PwC ไทย แนะ 4 ทางรอดบจ.ไทย ตะลึงCEO67%หวั่นธุรกิจไม่รอด

HoonSmart.com>>PwC ประเทศไทยแนะ 4 แนวทางสร้างธุรกิจใหม่รับมือ 2 เมกะเทรนด์โลก หลังผลสำรวจ CEO ไทย 67% หวั่นธุรกิจไม่รอดในทศวรรษหน้า

นาย พิสิฐ ทางธนกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า ได้เสนอ 4 แนวทางเพื่อการเริ่มต้นสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กับธุรกิจไทย เพื่อรับมือกับ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็น 2 เมกะเทรนด์ใหญ่ของโลก ดังนี้

1.จัดลำดับความสำคัญของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่และเสริมศักยภาพให้กับองค์กร ด้วยการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนและมีระเบียบวินัยในการดำเนินการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆรวมถึงจัดสรรเวลาและความพยายามในการจัดการเพื่อสร้างแผนงานการปรับเปลี่ยนธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นต่อการรองรับภัยคุกคามและโอกาสที่จะเกิดขึ้นอีกทั้งพิจารณาแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่รายงานตรงต่อผู้นำองค์กรเพื่อรับมือความท้าทายต่างๆ

2.ประยุทธ์ใช้เทคโนโลยีเพื่อระบุและจัดการความเสี่ยง โดย CEO ไทยควรใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มเทคโนโลยีควบคู่ไปกับความสามารถด้านข้อมูลการวิเคราะห์ขั้นสูงและข้อมูลเชิงลึกเพื่อระบุและจัดการความเสี่ยงในด้านต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.ขยายขอบเขตภารกิจด้านสภาพภูมิอากาศผ่านความร่วมมือ ซึ่ง CEO ไทยต้องแน่ใจได้ว่าประเด็นเรื่องความยั่งยืนถูกฝังลึกอยู่ในกระบวนการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆขององค์กรซึ่งรวมถึงการจัดการ portfolio โครงสร้างทางธุรกิจ วัฒนธรรมการทำงานและบุคลากร รวมทั้งแต่งตั้งผู้นำที่มีความสามารถที่เหมาะสมเพื่อเข้ามาช่วยจัดสรรทรัพยากรสำหรับโครงการริเริ่มด้านสภาพภูมิอากาศ

4.ผนวกกรอบการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบเข้ากับกลยุทธ์ขององค์กร CEO ไทยควรต้องพิจารณานำกรอบการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ มาผนวกเข้ากับกลยุทธ์ธุรกิจและสร้างความร่วมมือภายในองค์กรเพื่อเข้าใจว่าพนักงานของตนจะต้องพัฒนาทักษะในด้านใดควบคู่ไปกับความก้าวหน้าของ AI

4. ทางออกดังกล่าว เป็นผลมาจากการที่
PwC ประเทศไทย ได้ทำรายงานผลสำรวจความเชื่อมั่นของซีอีโอไทยปีล่าสุดพบว่า มุมมองของผู้บริหารต่อเศรษฐกิจโลก 45% คาดว่าจะลดลง ขณะที่ 45% เชื่อว่าจะดีขึ้นในปีนี้ และมีเพียง 27% เท่านั้นที่มั่นใจว่ารายได้ของบริษัทในปี 2567 จะเติบโตกว่าปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ซีอีโอไทยส่วนใหญ่ยังแสดงความกังวลว่าธุรกิจจะไปไม่รอดในอีก 10 ปีข้างหน้า หากยังดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิม ๆ หลังเจอแรงกดดันจากกระแสการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเข้ามาของเทคโนโลยี GenAI

อย่างไรก็ดี ซีอีโอไทยมากกว่าครึ่ง (52%) ที่ถูกสำรวจเชื่อว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้จะเติบโตกว่าปีก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อ (30%) ความเสี่ยงทางไซเบอร์ (24%) และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (21%) จะเป็นภัยคุกคามที่สำคัญสามอันดับแรกที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจในอีก 12 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ สองในสามของซีอีโอชาวไทย (67%) ไม่คิดว่าธุรกิจของพวกเขาจะสามารถอยู่รอดได้ในเชิงเศรษฐกิจในอีก 10 ปีข้างหน้า หากพวกเขายังคงดำเนินธุรกิจต่อไปบนเส้นทางปัจจุบัน

นาย พิสิฐ กล่าวว่า แม้ผลสำรวจในปีนี้จะพบว่า ซีอีโอไทยมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจภายในประเทศจะเติบโตได้ในปีนี้ แต่กลับไม่มั่นใจว่า รายได้ของบริษัทจะเติบโตขึ้นจากปีก่อน จึงมีความจำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องปรับรูปแบบธุรกิจ สินค้า และบริการเพื่อแสวงหาโอกาสในการเติบโตใหม่ ๆ ท่ามกลางภัยคุกคามและความท้าทายที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นอีก 2 เมกะเทรนด์โลกที่จะยิ่งเข้ามาเพิ่มแรงกดดันในการทำธุรกิจให้กับซีอีโอมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมองไม่ต่างจากซีอีโอไทยส่วนใหญ่ว่า

“หากยังไม่มีการพลิกโฉมธุรกิจเพื่ออนาคตข้างหน้า ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า หลาย ๆ ธุรกิจไทยก็อาจจะไปไม่รอดในอีก 10 ปีข้างหน้า”นายพิสิฐ กล่าว

นายพิสิฐ กล่าวว่า สำหรับปัจจัยเชิงบวกที่คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 น่าจะมาจากแนวโน้มการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตามสัญญาณการค้าโลกที่เริ่มฟื้นตัว เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวภายหลังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นจากปัจจัยส่งเสริมการเดินทาง เช่น การยกเว้นวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวในหลาย ๆ ประเทศ แต่ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณฯ ปี 2567 และอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวลง รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม

นอกจากนี้ 73% ของซีอีโอไทยยังกล่าวว่า การขาดความสามารถด้านเทคโนโลยี ถือเป็นอุปสรรคอันดับแรกที่จะส่งผลต่อการพลิกโฉมองค์กร (ในระดับปานกลาง มาก หรือมากที่สุด) ตามมาด้วยสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบ การลำดับความสำคัญของการปฏิบัติงานที่แข่งขันกัน และพนักงานขาดทักษะความสามารถที่ 57% เท่ากัน

“บริษัทในยุโรปและนิวซีแลนด์มีการลงทุนในเทคโนโลยีและ esg เป็นอันดับ 1 ของการลงทุนทั้งหมดเพื่อรองรับการขยายตัวในระยะยาว แต่บริษัทในเอเชียรวมถึงประเทศไทยยังไม่มีการลงทุนในด้านนี้มากนักเพราะมองไปที่ความคุ้มค่าในระยะสั้น โดยเฉลี่ยส่วนใหญ่แล้วค่าใช้จ่ายในการทดลงทุนด้านเทคโนโลยีและ esc หรือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจะอยู่ประมาณ 7-8% ของงบลงทุนของบริษัทในแต่ละปีแต่สิ่งนี้มุ่งหวังผลในระยะยาวเพราะโลกมาในเส้นทางนี้”นายพิสิฐ กล่าว