เตรียมเงินซื้อ LTF ครึ่งหลังปี’67 เป็นไปได้หรือแค่ฝัน..

HoonSmart.com>>กระแสกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กลับมาดึงความสนใจจากวงการตลาดทุนอีกครั้ง หลังจากที่มีการยกเลิกไปเมื่อปี 2563 ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ทุกครั้งที่มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่เข้ามา ทางวงการตลาดทุนก็มักจะขอให้นำ LTF กลับมาเป็นเครื่องมือการออมให้กับนักลงทุนทุกครั้ง ทุกครั้งเรื่องก็หายเงียบไป แต่ครั้งนี้จุดเริ่มต้นต่างออกไปเพราะเป็นแนวคิดของรมว.คลัง มาดูกันว่าวงการตลาดทุนมองอย่างไร จะแฮปปี้หรือมีกินแห้ว

ครั้งนี้ จุดเริ่มต้นแตกต่างออกไป ตรงที่แนวคิดการนำ LTF กลับมาเป็นของ”รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิชัย ชุณหวชิร ” เพื่อกระตุ้นการลงทุนในตลาดหุ้นไทย และมีการสานต่อแนวคิดโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้เตรียมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องภาษี ไปทำการศึกษาเรื่องการฟื้นชีพ LTF

เงินหมุนได้เร็ว-รอไม่นาน

ขณะที่ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ก็เตรียมที่จะนัดพบกับทาง รมว.คลัง ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ภาคอุตสาหกรรมจะต้องมีการเข้าไปรายงานสถานการณ์ แนวทางการพัฒนาธุรกิจ และร้องขอสิ่งที่ภาคธุรกิจอยากให้ทางภาครัฐอำนวยความสะดวก หนึ่งในนั้นคือ เรื่องกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)ที่จะขอปรับลดเวลาการถือครองจาก 10 ปี ให้ใกล้เคียงกับ LTF เวอร์ชั่นลงทุน 5 ปี และกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG)ก็จะขอลดเวลาการถือครองให้ต่ำกว่า 8 ปี หรือ อาจจะเพิ่มกองทุนใหม่ขึ้นมาอีกกอง ที่เล็งไว้คือ กองทุนเพื่อการศึกษา

ทั้งหมด ล้วนต้องการดึงดูดความน่าสนใจลงทุนจากนักลงทุน เพราะการที่อายุกองทุนสั้นลง จะทำให้นักลงทุนรู้สึกไม่เหนื่อยกับการถือครอง มีเงินมาลงทุนใหม่ได้เร็ว ทำให้ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์ มีรายได้จากค่าธรรมเนียมซื้อขาย เพิ่มขึ้น เรียกว่าหน้าชื่นตาบานกันทุกฝ่าย แต่ทางกระทรวงการคลังก็อาจจะต้องเหนื่อยกับการบริหารภาษีมากขึ้น

“การนำ LTF กลับมา ทำได้ทั้งออกกอง LTF ขึ้นมาอีก หรือ ปรับ SSF ให้ใกล้เคียง หรือ ยกเลิก SSF ไปเลย เพราะปัจจุบันกอง SSF มีจำนวนเงินที่ลงทุนไม่มาก เพราะนานเกินไป ที่คนนิยม LTF เพราะลงทุนแค่ 5 ปี ก็มีเงินมาลงทุนใหม่ได้อีก มีความยืดหยุ่นเรื่องจากการลงทุน เพราะนอกจากจะลงทุนในหุ้นแล้ว ในบางช่วงก็ลงทุนในเงินสด หรือลงทุนในพันธบัตรก็ได้ ถ้าตลาดหุ้นไม่ดี “นายกอบศักดิ์ กล่าว LTF

LTF ดึงเงินได้ 4-7 หมื่นล้านบาทต่อปี

ขณะที่ บล. เอเซีย พลัส ประเมินผลการปลุก LTF ขึ้นมาให้ลงทุนกันอีกครั้ง คาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินใหม่เข้ามาในตลาดหุ้นปีละ 60,000-70,000 ล้านบาท ทำให้มีสภาพคล่องในตลาดหุ้นสูงถึงระดับ 80% ต่อปี จากปัจจุบัน 62.7% ต่อปี ณ ระดับดังกล่าวจะมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท ช่วยลดความผันผวนจากการเกิดชอร์ตเซลและผลกระทบจากปัจจัยลบต่างประเทศ และขับเคลื่อนดัชนีหุ้นไทยไปต่อได้

ตัวเลขล่าสุด ณ สิ้นเดือนเม.ย.มีเม็ดเงินในกองทุน LTF คงค้างอยู่ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท(จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 4.06 แสนล้านบาท) และคิดเป็นสัดส่วนราว 15% ของกองทุนหุ้นในระบบทั้งหมด มากกว่ากองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)ที่มี 1.1 แสนล้านบาท คิดเป็น 7% โดยกองทุนหุ้นเมืองนอกมีสัดส่วนสูงถึง 40% หรือราว 6.4 แสนล้านบาท การนำ LTF กลับมาน่าจะดึงเงินลงทุนจากกองทุนหุ้นเมืองนอกกลับมาลงทุนในไทยได้ส่วนหนึ่ง

ขณะที่ทางบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า LTF จะดึงเงินลงทุนได้ราว 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี เมื่อเทียบกับเม็ดเงินจากกองทุน SSF และกองทุน Thai ESG ที่รวมกันแล้วได้ราว 1 หมื่นล้านบาทต่อปี และคาดว่าการจัดตั้งกองทุน LTF อาจไม่เกิดขึ้นเร็ว

บลจ.ไม่เคยลืม LTF

ด้านวงการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ยังคงไม่เคยลืม LTF และรอคอยกองทุนรวมที่มีลักษณะนิสัยเหมือน LTF มาโดยตลอด เพราะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาซื้อขายได้ตลอดทั้งปี โดยจะคึกคักเป็นพิเศษในช่วงปลายปีที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษี และต้นปีที่มีโบนัสออก

โดยก่อนที่ LTF จะหมดสิทธิลดหย่อนภาษีปลายปี 2562 ก็มีการเจรจากับกระทรวงการคลังสมัยนั้นมี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็น รมว.คลัง เพื่อขอต่ออายุ แต่ไม่เป็นผล

แม้ จะมีกองทุนใหม่ๆ อย่าง SSF หรือกองทุน Thai ESG เกิดขึ้น แต่ก็ไม่มีกองทุนไหนสามารถแทนที่ LTF ในหัวใจนักลงทุนได้

ในครั้งนี้ ทางสมาคมบลจ.เอง ก็เตรียมจัดข้อมูลเพื่อเข้าร่วมทีมกับทาง FETCO เข้าหารือกับรมว.กระทรวงการคลังเช่นเดียวกัน

ทำไม LTF ถึงมีเสน่ห์

กองทุน LTF เกิดขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้เกิดเสถียรภาพในระบบตลาดทุนไทย มี 2 เวอร์ชั่น โดยเวอร์ชั่นแรกเกิดปี 2547-2558 ให้ถือครอง 5 ปีแล้วขายได้นับแบบปีชนปี ถือครองจริงๆ 3 ปีก็ขายได้ ด้วยการซื้อปลายปีที่ 1  และขายต้นปีที่ 5

ต่อมาปี 2559-2562 ได้เปลี่ยนเป็น 7 ปีปฏิทินนับแบบวันชนวัน และยกเลิกสิทธิภาษีไปปี 2563 โดยกระทรวงการคลัง ให้เหตุผลว่าเป็นช่องทางให้คนรวยหลีกเลี่ยงภาษีด้วยการเข้ามาซื้อ LTF และต้องการสนับสนุนการลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างเสถียรภาพให้ตลาดทุน

จึงได้ออกกองทุน SSF มาแทน ให้ถือลงทุน 10 ปีนับแบบวันชนวัน แม้จะให้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของรายได้พึงประเมิน แต่จำกัดวงเงินลดหย่อนภาษีไว้ที่ 2 แสนบาท แต่ไม่เป็นที่นิยม เพราะถือว่านานเกินไป

ขณะที่ LTF เวอร์ชั่นล่าสุด ถือครอง 7 ปีปฏิทิน แม้จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 15% แต่วงเงินลดหย่อนสูงถึง 5 แสนบาทเมื่อรวมกับการออมผ่านประกันชีวิต RMF ,กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และขีดเส้นให้ลงทุนในหุ้นไทยขั้นต่ำ 65%

ทั้งนี้ แนวคิดจะนำ LTF กลับมา ในครั้งนี้มาจาก  รมว.คลัง เอง ไม่ใช่การนำเสนอของเอกชนเช่นที่ผ่านมา จึงมีโอกาสสูงมากที่จะเกิดขึ้นจริง และถ้าเกิดอย่างช้าน่าจะออกมาก่อนสิ้นปี 2567 เพราะกระบวนการต้องใช้เวลา และครึ่งหลังของปีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเริ่มเห็นผล เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ฉะนั้นเตรียมสะสมเงินสดไว้ลงทุนกันได้เลย แต่ถ้าไม่เกิดก็ยังมีเงินก้อนให้เก็บไว้คอยเลือกจังหวะดีๆ เข้าซื้อหุ้นได้ด้วย

รายงานโดย:วารุณี อินวันนา