AOT กำไรไม่หรูจริง แนะ ถือ แอพเพิลเวลธ์หั่นเป้ากำไรปีหน้า

AOT โชว์กำไรปีก่อน 25,170 ล้านบาท พุ่งขึ้น 21% เจาะไส้ในไตรมาส 4 ดีไม่จริง ธุรกิจการบินชะลอตัวลงแรง นักท่องเที่ยวจีนหายวับ บล.แอพเพิล เวลธ์ ปรับลดคาดการณ์กำไรลงเหลือ 26,852 ล้านบาท โตเพียง 7% ปีหน้า

บล. แอพเพิล เวลธ์ แนะนำ “ถือ” หุ้น AOT ราคาเป้าหมาย 70 บาท/หุ้น คาดว่าจะประกาศจ่ายเงินปันผล 0.90 บาทต่อหุ้น คิดเป็อัตราผลตอบแทน 1.4% มองระยะสั้นขาดปัจจัยบวกใหม่ หลังจากกำไรปกติไตรมาสที่ 4/2561(ก.ค.-ก.ย.) เติบโตชะลอตัว ผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนหาย ไปถึง 20% ในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา สถิติการบินจำนวนผู้โดยสารเติบโตเพียง 3.2% แนวโน้มการท่องเที่ยวปี 2562 ต้องเผชิญความท้าทาย

AOT รายงานกำไรสุทธิ ที่ 5,247 ล้านบาท เพิ่มขึ้นโดดเด่น 40.6% จากไตรมาส 4 ปีก่อน แต่การดำเนินงานหลักปรับตัวลง 19.4% เทียบไตรมาส 3 จากค่าใช้จ่ายพนักงานและค่าซ่อมบำรุงที่สูงขึ้น แต่หากเทียบปีก่อนกำไรเพิ่มขึ้นแบบชะลอตัว 1.9% สถิติตัวเลขนักท่องเที่ยว ต.ค.ยังชะลอตัว 0.5% รอดูผลมาตรการรัฐฟื้นความเชื่อมั่น

สำหรับแนวโน้มผลประกอบปี 2561/2562 ปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิลงจากเดิม 9.5% อยู่ที่ 26,852 ล้านบาท เติบโตเพียง 7.3% สะท้อนการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ค่อนข้างช้า มีการปรับสมมติฐานการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารปี 2561/2562 ลงจาก 9.5% เหลือ 6% แต่เชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะทยอยดีขึ้น หลังภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือด้วยการยกเลิกค่าธรรมเนียม Visa on Arrival (VoA) ให้นักท่องเที่ยว 21 ประเทศ ตั้งแต่ 15 พ.ย.-ม.ค.ปีหน้า ซึ่งต้องรอดูว่าจะมีมาตรการอื่นๆออกมาเรียกความเชื่อมันเพิ่มเติมหรือไม่

ส่วนการชะลอโครงการ Terminal 2 ของสนามบินสุวรรณภูมิ จะทำให้แผนการเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารต้องช้าออกไป และกระทบถึงการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Duty Free) ในส่วนของ Terminal 2 ต้องเลื่อนออกไปด้วยเช่นกัน

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ไตรมาส 4 AOT มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นโดดเด่น 40.6% เนื่องจากไม่มีการบันทึกค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่ราชพัสดุย้อนหลังของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 1,378 ล้านบาท เหมือนปีก่อน แต่หากตัดรายการดังกล่าวออกไปพบว่าสถิติการบินมีอัตราการเติบโตชะลอตัว จำนวนผู้โดยสารทั้ง 6 ท่าอากาศยานของ AOT เพิ่มขึ้น 2.7% อยู่ที่ 33.3 ล้านคน จำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 5.6% อยู่ที่ 218,525 เที่ยวบิน ผู้โดยสารและจำนวนเที่ยวบินส่วนใหญ่ยังเพิ่มขึ้นจากการใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำที่มีการแข่งขันด้านราคากันสูง ส่งผลให้รายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน เพิ่มขึ้น 3.7% อยู่ที่ 8,099 ล้านบาท ส่วนรายได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการการบิน เพิ่มขึ้น 5.3% อยู่ที่ 6,649 ล้านบาท หลักๆมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ ตามจำนวนผู้โดยสารและผู้ใช้บริการภายในท่าอากาศยาน ส่งผลให้รายได้จากการขายและบริการรวมเพิ่มขึ้น 5.3% อยู่ที่ 14,747 ล้านบาท

สำหรับค่าใช้จ่ายลดลง 11.3% ส่วนใหญ่มาจากการค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุที่ลดลง ทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงาน ดีขึ้นจากปีก่อนที่ 39.5% เป็น 48.6% รวมกำไรสุทธิในปี 2560/61 (ต.ค.-ก.ย.) เท่ากับ 25,170 ล้านบาท ล้านบาท โตขึ้น 21.7%