ไทยออยล์คาดปี 2562 GRM ดีขึ้นตามความต้องการน้ำมัน มีแผนซ่อมบำรุงฉุดกลั่นน้ำมันน้อยกว่าปีนี้ ส่วนไตรมาส 4 ผลงานลดลงจากไตรมาส 3 ฉุดกำไร-ยอดขายทั้งปี 2561 น้อยลง ตั้งงบลงทุน 5 ปี รวม 5,160 ล้านเหรียญสหรัฐ เดินหน้าลงทุนโครงการพลังงานสะอาด เพิ่มประสิทธิภาพ
นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2562 ว่าบริษัทคาดกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) อยู่ที่ 8.90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาด 6.9 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล คาดว่าค่าการกลั่น (GRM)จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 4.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลใ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่มีการจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมันจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร
สำหรับส่วนต่าง (สเปรด) ผลิตภัณฑ์พาราไซลีน (PX) มีแนวโน้มอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากปีนี้ หลังจะมีกำลังการผลิตใหม่ในตลาดโลกทยอยเข้าระบบ แต่ความต้องการใช้ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
แนวโน้มในปีหน้า อัตราการใช้กำลังการกลั่นจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 103% จากระดับ 111-112% ในปีนี้ หลังมีแผนหยุดซ่อมบำรุงหน่วยกลั่นน้ำมันมากขึ้น ขณะที่บริษัทยังเดินหน้าแผนเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตเพื่อเพิ่มมาร์จิ้น ตั้งเป้าเพิ่มขึ้นราว 1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หรือประมาณ 3,000 ล้านบาทจากปีนี้ที่ทำได้ราว 1.25 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หรือประมาณ 4,600 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่คาดจะทำได้ 1,500 ล้านบาท หรือประมาณ 50 เซนต์สหรัฐ/บาร์เรล
ส่วนตลาดน้ำมันสำเร็จรูปน่าจะเติบโตประมาณ 1.4 ล้านบาร์เรล/วัน ประมาณ 1% นิดๆในปีหน้า ตามความต้องการน้ำมันที่เพิ่มน่าจะทำให้น้ำมันสำเร็จรูปตึงตัวขึ้น ส่วนฝั่งซัพพลายเริ่มเห็นชัดในด้านน้ำมันดิบที่โอเปกและนอนโอเปกจะลดกำลังการผลิตลง 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งจะช่วยพยุงราคาน้ำมันกลับมาได้
“ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงในช่วงนี้น่าจะเป็นเพียงระยะสั้น หลังรับผลทางจิตวิทยาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และกรณีการแยกตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรป (Brexit) แต่ปัจจัยพื้นฐาน คาดว่าราคาเฉลี่ยในปี 2562 จะอยู่ที่ 70-75 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากเฉลี่ย 69.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีนี้ แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ ต่อเนื่องเพราะมีผลต่อความต้องการใช้น้ำมันโดยรวม”นายอธิคมกล่าว
สำหรับในช่วงไตรมาส 4/2561 คาดว่า GIM จะอยู่ที่ 6.4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และ GRM อยู่ที่ 4.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจากในไตรมาส 3 ที่มี GIM อยู่ที่ 7.2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และ GRM อยู่ที่ 5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดย GRM ที่ลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลจากสเปรดของราคาน้ำมันเบนซินกับน้ำมันดิบลดลงมากในรอบนับสิบปีเหลืออยู่ราว 2-3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากระดับปกติที่มีสเปรดจะอยู่ในระดับสองหลัก เกิดจากภาวะโอเวอร์ซัพพลายตามฤดูกาลด้วย แต่ในอนาคตผลิตภัณฑ์เบนซินก็มีโอกาสที่จะถูกทดแทนด้วยรถยนต์ไฟฟ้า (EV)
นายอธิคมกล่าวว่า ภาพรวมในปี 2561 จะมียอดขายรวมประมาณ 3 แสนล้านบาท ลดลงจากระดับ 3.37 แสนล้านบาทในปี 2560 ตามราคาน้ำมันที่ลดลง ขณะที่กำไรจะปรับลดลงจาก 2.49 หมื่นล้านบาทในปีที่แล้วที่นับเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากมาร์จิ้นที่ลดลง
ทางด้านงบลงทุนในช่วง 5 ปี (ปี 2562-2566)ตั้งวงเงินรวม 5,160 ล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ 1.67 แสนล้านบาท โดยประมาณ 90% หรือราว 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐ จะใช้ในโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันเป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน จาก 2.75 แสนบาร์เรล/วันในปัจจุบัน ซึ่งจะแล้วเสร็จพร้อมดำเนินการในปี 2566 ส่วนงบลงทุนที่เหลืออีกประมาณ 400-500 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับปรุงสาธารณูปโภคหลายโครงการ เช่น ท่าเรือเพื่อให้สามารถรับเรือได้เพิ่มขึ้น สำหรับในปี 2562 คาดใช้งบลงทุน 1,370 ล้านเหรียญสหรัฐ
แหล่งเงินลงทุนจะมาจากกระแสเงินสดคงเหลือประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท และเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ออกหุ้นกู้อีก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3.2 หมื่นล้านบาท บริษัทมีสภาพคล่องประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเพียงพอรองรับการลงทุนจนถึงช่วงปี 2563 ปัจจุบันบริษัทมีภาระหนี้ 7.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหนี้หุ้นกู้สกุลบาท 32% , หนี้เงินกู้บาท 19% ส่วนที่เหลือ 49% เป็นหนี้สกุลดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนการดำเนินงานโรงไฟฟ้าขนาด 250 เมกะวัตต์ มูลค่า 651 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ CFP นั้น ปัจจุบันได้เจรจากับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ซึ่งเป็นบริษัทแกนด้านธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่มปตท. (PTT) เพื่อให้เป็นผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างสรุปรายละเอียด