คอลัมน์ความจริงความคิด : ราคาน้ำมันกระทบเศรษฐกิจอย่างไร

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

หากจะกระจายความเสี่ยงในการลงทุน นักวิชาการทั้งหลายมักจะแนะนำให้มีการกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนบางส่วนในสินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Investment) ด้วย

สินทรัพย์ทางเลือกคือ สินทรัพย์ที่ไม่ได้มีการซื้อขาย หรือลงทุนกันอย่างแพร่หลายเหมือนกับสินทรัพย์ในการลงทุนโดยทั่วไป เช่น หุ้น กองทุนรวม ตราสารหนี้ เป็นต้น โดยสินทรัพย์ทางเลือกจะเป็นสินทรัพย์ที่มีตลาดเฉพาะกลุ่ม และมีการกำหนดราคาซื้อขายกันจากในกลุ่มนั้น ๆ หรืออาจจะมีตัวกลางในการกำหนดราคาก็ได้ เนื่องจากสินทรัพย์ทางเลือกมีหลากหลายชนิด ส่วนใหญ่ผลตอบแทนมักจะไม่มีความสัมพันธ์ หรือความสัมพันธ์ผกผันกับภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งสินทรัพย์ทางเลือกที่นักลงทุนรู้จักกันดี และมีการซื้อขายกันเป็นวงกว้าง คือ ทองคำ น้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ซึ่งมีคุณสมบัติ และข้อจำกัดที่เราควรทราบก่อนตัดสินใจลงทุน

อย่างเช่น น้ำมันซึ่งเป็นสินทรัพย์ทางเลือกหนึ่งที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนของเรามาก ดังนั้น เราจึงควรเข้าใจผลกระทบดังกล่าว เพื่อการบริหารจัดการเงินลงทุนของเราได้อย่างเหมาะสม

1. ผลกระทบของราคาน้ำมันต่อเศรษฐกิจส่วนรวม

ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลต่อเศรษฐกิจส่วนรวม 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่

– รายได้ที่จับจ่ายใช้สอยได้ลดลง เราจึงมักเห็นนะว่า เวลามีข่าวว่าพรุ่งนี้น้ำมันจะขึ้น เราก็จะรีบไปเติมน้ำมันให้เต็มถังก่อนเลยเพื่อที่ว่าจะได้จ่ายเงินน้อยกว่าเติมพรุ่งนี้ (จนหลายครั้ง เราอาจลืมคิดให้ละเอียดว่าคุ้มหรือไม่คุ้มที่อาจต้องขับรถออกนอกเส้นทาง ต้องต่อคิวรอเติมน้ำมัน เสียทั้งน้ำมันเสียทั้งเวลา) แสดงให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเป็นค่าใช้จ่ายใหญ่หนึ่งในค่าใช้จ่ายของเรา หากราคาน้ำมันแพงขึ้น เราก็จะเหลือเงินสำหรับการใช้จ่ายอย่างอื่นน้อยลง ส่งผลให้การบริโภคน้อยลง เมื่อการบริโภคน้อยลง เครื่องจักรเศรษฐกิจตัวหนึ่ง คือ การบริโภคภาคเอกชนซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 50 ของ GDP ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดในภาคเศรษฐกิจก็จะทำงานน้อยลง เศรษฐกิจก็จะเติบโตน้อยลง

– ราคาขายปลีกของน้ำมันประเภทต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย น้ำมันเป็นต้นทุนสำคัญอันหนึ่งของหลายๆสินค้า ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ ต้นทุนการขนส่งสินค้าจากโรงงานไปยังร้านค้าต่างๆ เมื่อต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ผู้ผลิตก็จำเป็นต้องเพิ่มราคาสินค้าตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น

– เมื่อราคาสินค้าในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความสามารถในการส่งออกลดลง เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ราคาสินค้าส่งออกของเราก็จะสูงขึ้น หากประเทศที่เป็นคู่แข่งในการส่งออกสินค้าเดียวกันไม่ถูกผลกระทบจากราคาน้ำมัน และสินค้าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ เราก็อาจเสียลูกค้าไปได้ นอกจากนี้หากมองในมุมลูกค้าที่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศลูกค้าเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการต่อสินค้าส่งออกของไทยลดลงด้วย เมื่อการส่งออกของไทยคิดเป็นร้อยละ 75 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตน้อยลง
– ผลต่อเศรษฐกิจส่วนรวม จากปัจจัยการขยายตัวด้านการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกที่ลดลง ส่งผลให้
การขยายตัวของเศรษฐกิจลดน้อยลง

2. ผลกระทบของราคาน้ำมันต่อราคาหุ้น

เมื่อราคาน้ำมันกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ก็ย่อมกระทบต่อราคาหุ้นด้วยเช่นกัน ในระบบเศรษฐกิจ สามารถแบ่งคร่าว ๆ ออกเป็น 2 ส่วนที่สำคัญ คือ ภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงิน

– ภาคเศรษฐกิจจริง หรือที่มักเรียกกันว่า Real Sector คือ ภาคธุรกิจที่ผลิตสินค้าและบริการ โดยมีกลไกราคาเป็นตัวตัดสินว่าจะผลิตอะไร จำนวนเท่าไร ผลิตอย่างไร และจำหน่ายให้กับใคร นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงภาคครัวเรือน ซึ่งมีบทบาทเป็นทั้งผู้บริโภคและแรงงานในภาคธุรกิจ

– ภาคการเงิน หรือ Financial Sector เป็นเหมือนเส้นเลือดที่ทำหน้าที่หล่อลื่นกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจจริง โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางระดมเงินออมจากผู้ให้กู้ ไปให้แก่ผู้กู้เพื่อการบริโภคหรือลงทุนดำเนินธุรกิจ ซึ่งตัวกลางที่ว่านี้ ก็คือ สถาบันการเงิน แต่ไม่ได้หมายถึงแค่เฉพาะธนาคารเท่านั้น สถาบันการเงินเฉพาะกิจ บริษัทเงินทุน สหกรณ์ หรือแม้แต่โรงรับจำนำก็ทำหน้าที่นี้ได้

หากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจะกระทบทางลบภาคเศรษฐกิจจริงดังที่กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะธุรกิจที่มีน้ำมันเป็นต้นทุนหลัก เช่น การขนส่งสินค้า เดินเรือ สายการบิน สินค้าอุตสาหกรรม ยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป้นต้น

แต่ขณะเดียวกันจะมีกลุ่มธุรกิจน้ำมันที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นเช่นกัน โดยหุ้นกลุ่มน้ำมันในตลาดหุ้นไทย เป็น 3 กลุ่มตามวงจรธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำซึ่งจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นต่างกัน ดังนี้

1.) กลุ่มต้นน้ำ (Upstream) คือ การสำรวจและขุดเจาะแหล่งน้ำมันดิบ แล้วนำผลผลิตที่ได้ออกมาจำหน่ายให้กับกลุ่มโรงกลั่น อย่างเช่น หุ้น PTTEP ฯลฯ หุ้นกลุ่มนี้จึงมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับราคาน้ำมัน คือ ได้ประโยชน์เมื่อราคาน้ำมันแพง และเสียประโยชน์เมื่อราคาน้ำมันถูก

2.) กลุ่มกลางน้ำ (Midstream) คือ กลุ่มที่รับซื้อน้ำมันดิบแล้วนำมาเข้าสู่กระบวนการกลั่นเพื่อผลิตออกมาเป็นน้ำมันสำเร็จรูป เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันหล่อลื่น น้ำมันอากาศยาน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและเม็ดพลาสติกต่างๆ ฯลฯ ราคาน้ำมันจะมีผลต่อกำไรของธุรกิจเพราะเป็นต้นทุนการผลิต และยังมีผลต่อราคาขายผลิตภัณฑ์ในอนาคต ดังนั้นหุ้นกลุ่มนี้จะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันขึ้นหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับการบริหารสต๊อกน้ำมัน และผลิตภัณฑ์การกลั่นของแต่ละบริษัทตัวอย่างหุ้นกลุ่มกลางน้ำ เช่น หุ้น TOP, PTTGC, IRPC, BCP, SPRC และ IVL เป็นต้น

3.) กลุ่มปลายน้ำ (Downstream) เป็นกลุ่มที่รับซื้อน้ำมันสำเร็จรูปจากกลุ่มโรงกลั่น เพื่อนำมาจัดจำหน่ายผ่านสถานีบริการน้ำมัน หรือให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสียประโยชน์จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน เพราะส่งผลต่อปริมาณขาย และส่งผลทางอ้อมต่อค่าการตลาด ซึ่งเป็นรายได้ของธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน เนื่องจากเมื่อราคาน้ำมันแพงขึ้น ภาครัฐมักจะเข้ามาควบคุมราคาด้วยการขอความร่วมมือให้ผู้ค้าปรับลดค่าการตลาดเพื่อพยุงราคาไว้นั่นเอง ตัวอย่างหุ้นกลุ่มนี้ เช่น หุ้น OR, PTG, SUSCO และ BAFS เป็นต้น

เมื่อเราเข้าใจกลไกของราคาน้ำมันที่กระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนแล้ว เราก็จะสามารถวางแผนการลงทุนได้อย่างเหมาะสมและทำผลตอบแทนที่ดีได้ในทุกสถานการณ์