TOP เล็งผลงาน Q2 ฟื้นจากไตรมาสแรก งบลงทุนปี 68 เกือบ 2 หมื่นลบ.

HoonSmart.com>>”ไทยออยล์”(TOP) เล็งผลงานไตรมาส 2/68 ฟื้นตัวจากไตรมาสแรก ความต้องการใช้เบนซินสูงขึ้นตามฤดูกาลของสหรัฐ ทั้งเป็นช่วงท่องเที่ยว-หน้าร้อน ธุรกิจโรงกลั่นเริ่มฟื้นตัวจากไตรมาสแรก พร้อมมองความต้องการใช้น้ำมันปีนี้ 1 ล้านบาร์เรล/วัน จากปี 67 ที่อยู่ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ พร้อมวางงบลงทุนปี 68 ไว้ที่ 580 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 19,430 ล้านบาท) ใช้ในพลังงานสะอาดเป็นหลัก

นายณัฐพล นพรัตน์วงศ์ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนพาณิชย์ บริษัท ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานของบริษัทในไตรมาส 2 /2568 คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาสแรก ได้แรงหนุนจากเข้าสู่ช่วงท่องเที่ยวในไตรมาส 2-3 และฤดูร้อนของสหรัฐ ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินจะมีมากขึ้น เป็นไปตามฤดูกาล และธุรกิจโรงกลั่นเริ่มเห็นการฟื้นตัวของค่าการกลั่นจากไตรมาสแรก

“น้ำมัน Jet จะเป็นไปตามจำนวนไฟล์บิน ซึ่งจะพีคในไตรมาส 3 ในสหรัฐฯ และยุโรปที่มีการท่องเที่ยวเยอะ และยังเป็นฤดูร้อน ส่วนแก๊สโซฮอล และดีเซล รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ แต่สต็อกต่ำอยู่ช่วยหนุน”

ส่วนในประเทศได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ ทำให้อาจโตชะลอในส่วนของเบนซิน และดีเซลอาจโตติดลบเล็กน้อย หรือทรงตัว ผลกระทบจากเศรษฐกิจ และยอดขายรถเชิงพาณิชย์ติดลบ ขณะที่น้ำมัน Jet ยังเติบโตดีอยู่ แต่ปีนี้ได้ปรับลดการเติบโตมาที่ 9% ลดลงจากเป้าเดิมที่วางไว้ 2 หลัก เนื่องจากความกังวลจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน ส่วนน้ำมันเตาจะทรงตัว หรือติดลบเล็กน้อยในเรื่องส่งออก ด้านธุรกิจปิโตรเคมีในช่วงไตรมาส 1-2 ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ทำให้เติบโตช้าลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ ในช่วงที่เหลือของปีนี้กำลังผลิตใหม่มาค่อนข้างน้อย ทำให้อาจมีสัญญาณฟื้นตัวได้บ้าง และเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนจะมีการใช้ขวดน้ำผลิตภัณฑ์ PET มากขึ้น สำหรับเบนซินยังมีแรงกดดันอยู่ จากกำลังผลิตใหม่มาควบคู่กับโรงโอเลฟินส์ จะทำให้อุปทานเบนซินสูง

แนวโน้มตลาดในช่วงครึ่งหลังปี 2568 ราคาน้ำมันดิบอ่อนตัวลง เนื่องจากอุปทานของกลุ่มโอเปกพลัส เพิ่มขึ้นจากการยกเลิกการระงับการผลิตและความกังวลด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับภาษีของ”ทรัมป์” ท่ามกลางความไม่แน่นอนผลกระทบต่ออุปทานจากการคว่ำบาตร ในส่วนโรงกลั่นเริ่มฟื้นตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/68 จากความต้องการใช้น้ำมันเบนซินตามฤดูกาลของสหรัฐฯ และการปิดโรงกลั่นหลายแห่ง ท่ามกลางความต้องการที่ลดลง อันเนื่องมาจากภาษีของ”ทรัมป์” เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้น ธุรกิจปิโตรเคมีต้นไตรมาส 2 ยังได้แรงกดดันจากฝั่งอะโรเมติกส์ แต่ที่เหลือก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น โดยอุปสงค์ PX และ BZ เติบโตช้าจากความกังวลภาษีของสหรัฐฯ แม้อุปทานส่วนเกินจะชะลอตัว ตลาดโอเลฟินส์ท้าทายการเพิ่มกำลังการผลิตของจีน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ PP และน้ำมันหล่อลื่นอาจอ่อนลงเล็กน้อยจากซัพพลายใหม่ โดยแหล่งจ่าย Gr.2/3 ใหม่ที่มาเดินเครื่องในปีนี้

“ความต้องการใช้น้ำมันได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ เห็นได้จากเดือนเม.ย.เป็นต้นมา ราคาน้ำมันปรับตัวลงเรื่อย ๆ จาก 75 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ลงมาอยู่แถว 60-65 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ความต้องการใช้น้ำมันในปีนี้คาดว่าจะลงมาอยู่ที่ 1 ล้านบาร์เรล/วัน จากปี 2567 ที่อยู่ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ถ้าเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนตกลงกันได้ก็อาจเพิ่มขึ้นได้บ้าง ในส่วนของซัพพลายจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในเดือนพ.ค.-มิ.ย.ถึง 3 เท่า โดยกลุ่มโอเปกมีกำลังผลิตใหม่ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นการเพิ่มซัพพลาย ดังนั้นภาพรวมมองไตรมาส 2 อุปทานสูง สต็อกโลกขึ้น กดดันราคาน้ำมันให้อยู่แถว 65-70 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล พร้อมให้จับตาผลกระทบภาษีของสหรัฐฯ”

สำหรับงบลงทุนในปี 2568 TOP ตั้งไว้ที่ 580 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 19,430 ล้านบาท) โดยจะลงทุนพลังงานสะอาด 440 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 14,740 ล้านบาท) และโครงการอื่น ๆ 140 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 4,690 ล้านบาท)

ส่วนเรื่องที่ไทยหารือจะนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐ มองเป็นเรื่องที่ไทยทำอยู่แล้ว หากไทยได้ราคานำเข้าที่แข่งขันได้ จะส่งผลให้ต้นทุนค่าเฉลี่ยราคาก๊าซธรรมชาติที่เข้าสู่การผลิตไฟฟ้า และเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนที่ลดลง ทำให้ต้นทุนภาพรวมทั่วประเทศลดลงได้