ดาวโจนส์ปิดบวก 153 จุด กลุ่มเทคหนุนจากผลประกอบการแกร่ง

HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯ 3 ดัชนีหลักปิดบวก ดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 153 จุด จากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของอัลฟาเบท-ไมโครซอฟต์ นักลงทุนกลับมามีความหวังหุ้นเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จะนำการปรับขึ้นต่อเนื่อง แม้รายงานดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) สูงกว่าคาด ด้าน “ราคาน้ำมันดิบ WTI”ปรับเพิ่มขึ้น 28 เซนต์ ฟาก “ตลาดหุ้นยุโรป” ปิดบวก
      
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 26เมษายน 2567 ปิดที่ 38,239.66 จุด เพิ่มขึ้น 153.86 จุด หรือ +0.40% จากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของอัลฟาเบทและไมโครซอฟต์ทำให้กลับมามีความหวังว่าหุ้นเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จะนำการปรับขึ้นต่อเนื่อง แม้การรายงานดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE)ล่าสุด แสดงให้เห็นว่าแรงกดดันด้านราคายังคงมีสูง
      
ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,099.96 จุด เพิ่มขึ้น 51.54 จุด, +1.02%
     
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,927.90 จุด เพิ่มขึ้น 316.14 จุด, +2.03%
      
สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่ดีที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนของดัชนี S&P 500 และ ดัชนี Nasdaq โดยเพิ่มดัชนี S&P 500 บวก 2.7% ดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 4.2% ส่วนดัชนีดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 0.7%
      
โมนา มาฮาจัน นักกลยุทธ์การลงทุนอาวุโสของเอ็ดเวิร์ด โจนส์(Edward Jones )กล่าว ตลาดปิดสัปดาห์ที่ผันผวนด้วยความแข็งแกร่ง เห็นได้ชัดว่าหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนคือรายงานที่แข็งแกร่งจากบริษัทเทคโนโลยีใหญ่
      
ตลาดได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งจากคู่แข่งด้านปัญญาประดิษฐ์อย่างอัลฟาเบทและไมโครซอฟต์ โดยอัลฟาเบท เพิ่มขึ้นกว่า 10% หลังรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกที่ดีเกินคาดและเป็นการปรับขึ้นในวันเดียวที่ดีที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2015 นอกจากนี้บริษัทยังอนุมัติการจ่ายเงินปันผลเป็นครั้งแรกและการซื้อหุ้นคืนมูลค่า 70 พันล้านดอลลาร์
      
หุ้นไมโครซอฟต์ เพิ่มขึ้นเกือบ 2% จากการประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ทางการเงินที่แข็งแกร่ง และแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของระบบคลาวด์ที่เร่งตัวขึ้น
      
ผลการดำเนินงานของสองบริษัททำให้เชื่อมั่นว่ารายได้จากหุ้นเทคโนโลยีในกลุ่ม Magnificent Seven สามารถหนุนตลาดในวงกว้างให้พ้นจากภาวะซบเซาได้ หลังจากการคาดการณ์ที่น่าผิดหวังของเมตา เมื่อต้นสัปดาห์
      
นักลงทุนยังได้แยกวิเคราะห์ดัชนี PCE เดือนมีนาคม หลังจากที่บ่งชี้ถึงอัตราเงินเฟ้อที่สูง
      
กระทรวงพาณิชย์รายงาน ดัชนี PCEทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบรายปี สูงกว่า 2.6% ที่นักวิเคราะห์คาด เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนมีนาคม สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
      
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบรายปี สูงกว่า 2.6% ที่นักวิเคราะห์คาด เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.3% ใน สอดคล้องที่นักวิเคราะห์คาด
      
ข้อมูลดังกล่าวช่วยคลายความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงันและเงินเฟ้อสูง (stagflation) หลังจากการรายงานข้อมูลไตรมาสแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่บ่งชี้ว่า เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจชะลอลง
      
หลังจากการรายงานเงินเฟ้อที่ร้อนแรงอีกครั้ง ช่วยตอกย้ำคาดการณ์ที่ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้นมีโอกาสน้อยลง นักลงทุนจะจับตาดูการประชุมนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอย่างใกล้ชิดในสัปดาห์หน้า เพื่อหาสัญญาณว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
      
คริส ซัคคาเรลลี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของ Independent Advisor Alliance กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยไม่จำเป็นสำหรับตลาดกระทิงที่จะขึ้นต่อ ในทางกลับกัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและการเติบโตของผลกำไรของบริษัท ซึ่งเห็นได้จากบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาด เป็นสิ่งที่จะช่วยผลักดันราคาหุ้นให้ทำจุดสูงสุดใหม่ได้
      
สำหรับการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอื่น มหาวิทยาลัยมิชิแกนเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนเมษายนว่าลดลงมาที่ 77.2 จาก 79.4 ในเดือนมีนาคมและต่ำกว่า 77.9 ที่นักวิเคราะห์คาด ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.2% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ส่วนในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.0%
      
ในสัปดาห์หน้ายังมีการรายงานผลประกอบการของบริษัทใหญ่ในกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งการรายงานการจ้างงาน

      
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวก ดัชนีหุ้นมาตรฐานของยุโรปเพิ่มขึ้นในวันเดียวมากที่สุดในรอบกว่า 3 เดือน โดยได้แรงหนุนจากหุ้นธนาคารและอุตสาหกรรม ขณะที่ภาคเทคโนโลยีได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการที่ดีจากหุ้นยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีของสหรัฐ
      
ดัชนี STOXX 600 ปิดสูงขึ้น 1.2% เพิ่มขึ้นในรอบสัปดาห์นี้เพิ่มขึ้น 1.8% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม
      
หุ้นกลุ่มธนาคาร แตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน จากการเพิ่มขึ้น 6.1% ของหุ้น NatWest ธนาคารอังกฤษ หลังรายงานผลประกอบการไตรมาสแรก
      
กลุ่มอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1.8% นำโดยการเพิ่มขึ้น 11.4% ในWartsila กลุ่มบริษัทวิศวกรรม ของฟินแลนด์ จากปริมาณการสั่งซื้อในไตรมาสแรกและกำไรหลักสูงกว่าประมาณการ
      
กลุ่มรก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น 2.1% โดยหุ้นของ Saint Gobain เพิ่มขึ้น 6.9% หลังจากรายรับในไตรมาสแรกพุ่งสูงขึ้น
      
กลุ่มเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น 1.9% เนื่องจากนักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้นจากจากผลประกอบการรายไตรมาสที่สดใสจากไมโครซอฟต์ และอัลฟาเบท และอัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่เพิ่มขึ้นปานกลาง
      
ในขณะเดียวกัน ยังมีความคาดหวังเพิ่มขึ้นว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน หลังรายงานของธนาคารกลางยุโรปที่เผยให้เห็นถึงความซบเซาอย่างต่อเนื่องในการปล่อยสินเชื่อยูโรโซนในเดือนมีนาคม และผู้บริโภคปรับลดการคาดการณ์เงินเฟ้อเนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
      
ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 507.98 จุด เพิ่มขึ้น 5.6 จุด, +1.11%
   
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,139.83 จุด เพิ่มขึ้น 60.97 จุด, +0.75%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 8,088.24 จุด เพิ่มขึ้น 71.59 จุด, +0.89%,
     
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิด 18,161.01 จุด เพิ่มขึ้น 243.73 จุด, +1.36%
      
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 28 เซนต์ หรือ 0.34% ปิดที่ 83.85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 49 เซนต์ หรือ 0.55% ปิดที่ 89.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล