ดาวโจนส์ปิดดิ่ง 530 จุด กังวลเฟดเลื่อนลดดอกเบี้ย

HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐ 3 ดัชนีหลักปิดร่วง ดาวโจนส์ดิ่ง 530 จุด ปรับตัวลงเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน วิตกธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) เลื่อนปรับลดดอกเบี้ย หลังเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายออกมาให้ความเห็น ด้านราคาน้ำมันดิบพุ่ง สถานการณ์ตะวันออกกลางตึงเครียด ฟาก “ตลาดหุ้นยุโรป” ปิดบวก

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 4เมษายน 2567 ปิดที่ 38,596.98 จุด ลดลง 530.16 จุด หรือ -1.35% เป็นการปรับลงวันที่ 4 ติดต่อกัน ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน หลังราคาน้ำมันดิบพุ่งและความวิตกว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะเลื่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน หลังเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายออกมาให้ความเห็น

ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,147.21 จุด ลดลง 64.28 จุด, -1.23%

ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,049.08 จุด ลดลง 228.38 จุด, -1.40%

ในช่วงแรกตลาดปรับตัวขึ้นจากการรายงานการยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกที่สูงขึ้น ซึ่งตอกย้ำความคาดหวังว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

กระทรวงแรงงานรายงานการยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้ว
เพิ่มขึ้น 9,000 ราย มาที่ 221,000 รายซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน และสูงกว่า 213,000 รายที่นักวิเคราะห์คาด

แต่ตลาดปรับตัวลงในช่วงบ่ายจากเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายออกมาให้ความเห็น และนักลงทุนประเมินแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้

นายนีล คาชคารี ประธานธนาคารเฟดมินนีแอโพลิสกล่าวว่า ในการประชุมเฟดเมื่อเดือนที่แล้ว เขาได้เตรียมการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสองครั้งในปีนี้ แต่หากอัตราเงินเฟ้อยังคงทรงตัวอยู่ ก็อาจไม่จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นหลังการให้ความคิดเห็นของนายคารชคารีมาที่ 4.305%

ก่อนหน้านี้ในวันพฤหัสบดี นายโธมัส บาร์กิน ประธานเฟดริชมอนด์กล่าวว่า เฟดมี เวลาในการประเมินสถานการณ์ให้ชัดเจนเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ก่อนที่จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย

แซม สโตวาล หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนของ CFRA Research กล่าวว่า นักลงทุนในขณะนี้ก็รอดูไปก่อน แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีคือปัจจัยสำคัญ เนื่องจากความกังวลของเฟดบ่งเป็นนัยว่า ไม่รีบร้อนที่จะลดอัตราดอกเบี้ย จึงตอกย้ำว่า เฟดจะชะลอการลดอัตราดอกเบี้ยลง

นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลต่อการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันจากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง ว่าจะยิ่งทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น

นักลงทุนจับตาการรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมีนาคมในวันศุกร์นี้ ซึ่ง
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า จะลดลงมาที่ 200,000 ตำแหน่ง จาก 275,000 ในเดือนกุมภาพันธ์และอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 3.9%

หุ้น Levi Strauss พุ่ง16% หลังรายงานผลการดำเนินงานไตรมาสแรกดีกว่าคาดและปรับคาดการณ์ทั้งปีขึ้น

ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้น นำโดยกลุ่มที่มีผลการดำเนินงานได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโดยรวม(cyclical sectors) ทั้งเหมืองแร่ และยานยนต์ เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขั้นจากสัญญานการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนและคุมเงินเฟ้อได้

กลุ่มทรัพยากรพื้นฐานบวก 1.7% จากราคาทองแดงที่เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดรอบกว่า 14 เดือน

กลุ่มยานยนต์และกลุ่มธนาคารต่างเพิ่มขึ้นกว่า 1% หุ้น Volvo Cars บวก 6.7% หลังรายงานยอดขายเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

กิจกรรมทางธุรกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนขยายตัวในเดือนที่แล้วเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2023 แต่การฟื้นตัวยังไม่เท่าเทียมด้วยการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งเกินคาดในอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งช่วยชดเชยภาวะตกต่ำในภาคการผลิตที่ไหลลึกยิ่งขึ้นจากการสำรวจ

ข้อมูลอีกชุดหนึ่งแสดงให้เห็นว่าราคาผู้ผลิตยูโรโซนอ่อนตัวลง 1.0% ในเดือนกุมภาพันธ์เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะลดลง 0.7%

นักกลยุทธ์จาก BCA Research กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อล่าสุดในยุโรปแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และความแตกต่างในพลวัตของเงินเฟ้อนี้จะส่งผลฃให้ ECB ผ่อนคลายได้มากกว่าเฟด

ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ 510.84 จุด เพิ่มขึ้น 0.82 จุด, +0.16%

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,975.89 จุด เพิ่มขึ้น 38.45 จุด, +0.48%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 8,151.55 จุด ลดลง 1.68 จุด, -0.02%,

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 18,403.13 จุด เพิ่มขึ้น 35.41 จุด, +0.19%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้น 1.16 ดอลลาร์ หรือ 1.36% ปิดที่ 86.59 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 1.30 ดอลลาร์ หรือ 1.45% ปิดที่ 90.65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล