สมาคมบลจ.เสนอแนวทางพัฒนาตลาดทุน ชูโมเดลตลาดหุ้นญี่ปุ่น-อินเดียฟื้นหุ้นไทย

HoonSmart.com>> “สมาคมบริษัทจัดการลงทุน” ระดมความคิดเห็นเตรียมเสนอภาครัฐ “แนวทางการพัฒนาตลาดทุนไทยและการส่งเสริมการออมผ่านกองทุนรวม” หลังหุ้นไทยถอยลงจากเคยทำนิวไฮ 1,850 จุด สวนทางตลาดหุ้นหลายแห่งทั่วโลกทำออล ไทม์ ไฮ โดยเฉพาะ “หุ้นญี่ปุ่น-อินเดีย” เติบโตกว่าเท่าตัวใน 5 ปี ศึกษารูปแบบพบ 4 แนวทางสำคัญหนุน หวังนำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์กับประเทศไทย

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) จัดงานสัมมนาระดมความเห็น “แนวทางการพัฒนาตลาดทุนไทยและการส่งเสริมการออมผ่านกองทุนรวม” ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนไทยโดยได้รับทุนสนับสนุนการจัดงานจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) และได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดทุนของประเทศญี่ปุ่นและอินเดียร่วมแชร์ประสบการณ์ ภายใต้หัวข้อ “Platform for Sustainable Recovery & Springboard for Accelerating Growth” เพื่อระดมความคิด เฟ้นหามาตรการสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในตลาดทุนและขยายฐานผู้ลงทุนไทยได้อย่างยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก Mr. Takahiro Kawabe, Managing Director & CEO of Nomura Asset Management Singapore Limited และ Mr.Sachin Mahajan, Business Head, Aditya Birla Sun Life Asset Management Company PTE, Ltd ร่วมแชร์ประสบการณ์ มีผู้บริหารองค์กรในอุตสาหกรรมตลาดทุนทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมงานกว่า 65 ท่าน

นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (Association of Investment Management Companies – AIMC) ในฐานะเจ้าภาพจัดงาน กล่าวสรุปผลที่ได้จากการจัดงานครั้งนี้ว่า “ตลาดหุ้นไทยเคยทำสถิติดัชนี SET สูงสุดเมื่อปี 2561 ที่ระดับ 1,850 จุด ขณะที่ภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย ตลาดหุ้นหลายแห่งในโลกได้มีการทำลายสถิติ “สูงสุดตลอดกาล” ขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะสองประเทศที่โดดเด่นมาก ๆ ของเอเชียคือ ญี่ปุ่นและอินเดียที่ดัชนีตลาดหุ้นเติบโตขึ้นกว่าเท่าตัวในรอบระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ AIMC ในฐานะเจ้าภาพการจัดงานในครั้งนี้ จึงได้ระดมความคิดเห็นของอุตสาหกรรม กลั่นกรองหาแนวทางจากพัฒนาการอันโดดเด่นในระดับสากลที่ตลาดไทยจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยพบว่ามาตรการที่ทำให้ตลาดทุนและกองทุนรวมของประเทศญี่ปุ่นและอินเดียเติบโตสูงสุด ประกอบด้วยแนวทางที่สำคัญ 4 ด้านได้แก่

1) การสนับสนุนจากภาครัฐ เช่นมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจและตลาดเงินตลาดทุนแบบองค์รวม ที่ครอบคลุมทั้งนโยบายการเงิน การคลัง การส่งเสริมการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน การปรับโครงสร้างตลาดทุน มาตรการทางภาษีเพื่อการออม อาทิ บัญชีการออมแบบปลอดภาษี (NISA) มาตรการจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานกำกับดูแลในการส่งเสริมการดำเนินการของบริษัทจดทะเบียนที่ช่วยเพิ่มมูลค่าของผู้ถือหุ้น (Corporate Actions) อาทิ บัญชี โครงการซื้อหุ้นคืนที่ใหญ่ที่สุด มีบริษัทจดทะเบียนของญี่ปุ่นเข้าร่วมถึง 1,033 บริษัท จาก 3,900 บริษัท คิดเป็นมูลค่ารวมสูงถึง 65,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น

2) การสนับสนุนจากภาครัฐในการจัดให้มีระบบกลางของทะเบียนที่ครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศ (Central Digital Infrastructure) เพื่อที่ภาคธุรกิจการเงินการลงทุน SMEs และบริษัท Start-Up ทั้งประเทศสามารถใช้ในการยืนยันตัวตน (KYC) เพื่อลดต้นทุนการเปิดบัญชีและการทำรายการแบบต้นทุนต่ำสุด ซึ่งช่วยให้การลงทุนสามารถเข้าถึงประชาชนในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มความปลอดภัยและลดปัญหาการฟอกเงินและการหลอกลงทุนได้อย่างเป็นรูปธรรม

3) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization) เพื่อขยายฐานนักลงทุน ซึ่งสามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือประชาชนที่อยู่จังหวัดห่างไกล การใช้นวัตกรรมและสื่อออนไลน์ เพื่อกระตุ้นและต่อยอดการลงทุน และรวมถึงส่งเสริมการลงทุนแบบต่อเนื่องและสม่ำเสมอ (DCA)

4) การรวมพลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกระดับการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนในทุกช่วงวัยและทุกสาขาอาชีพ

ทั้งนี้ AIMC เล็งเห็นว่า หลายมาตรการข้างต้นสามารถมานำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์กับประเทศไทย โดยจะนำเสนอเป็นแนวทางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงาน ก.ล.ต. และภาครัฐต่อไป” นางชวินดากล่าว