GULF ออกหุ้นกู้ปีนี้ 3 หมื่นล. แบ่งขายรายย่อยครั้งแรก

HoonSmart.com>>กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ เตรียมแผนออกหุ้นกู้ปี 2567 วงเงิน 35,000 ล้านบาท แบ่งขายนักลงทุนรายย่อยครั้งแรกเดือนส.ค.-ก.ย.ยืนเป้ารายได้โต 30% มองหาโอกาสลงทุนต่างประเทศต่อเนื่อง แนะรัฐกำหนดแผนการใช้ไฟฟ้าให้ชัด รับมือความต้องการใช้ไฟเพิ่มมหาศาลเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัล

น.ส.ยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยในงานประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ว่า ปี 2567 จะมีการใช้เงินกู้ภายในประเทศเป็นหลัก เพราะค่าเงินบาทที่อ่อน และ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลง คาดว่าจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินในประเทศ ทั้งจากสถาบันการเงิน และการออกหุ้นกู้ จะถูกกว่าการกู้จากต่างประเทศประมาณ 2% โดยบริษัทมีแผนที่จะออกหุ้นกู้ปีนี้ 30,000-35,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเพื่อรีไฟแนนซ์ ซึ่งได้ออกไปแล้ว 15,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ จะมีการออกหุ้นกู้อีก 15,000-20,000 ล้านบาท ในช่วงเดือนส.ค.หรือ ก.ย. เพื่อคืนเงินกู้บางส่วนและนำไปใช้ในการลงทุน โดยจะมีการแบ่งขายให้กับนักลงทุนรายย่อยเป็นครั้งแรก ซึ่งจะมีสัดส่วนเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ และคาดว่าในช่วงไตรมาส 3 อัตราดอกเบี้ยไทยน่าจะลงแล้ว

สำหรับ ค่าเงินบาทที่อ่อนลงมากนั้น ไม่กระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัท เพราะมีการจัดโครงสร้างเงินกู้ให้สอดคล้องกับโครงสร้างรายได้ตามสกุลเงินของแต่ละธุรกิจในลักษณะของ Natural Hedge โดยปัจจุบันต้นทุนทางการเงินของบริษัทอยูที่ 3.7% โดย 90% เป็นเงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ และ อีก 10% เป็น working capital

ขณะที่ รายได้ปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 30% จากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการกัลฟ์ ปลวกแดง (GPD) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าภายใต้กลุ่ม IPD หน่วยที่ 3 และ 4 จำนวน 1,325 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าหินกอง ที่ได้เปิดยูนิตหน่วยที่ 1 ไปแล้ว 170 เมกะวัตต์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โรงไฟฟ้า Solar Rooftop ซึ่งทยอยเปิดดำเนินการไปแล้วประมาณ 120 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยัง domestic renew คือโซล่าฟาร์ม ที่ประมูลมาเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาจะมีการเปิดดำเนินการอีก ประมาณ 5 โครงการ รวมประมาณ 500 เมกะวัตต์ รวมทั้งหมดในปีนี้จะเติบโตขึ้นอีกประมาณ 2,700 – 2,800 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จาก ธุรกิจ Data Center มี 2 เฟส โดยเฟสแรก  24 เมกะวัตต์ และเฟสที่ 2 อีก 24 เมกะวัตต์ ซึ่งเฟสแรกใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 2,500 – 3,000 ล้านบาท และมีกำไรตามสัดส่วนที่ถือหุ้น 40% จะเป็นเงินประมาณ 500-600 ล้านบาท โดยธุรกิจนี้มีโอกาสขยายเพิ่มอีก เนื่องจากความต้องการในการเก็บข้อมูลในอนาคตสูงมาก มาจาก Enterprise และรัฐบาล แล้วก็ลูกค้า consumer

ขณะที่ ธุรกิจกัลฟ์ไบแนนซ์ ตั้งเป้าส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 30-40% จุดแข็งอยู่ที่การใช้แพล็ตฟอร์มเทคโนโลยีจากไบแนนซ์ที่มีมาตรฐานระดับโลก ความปลอดภัยสูง สภาพคล่องทางการเงินสูง bid กับ offer จะแคบมาก และมีเหรียญมากที่สุดถึง 120  เหรียญ ค่าธรรมเนียมการซื้อขายต่ำที่สุด

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) กล่าวว่า ในอนาคตหากไทยเข้าสู่ธุรกิจดิจิทัล จะมีการสร้าง Data Center จำนวนมาก และพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของประชาชนจะเปลี่ยนไป เพราะจะมีการใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้น อุปกรณ์ต่างๆ จะต้องใช้ไฟ และในปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถ EV ก็มีการชาร์จ์ไฟที่บ้านมากขึ้น หากเข้าสู่ยุคดิจิทัลจริงๆ ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

“ฉะนั้น รัฐต้องกำหนดแผนการใช้ไฟให้ชัดขึ้น เราผู้ผลิตจะได้เตรียมตัว เพราะการใช้ไฟในอนาคต จะไม่ได้เกิดจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักเหมือนสมัยก่อนแล้ว ยิ่งเป็นธุรกิจดิจิทัล ทุกอย่างหันมาพึ่งไฟฟ้ามากขึ้น”นายสารัชถ์ กล่าว

นายสารัชถ์ กล่าวว่า บริษัทยังคงมองหาการลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศเวียดนาม, เยอรมนี, สหรัฐฯ, อังกฤษ และปัจจุบันยังมีการศึกษาการขยายการลงทุนในตะวันออกกลางด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูนโยบายของรัฐบาล สถานที่ที่เหมาะสม และความเสี่ยงต่างๆ ประกอบ เช่น ที่เวียดนาม ขณะนี้อยู่ระหว่างรอดูความชัดเจนจากทางการเวียดนาม

รวมถึง นโยบายด้านพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน รัฐบาลต้องเป็นผู้กำหนดกฎระเบียบให้ชัดก่อน บริษัทเป็นผู้ผลิตจะได้เตรียมตัวเข้าประมูล หรือในการสร้างก็ต้องจัดเตรียมหาสถานที่ ที่มีความยืดหยุ่นในการสร้างโรงไฟฟ้า เพราะโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทจะมีข้อจำกัดที่ต่างกัน เช่น โซล่าร์ฟาร์ม จะไปสร้างที่ภาคใต้ไม่ได้เพราะฝนตกทั้งปี ในขณะที่พลังงานลม จะไปสร้างหลังเขาก็ไม่ได้ เพราะภูเขากันลม และสายส่งของภาครัฐจะต้องพร้อมในการรองรับ

นายรัฐพล ชื่มสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GULF กล่าวถึงเป้าหมายในการลดปล่อยคาร์บอนว่า ในปี 2573 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 25% เมื่อเทียบกับปี 2562 และเป็นศูนย์ในปี 2593 โดยจะไม่ลงทุนในธุรกิจถ่านหิน สนับสนุนก๊าซธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนให้ถึง 40% ในปี 2578 เพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องโดยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และศึกษาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำใหม่ๆ

ทั้งนี้ GULF เป็นเอกชนรายแรกที่นำเข้าก๊าซ LNG เข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนก.พ.2567 จำนวน 62,000 ตัน จากที่ได้รับใบอนุญาตให้นำเข้า 7.8 ล้านตันต่อปี