ก.ล.ต.ตัดตอนกระบวนการปั่นหุ้น สแกนหลักประกัน-คำสั่งซื้อ

HoonSmart.com>>ก.ล.ต.เริ่มปฏิบัติการตัดตอนกระบวนการปั่นหุ้น เตรียมคุมเข้มคำสั่งซื้อแบบชักเข้าชักออก สแกนหลักประกันมูลค่าสูงแต่ไร้พื้นฐานรองรับ พบกระจุกตัวหั่นเหลือ 50% สนองรายย่อยอยากเล่นคริปโตฯผ่านกองทุนรวม แบบแอบห่วงขอจำกัดสัดส่วนลงทุน ลั่นออกเกณฑ์ได้ไม่เกินไตรมาส 2 นี้

นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวในงานก.ล.ต.พบสื่อมวลชนประจำเดือนเมษายน 2567 มี ประเด็นที่มีนัยสำคัญ ดังนี้

61 คดี ปรับกว่า 1,768 ล้านบาท
การดำเนินคดีทางแพ่ง นับจากปีที่บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างจริงจัง ปี 2560-ไตรมาส 1 ปี 2567 รวม 61 คดี เป็นเงินค่าปรับทางแพ่ง 1,566.69 ล้านบาท มีการชดใช้เงินจากผลประโยชน์ที่ได้รับ 194.32 ล้านบาท และชดใช้เงินค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ 7.05 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,768.06 ล้านบาท มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด 241 ราย

ทั้งนี้มีจำนวนคดีที่ไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง 25 คดี มีการส่งฟ้องศาล 18 คดี

 

“เคสใหญ่สุดของการสร้างราคาหุ้นมีค่าปรับถึง 1,000 ล้านบาท แต่ผู้กระทำผิดไม่ยินยอมจ่ายค่าปรับ อยู่ในขั้นตอนการสู้กันในศาล รองลงมาเป็นเคสที่มีมูลค่าการลงโทษทางแพ่ง 800 ล้านบาทซึ่งยอมจ่ายค่าปรับ”นายเอนก กล่าว

นายเอนก กล่าวว่า เฉพาะไตรมาส 1 ปี 2567 มี 3 คดี พบผู้กระทำความผิด 11 ราย ยินยอมจ่ายค่าปรับทางแพ่ง 26.57 ล้านบาทและชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับ 15.21 ล้านบาทจ่ายชดใช้เงินค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ 791,490 บาท รวมเป็นเงิน 42.57 ล้านบาท

“ฐานความผิดที่พบมากที่สุดคือการใช้ข้อมูลภายในการสร้างราคา การเปิดเผยข้อมูลภายใน การให้ข่าวที่เป็นเท็จ”นายเอนก กล่าว

นายเอนก กล่าวว่า เพื่อป้องกันการปั่นหุ้น และ ตัดตอนกระบวนการปั่นหุ้น ทาง ก.ล.ต.อยู่ระหว่างเตรียมการกำหนดลักษณะคำสั่งซื้อที่เข้าข่ายหลอกลวงหรือเข้าข่ายทำให้เกิดความเข้าใจผิด เช่นส่งคำสั่งซื้อขายเข้ามาแล้วถอนออกจากนั้นก็ส่งเข้ามาใหม่ ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งยอมรับว่ามีความยากลำบากในการกำหนดคุณลักษณะ จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงในการทำเรื่องดังกล่าว

รวมถึงการเข้าตรวจสอบหุ้นที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทั้งปัจจัยพื้นฐานและกลุ่มผู้ที่เข้ามาซื้อขาย เพื่อค้นหาเจตนาว่าเป็นการเก็งกำไรปกติหรือเข้ามาเพื่อสร้างราคา หรือราคาที่ขึ้นไปนั้นมีปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

นอกจากนี้ จะมีความเข้มงวดเรื่องคุณภาพของหลักประกัน ในการให้วงเงินสินเชื่อหรือมาร์จิ้นซื้อหุ้น จะไม่ให้เกิดการกระจุกตัวของหลักทรัพย์ค้ำประกัน หากพบว่ามีการกระจุกตัว จะทำการลดมูลค่าหลักประกันลง

รวมถึงติดตามมูลค่าหลักประกันอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีการปรับขึ้นโดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับที่สมเหตุสมผล จะสั่งให้ลดมูลค่าหลักประกันลง เช่นอาจลดลงเหลือ 50%

ให้รายย่อยลงทุนคริปโตฯแบบแอบห่วง

สำหรับ ผลการประชุมคณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) ประจำเดือนเมษายน อนุมัติหลักการให้กองทุนรวมชวนรายย่อยลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ โดยแบ่งสินทรัพย์ดิจิทัลออกเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่ม Investment Token ซึ่งมีหลักประกันอยู่เบื้องหลังและต่อไปในอนาคตหลักประกันนี้จะจะถูกแปลงไปเป็นสินทรัพย์ และกลุ่มคริปโตเคอร์เรนซี่ ซึ่งมีความเสี่ยงสูง

ทั้งนี้หลักการลงทุนจะมีการจำกัดสัดส่วนการลงทุนใน Investment Token และคริปโตฯ เพื่อดูแลนักลงทุนรายย่อยที่มีเงินลงทุนน้อย รับความเสี่ยงได้ต่ำ สัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลจัดต่ำกว่ากลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ที่มีเงินลงทุนสูง สามารถรับความเสี่ยงได้มากกว่าและมีความเข้าใจในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิตอล

“เราจะทำการประชาพิจารณ์ ในเดือนพ.ค. หลังจากนั้นก็น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นและสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ให้ลงทุนได้ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้”นายเอนก กล่าว

นายเอนก กล่าวว่า นอกจากนี้ จะเปิดโอกาสให้มีการใช้ Investment Token มาใช้ในการระดมทุนได้ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นซอฟท์พาวเวอร์ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลและกระตุ้นอุตสาหกรรมให้มีการเติบโต เช่นในอุตสาหกรรมผลิตเพลง มวยไทย ผู้ผลิตละคร โดยยื่นขออนุญาตการออก Investment Token สามารถนำไปใช้ระดมทุนได้ภายใน 2 ปี ซึ่งจะมีการเตรียมทำประชาพิจารณ์เช่นเดียวกันในเดือนพ.ค.

นอกจากนี้ จะมีการนำระบบบล็อคเชน และเอพีไอ เข้ามาใช้ในตลาดหุ้นกู้เอกชน โดยจะมีการจัดเก็บข้อมูลผู้ออก การซื้อ การขาย เก็บข้อมูลผู้ลงทุน ไว้ที่เดียวกัน นักลงทุนกรอกข้อมูลเพียงครั้งเดียว ระบบจะจัดเก็บข้อมูลดังกล่าว และให้บริษัทต่างๆที่เกี่ยวข้องสามารถดึงข้อมูลต่างๆ ออกมาใช้ได้ และให้นักลงทุนซื้อหุ้นกู้กับกับผู้ขายรายใดก็ได้ จากปัจจุบันที่นักลงทุนจะต้องกรอกข้อมูลทุกครั้งที่มีการซื้อหุ้นกู้

สำหรับ การป้องกันการหลอกลงทุนผ่านแอพพลิเคชั่น หรือช่องทางออนไลน์ ที่ให้มีการแจ้งเบาะแสมาที่สายด่วน 1207 กด 22 ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีการแจ้งเข้ามากว่า 1,000 ราย สามารถปิดกั้นการเข้าถึงแพล็ตฟอร์ม ได้มากถึง 98% ของที่ได้รับแจ้ง

นอกจากนี้ ยังได้ปิดกั้นแพล็ตฟอร์มต่างประเทศที่ชวนนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้ส่งรายชื่อให้กับทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ก.ล.ต.สามารถเอาผิดและลงโทษแพล็ตฟอร์ม ที่ไม่มีใบอนุญาตชวนลงทุน รวมถึงบุคคลที่เข้าไปชักชวนนักลงทุนด้วย ฉะนั้นจึงขอเตือนว่าคนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม ให้ศึกษาให้ดีๆ รวมถึงผู้ที่จัดงานมหกรรมการลงทุนต่างๆจะต้องตรวจสอบผู้ที่จะมาออกบูธด้วยว่ามีใบอนุญาตหรือไม่เพราะถ้าปล่อยให้คนที่ไม่มีอนุญาตเข้ามาจะถือว่ามีความผิดด้วย”นายเอนก กล่าว