เมื่อเธอขึ้นปกนิตยสารฟอร์จูน และ ฟอร์บ ซึ่งมองว่าเธอคือ “สตีฟ จอบส์ คนต่อไป” ฟอร์บบอกว่าโฮล์มเป็นเศรษฐีนีพันล้านเหรียญที่สร้างด้วยตนเองที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก และจัดอันดับเธออยู่ในอันดับที่ 110 จากมหาเศรษฐี 400 อันดับแรก ธีรานอสถูกประเมินว่ามีมูลค่า 9 พันล้านเหรียญหรือประมาณ 280,000 ล้านบาทไทย โดยที่ได้เงินจากเวนเจอร์แค็บปิตอลมากกว่า 400 ล้านเหรียญหรือประมาณ 12,500 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีนักลงทุนชื่อดังอย่างLarry Ellison ผู้ก่อตั้ง oracle ถือหุ้นด้วย ถึงสิ้นปีนี้ โฮล์มก็มีสิทธิบัตรที่จดไว้ในชื่อของตนเอง 18 แห่งในอเมริกาและอีก 66 แห่งในต่างประเทศ โฮล์มเองนั้นเริ่มทำตัวคล้ายสตีฟจ็อบส์มากขึ้นทุกที เธอไม่เปิดเผยว่าเทคโนโลยีของธีรานอสทำงานอย่างไร และเธอจะเป็นคนตัดสินใจทุกเรื่องเกี่ยวกับบริษัทแบบเดียวกับสตีฟจ็อบส์ แม้แต่เสื้อผ้า เธอก็ใส่แต่เสื้อยืดคอกลมสีดำแบบเดียวกัน เฟอร์นิเจอร์และเครื่องตกแต่งสำนักงานต่าง ๆ ก็ใช้แบบเดียวกัน นอกจากนั้นเธอก็ไม่เคยลาพักร้อนแบบสตีฟจ็อบส์ ในช่วงนี้ดูเหมือนเธอจะดังสุด ๆ เธอได้รับเชิญให้พูดในงานเทคโนโลยีสำคัญบนเวทีเดียวกับบิลคลินตันและแจ็คหม่าด้วย

ในเดือนตุลาคม 2015 วอลสตรีทเจอร์นอลเริ่มรายงานว่าเครื่องตรวจสอบเลือดของธีรานอสให้ผลที่ไม่ตรง ถึงมกราคม 2016 ศูนย์กลางทางด้านการดูแลสุขภาพของรัฐเริ่มส่งคำเตือนมายังบริษัทหลังจากตรวจสอบแล็บบางแห่งของบริษัทและเสนอห้ามไม่ให้โฮล์มให้บริการการตรวจเลือดเป็นเวลา 2 ปีเมื่อโฮล์มไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ หลังจากนั้นวอลกรีนก็ประกาศเลิกสัญญาทำศูนย์ตรวจเลือดกับบริษัท หน่วยงาน FDA หรือ อ.ย. ของอเมริกาก็เริ่มเข้ามาสั่งให้บริษัทยกเลิกอุปกรณ์บางอย่างที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ต้องพูดถึงการวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อของคนที่ “ขุดคุ้ย” ความไม่ชอบมาพากลของธีรานอส และ “ตะปู” ตัวสุดท้ายที่น่าจะ “ปิดฝาโลง” ธีรานอสก็คือ การเข้ามากล่าวโทษของกลต. ในเดือนมีนาคม 2018 ว่าบริษัท “หลอกลวง” ประชาชน แน่นอน โฮล์มปฏิเสธข้อกล่าวหาทุกเรื่องและพยายามเรียกร้องให้สังคมเชื่อมั่นในตัวเธอและเรียกร้องให้นักลงทุนสนับสนุนทางการเงินให้แก่บริษัทต่อไป เธอบอกว่าอุปสรรคจะต้องเกิดขึ้นเป็นปกติแต่ในที่สุดแล้วถ้าสู้ต่อ เราก็จะเปลี่ยนโลกได้ ถึงวันนี้โฮล์มก็ยังเป็น CEO ของบริษัทได้เนื่องจากมันเป็นบริษัทเอกชน อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าทุกอย่างน่าจะ “ล่มสลาย” แล้วเพราะน่าจะยากที่จะมีใครใส่เงินเพิ่มให้บริษัทอีก

ธีรานอสนั้นเริ่มจากคนและโครงการที่ทุกอย่างดูสมบูรณ์แบบไปหมด ดังนั้นมันก็สามารถดำเนินการมาได้และประสบความสำเร็จในแง่ของมูลค่าหุ้นของกิจการอย่างมโหฬารในระยะเวลากว่า 10 ปี แต่แล้วทุกอย่างก็ล่มสลายลงอย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้น ถ้าเราลงทุนในสตาร์ทอัพที่ยังไม่มีอะไรเลยที่แน่ชัดนอกจาก “สตอรี่” มันจะยากแค่ไหน? ผมเองไม่ได้ต้องการที่จะ Discourage หรือทำให้คนที่ทำหรือลงทุนในสตาร์ทอัพเสียกำลังใจ ผมเองชื่นชมคนที่อยู่ในแวดวงนี้และนับถือในความกล้าหาญและเสียสละและก็ภาวนาให้ทำได้สำเร็จ สิ่งเดียวที่ผมกังวลที่สุดก็คงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับธีรานอสนั่นก็คือ “อย่าหลอกลวง” ถ้าธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ล้มเหลวเรายอมรับได้ แต่ถ้ามีการโกงหรือหลอกลวงเรารับไม่ได้