นักวิชาการ ระบุผู้มีรายได้น้อยและปานกลางจะได้ประโยชน์จากกองทุนประหยัดภาษีที่ให้ “เครดิตภาษี” มากกว่ากองทุน LTF ที่ให้สิทธิลดหย่อนภาษีในปัจจุบัน แต่อาจทำให้คนไม่ซื้อ RMF เพราะยังใช้เงื่อนไขลดหย่อนเหมือนเดิม ทำให้ประหยัดภาษีได้น้อยกว่า
ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุในการนำเสนอข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนนโยบาย LTF กระทบผู้เสียภาษีอย่างไร จัดโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER Research) ว่า หากอัตราเครดิตอยู่ที่ 10-25% กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งคิดเป็น 80% ของผู้เสียภาษี จะมีภาระภาษีลดลง หรือ จ่ายภาษีลดลง 6%-35% เมื่อเทียบกับภาระภาษีจากการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ในปัจจุบัน
ขณะที่ผู้มีรายได้สูง ซึ่งคิดเป็น 20% ของผู้เสียภาษี จะมีภาระภาษี หรือ จ่ายภาษีเพิ่มขึ้น 5%-16% สำหรับอัตราเครดิตตั้งแต่ 10-20% แต่หากอัตราเครดิตอยู่ที่ 25% มีรายได้สูงจะมีภาระภาษีลดลง 0.3%
ดร.อธิภัทร จึงเชื่อว่า การเปลี่ยนรูปแบบกองทุนเพื่อการประหยัดภาษีจากสิทธิลดหย่อนของ LTF เป็นเครดิตภาษีจะสร้างแรงจูงใจในการลงทุนเท่ากันสำหรับผู้เสียภาษีทุกคน เนื่องจากการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีแบบเดิมผู้มีรายได้น้อยและปานกลางจะมีแรงจูงใจในการลงทุนน้อยกว่าผู้มีรายได้สูง
ในงานวิจัยพบว่า ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง จะมีสัดส่วนการประหยัดภาษีต่อมูลค่าการซื้อ LTF อยู่ที่ 11.0% ขณะที่มีรายได้สูง ซึ่งคิดเป็น 20% ของผู้เสียภาษี จะมีสัดส่วนการประหยัดภาษีต่อมูลค่าการซื้อ LTF สูงถึง 24.1%
“นั่นหมายความว่าผู้มีรายได้น้อยและปานกลางจะได้รับแรงจูงใจในการซื้อ LTF น้อยกว่าผู้มีรายได้สูงอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น หากทั้งคู่ซื้อ LTF 10,000 บาทเท่ากัน เมื่อรวมส่วนลดภาษีแล้ว ผู้มีรายได้น้อยและปานกลางจะซื้อได้ในราคา 8,900 บาท ในขณะที่ผู้มีรายได้สูงจะซื้อได้ในราคาเพียง 7,590 บาท การสร้างแรงจูงใจในลักษณะนี้เป็นผลมาจากกลไกการให้สิทธิประโยชน์ภาษีแบบลดหย่อนซึ่งทำให้ 1 บาทของการลดหย่อนสำหรับคนรวยจะประหยัดภาษีได้มากกว่าคนจน” ดร.อธิภัทร ระบุ
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนการลดหย่อน LTF เป็นเครดิตเพียงอย่างเดียวจะลดความน่าสนใจของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สำหรับผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสิทธิประโยชน์ RMF ยังคงอยู่ในรูปการลดหย่อน ทำให้ส่วนลดภาษี RMF จะขึ้นอยู่กับรายได้และการลดหย่อนอื่นๆ ของผู้เสียภาษี
“ผู้วิจัยพบว่า ผู้เสียภาษีรายได้น้อย จะได้ส่วนลดภาษีจาก RMF เพียง 5% ต่ำกว่า LTF ที่ได้เครดิตภาษี 20% ดังนั้นอาจเกิดผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนใน RMF ซึ่งผลข้างเคียงต่อ RMF นี้ถือเป็นข้อพึงระวังที่สำคัญสำหรับผู้วางนโยบาย เนื่องจาก RMF เป็นเครื่องมือการส่งเสริมการออมและลงทุนสำหรับการเกษียณอายุโดยตรง” ดร.อธิภัทร ระบุ
อ่านประกอบ