หุ้นร่วงหวั่นศึกการค้าลาม-ส่งออกจีนวูบ เก็งพลังงานเด้งรับโอเปก

หุ้นเอเชียร่วงแรงตามดาวโจนส์ วิตกศึกการค้าจีน-สหรัฐลุกลาม เศรษฐกิจจีนเดือนพ.ย.อ่อนแรง ค่ายกสิกรไทย-ไทยพาณิชย์ เตือนสตินักลงทุน ไม่ต้องกลัวเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย แค่ชะลอในปีหน้า ธ.ค.นี้คาดเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ปีหน้ามีสัญญาณขึ้นไม่เร็ว กนง.ประชุมเดือนนี้ปรับขึ้นแน่นอน โอเปกลดกำลังการผลิตมากกว่าคาด หนุนหุ้นพลังงาน บล.เอเซียพลัสคงน้ำหนักหุ้นไทย 35% สัปดาห์นี้แนะนำ KBANK -WHA

วันที่ 10 ธ.ค. 2561 ตลาดหุ้นไทยหยุดทำการ ตลาดหุ้นเอเชีย และยุโรปเปิดซื้อขาย ร่วงลงแรงตามดาวโจนส์ นำโดยดัชนีนิกเกอิ รูดลง 2.12% ดัชนีฮั่งเส็ง ติดลบ 1.19% นักลงทุนวิตกความขัดแย้งทางการค้าจีน-สหรัฐลุกลาม และจีนชะลอเกินคาดหลังยอดส่งออกเดือนพ.ย.ขยายตัว 10.2% จากเดือนต.ค.ขยายตัว 20.1% ขณะที่ยอดนำเข้าเดือนพ.ย.ขยายตัวเพียง 7.8% ชะลอตัวลงจากเดือนต.ค.ที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งถึง 26.3% เป็นสัญญาณเตือนว่าเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก กำลังชะลอตัว

อย่างไรก็ตามตลาดมีปัจจัยบวกเรื่องตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ยต่ำกว่าคาด จุดกระแสคาดการณ์ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า ส่วนการประชุมของธนาคารกบลางสหรัฐ(เฟด)ในวันที่ 18-19 ะ.ค.นี้ คาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในเดือนธ.ค.นี้ ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.05% เช่นเดียวกัน จาก 1.5% เป็น 1.75%

ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จากกรณีที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่ลงมาต่ำกว่าพันธบัตรระยะสั้นสะท้อนความกังวลของตลาดว่า อนาคตเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงจนทำให้ธนาคารกลางต้องปรับลดดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง และหากพันธบัตรอายุ 10 ปี ลงไปต่ำกว่าอายุ 2 ปี เศรษฐกิจมักจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

“ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี เข้ามาใกล้อายุ 2 ปีมาก ทำให้ตลาดทุนกังวลกันมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกครั้งที่มีความกังวลแล้วจะเกิดขึ้นจริง เพราะเป็นตัวชี้วัดหนึ่ง แต่ไม่ได้ 100% ขณะที่นักวิเคราะห์เชื่อกันว่า ว่าในครึ่งหลังของปี 2562 เศรษฐกิจสหรัฐ จะชะลอตัวลง และเชื่อว่าหลังจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายด้วยความระมัดระวัง” ดร.เชาว์ กล่าว

ดร.เชาว์ กล่าวอีกว่า ปี 2562 จะไม่เหมือนปี 2561 เพราะปีนี้การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเป็นการขึ้นด้วยความมั่นใจ มีปัจจัยสนับสนุน แต่ปีหน้าต้องประเมินสถานการณ์กันทุกรายไตรมาส ความถี่ของการขึ้นดอกเบี้ยจะน้อยลงมาก ครึ่งปีแรกขึ้น 1 ครั้ง ส่วนครึ่งปีหลังต้องรอดูสถานการณ์ก่อน ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีอาจจะหยุด

น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันพันธบัตรอายุ 10 ปี ยังสูงกว่าอายุ 2 ปี ขณะที่อายุ 5 ปีลดลงไปต่ำกว่าอายุ 2 ปีจะเป็นสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้นกาญจนา บอกว่า ถ้าจะเข้าเกณฑ์ inverted yield curve หรือผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ บางส่วนมีลักษณะลาดลง จะใช้ 10 ปี เปรียบเทียบกับ 2 ปี

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า Inverted yield curve ที่เกิดขึ้นบางส่วนในขณะนี้ อาจไม่ใช่เครื่องชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ในอนาคตได้แม่นยำเหมือนในอดีต

” เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้ แต่ในอัตราที่ชะลอลง จะทำให้ yield curve ยังคงflat ต่อไป”
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดการณ์ว่า ขยายตัว 3.9% ชลอตัวจากปีนี้ ที่โต 4.2% สงครามการค้ายังกดดัน ฉุดส่งออกเติบโตเพียง 4.3%คาดว่าการลงทุนของภาครัฐช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเศรษฐกิจโต 4% จากปีนี้ขยายตัว 4.3%

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส คาดสัปดาห์นี้ตลาดให้ความสนใจเรื่องทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของเฟด ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 18-19 ธ.ค. คาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% พร้อมท่าทีผ่อนคลาย แม้จะเป็นปัจจัยบวกในระยะสั้น แต่ก็อาจถูกตีความเป็นสัญญาณลบ
ทางเศราฐกิจในอนาคตได้

สำหรับตลาดหุ้นไทย เชื่อว่าผลกระทบน่าจะจำกัด เนื่องจากต่างชาติถือครองต่ำกว่าปกติมาก (ปิดโอน 22.67% ณ พ.ย.61) และกำไรของบริษัทจดทะเบียนสูงกว่า 1 ล้านล้านบาท การเมืองเห็นผลนำไปสู่การเลือกตั้งที่เป็น
รูปธรรม คาดว่าดัชนีจะผันผวนแต่ ปรับตัวลจำกัด จึงยังคงน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยที่ 35% ของพอร์ต สัปดาห์นี้แนะนำหุ้น KBANK มูลค่าพื้นฐาน 251 บาท เนื่องจากราคาหุ้นปรับลดลงมาค่อนข้างมากจนน่าสนใจ ซื้อขายที่สัดส่วนราคาต่ำมูลค่าหุ้นทางบัญชีเพียง 1.23 เท่า และหุ้น WHA ให้มูลค่าเหมาะสม 4.89 บาท คาดไตรมาส 4 กำไรจะขึ้นสูงสุดของปี จากการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินใน Backlog รวมภึงการขายสินทรัพย์เข้ากอง REIT นอกจากนี้
พัฒนาการของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ชัดเจนขึ้นในพื้นที่ EEC ก็เป็นแรงหนุนในเชิงจิตวิทยา

ส่วนการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) มีมติปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 800,000 บาร์เรล/วัน ขณะที่ผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกจะปรับลดกำลังการผลิต 400,000 บาร์เรล/วัน ทำให้มีการปรับลดกำลังการผลิตรวม 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนม.ค.2562 ทั้งนี้ การปรับลดกำลังการผลิต อยู่ในช่วงการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 1.0-1.4 ล้านบาร์เรล/วัน และส่งผลให้ สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนม.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX เพิ่มขึ้น 2.23 ดอลลาร์ หรือ 4.33% สู่ระดับ 53.72 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังมีข่าวโอเปกใกล้บรรลุข้อตกลง