ยาก! คุมราคายา ขัดกฎหมายสถานพยาบาล รอรัฐบาลใหม่

นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนนำทีมชี้แจงกรณีคุมราคายา และเวชภัณฑ์ ของกฎหมายกระทรวงพาณิชย์ ขัดกับกฎหมายสถานพยาบาลที่กำกับดูแลโรงพยาบาลเอกชนอยู่ คาดรัฐบาลนี้ไม่รีบตัดสินใจ เผยรัฐจัดสวัสดิการให้กับคนไทย 100% ทุกคนมีสิทธิรักษาฟรี ไม่มีทางล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล หากถูกคุมจริง คาดโรงพยาบาลเอกชนอยู่ไม่ได้ จะไม่มีการลงทุนด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม ศักยภาพการแข่งขันด้อยลง

นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเแถลงข่าว กรณีกกร.มีมติที่จะคุมราคายาและเวชภัณฑ์ว่า ในการประชุมร่วมกับภาครัฐ เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้ให้ข้อมูลว่าการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สถานพยาบาล และประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2541 และเพิ่งมีการปรับปรุงในปี 2561 ซึ่งมีการกำหนดนิยามความหมายของ ยาและค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนั้นค่ายาจึงมีองค์ประกอบหลายอย่าง แตกต่างจากโรงพยาบาลของรัฐ ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนหลายรายการ มีพ.ร.บ.เงินเดือนมาดูแลบุคคลากร เช่น แพทย์ พยาบาล รวมถึงการลงทุนยังมีการจัดงบประมาณไว้ให้ด้วย ค่าบริการไม่มีค่าน้ำ ค่าไฟ คาดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ประมาณ 50-60% ทำให้ใบเสร็จที่คิดค่ารักษาพยาบาลจึงต่ำกว่า ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการซื้อยาได้ในราคาที่ต่ำกว่าโรงพยาบาลเอกชนด้วย

นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า หากรัฐต้องการดูแลธุรกิจโรงพยาบาลทั้งระบบ ควรจะมีการเปิดเผยข้อมูลใบเสร็จของโรงพยาบาลของรัฐ แจงค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าแรง และค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐอุดหนุน ซึ่งไม่เป็นธรรมและไม่สมควรอย่างยิ่งในการนำภาษีของประชาชนไปอุดหนุนโรงพยาบาลของรัฐ ขณะที่มีนายหน้า พาผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านมาต่อคิวรับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทำให้คนไทยเสียโอกาส ซึ่งจะต้องรีบแก้ไขปัญหานี้

สำหรับผลกระทบ หากรัฐเข้าควบคุมราคายา ค่าเวชภัณฑ์ ก็อาจจะทำให้โรงพยาบาลอยู่ไม่ได้ ทำให้การลงทุนจำนวนมากที่ผ่านมา สูญเปล่า และยังไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ และสร้าง New S curve ซึ่งธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนนำเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศ และเสียภาษีจำนวนมาก เนื่องจากผู้ป่วยต่างประเทศเข้ามาใช้บริการมากถึง 4.23 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยนอก สัดส่วน 95.6% และผู้ป่วยใน 4.4% เต็มใจจ่ายจากการได้รับบริการที่มีคุณภาพสูง และได้รับการยอมรับแซงหน้าสิงคโปร์ และมาเลเซียแล้ว

“การตั้งราคา มีการแจ้งล่วงหน้า มีการติดประกาศไว้ สามารถสอบถามค่ารักษาพยาบาลได้ ที่ผ่านมาโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนรายงานว่า ชาวต่างชาติสัดส่วน 46.4% ให้เหตุผลว่าค่ารักษาพยาบาลไม่แพง ส่วน 37.54% บุคคลากรทางการแพทย์เป็นมิตรกับผู้ป่วย 34.6% ความสามารถของแพทย์ไทย 27.4% แพทย์ไทยมีความเชี่ยวชาญหลายด้านและ 24.5% มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย หากมีการควบคุมค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน ทำให้ไม่มีการลงทุนในด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ ส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขันของไทยลดลง” นพ. พงษ์พัฒน์กล่าว

ในปี 25559 การดำเนินงานของโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจไทยสูงถึง 99,427 ล้านบาท มาจากรายรับจากการดำเนินกิจการจำนวน 234,327 ล้านบาท หักด้วยค่าใช้จ่ายขั้นกลางในการดำเนินงาน 134,900 ล้านบาท

นพ. พงษ์พัฒน์กล่าวกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียว ที่มีรัฐสวัสดิการดูแลการรักษาพยาบาลให้กับคนไทย 100% ทุกคนมีโรงพยาบาลต้นสังกัด แบ่งเป็น 5 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ 2.สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิ 30 บาทหรือสิทธิบัตรทอง 3.สิทธิประกันสังคม 4. สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น และสิทธิหน่วยงานรัฐอื่นๆ เช่น บริษัทการบินไทย กฟผ. ซึ่งระบบหลักประกันสุขถ้วนหน้ามีมากถึง 48 ล้านคน โดยมีโรงพยาบาลเอกชนร่วมรับดูแลผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ ระบบประกันสังคมและ ในภาวะฉุกเฉินวิกฤต ที่มีกฎหมาย เรียกว่า UCEP สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใกล้ที่สุดได้ ภายในไม่เกิน 72 ชั่วโมง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หากรักษาไม่ได้มีการส่งผ่านไปโรงพยาบาลที่มีแพทย์ที่เชี่ยวชาญและมีอุปกรณ์พร้อมดูแล ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่คนไทยจะล้มละลายจากการรักษาพยาบาล เพราะโรงพยาบาลเอกชนจัดเป็นเพียงโรงพยาบาลทางเลือก

นพ. เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH)ในการประชุมร่วมกับภาครัฐ ทางการเพิ่งทราบว่าโรงพยาบาลเอกชนมีกฎหมายเฉพาะ ซึ่งในนั้นจะกำหนดกรอบการตั้งราคายา และบริการ ซึ่งโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะกำหนดขึ้นมาเองไม่ได้ จะต้องตั้งราคาภายในกรอบที่กำหนด รวมถึงการกำหนดค่าแพทย์ โดยแพทยสภา นอกจากนี้การกำหนดค่าบริการยังพิจารณาถึงต้นทุนและการแข่งขัน เพราะธุรกิจโรงพยาบาลเป็นตลาดที่มีการแข่งขันเสรี ส่วนราคายาที่คิดจากลูกค้า ยังมีองค์ประกอบอื่นๆด้วย เช่นประวัติของผู้ป่วยว่ามีการแพ้ยาหรือไม่ เพราะแพทย์เป็นผู้สั่งยา มีส่วนในการรับผิดชอบด้วย นอกจากเจ้าของและผู้อำนวยการโรงพยาบาล

” หวังว่าภาครัฐจะต้องคิดให้ดีก่อนที่จะควบคุมราคายาและเวชภัณฑ์ ที่ผ่านมา โรงพยาบาลมีผู้เล่นรายใหม่ในธุรกิจนี้ และมีการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เกือบ 20 แห่ง โดยมีอัตรากำไรสุทธิ 12% ถือว่าไม่มาก และงบการเงินของโรงพยาบาลเอกชนยังมีค่าใช้จ่าย ในเรื่องของค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ซึ่งไม่รวมถึงการใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีในการขออนุญาต เช่น ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม กว่าจะเปิดให้บริการได้ และที่ดินที่จัดตั้งโรงพยาบาลมีราคาสูงมาก ยังไม่รวมเรื่องการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี และส่งบุคคลากรออกไปอบรมต่างประเทศ “นพ. เฉลิม

แหล่งข่าวจากโรงพยาบาลเอกชน คาดว่า การควบคุมราคายาและค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชน ยังต้องใช้เวลาพิจารณาอีกนาน ส่วนหนึ่งเนื่องจากกฎหมายขัดแย้งกันอยู่ และเรื่องใหญ่ขนาดนี้ ในช่วงเวลาใกล้เลือกตั้ง รัฐบาลคงไม่ตัดสินใจ คงต้องรอรัฐบาลชุดใหม่มาสานต่อปัญหา

“ความไม่แน่นอนในเรื่องนี้ จะกดดันราคาหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลต่อไป แม้ไม่มาก แต่ก็ยังไม่แนะนำให้เข้ามาลงทุน เพราะมีโอกาสลดลงได้อีก “แหล่งข่าวกล่าว

วันที่ 14 ม.ค. 2562 หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลปรับตัวขึ้นแรง นำโดยบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ(BDMS) บวก 2.62% ปิดที่ 23.50 บาท บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์(BH) เพิ่มขึ้น 2.25% ปิดที่ 182 บาท สวนทางตลาดหุ้นติดลบ 14.47 จุดหรือเกือบ 1%หลังจากนักลงทุนหายตื่นตระหนกเรื่องยาและเวชภัณฑ์ถูกรวมเข้าเป็นสินค้าควบคุมราคา และ BDMS จะได้กำไรจำนวนมากจากการขายหุ้นโรงพยาบาลรามคำแหง(RAM) ทั้งหมด ได้เงินมากกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท