ดาวโจนส์ปิดร่วง 305 จุด แรงขายทำกำไร Nasdaq บวกต่อ

HoonSmart.com>> ดัชนีดาวโจนส์ร่วง 305 จุด แรงขายทำกำไรหลังดัชนีหลักทำนิวไฮ จากการส่งสัญญานผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ในปีนี้ ขณะที่ดัชนี Nasdaq ได้แรงซื้อกลับมาปิดบวก 0.16% ราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลง 44 เซนต์ ฟาก “ตลาดหุ้นยุโรป” ปิดผสม ใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 22มีนาคม 2567 ปิดที่ 39,475.90 จุด ลดลง 305.47 จุด หรือ -0.77% จากแรงขายทำกำไรหลังดชนีหลักทำนิวไฮ จากการส่งสัญญานผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ในปี 2024

ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,234.18 จุด ลดลง 7.35 จุด, -0.14%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,428.82 จุด เพิ่มขึ้น 26.98 จุด, +0.16%

ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์บวก 2% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 2.3% ส่วนดัชนี Nasdaq บวก 2.9%

วานนี้ดัชนี Nasdaq ช่วงแรกอยู่ในแดนลบ แต่กลับมาปิดบวกด้วยการปรับขึ้นของกลุ่มเทคโนโลยี หลังแนวโน้มการผ่อนคลายดอกเบี้ยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ในสัปดาห์นี้ที่ประชุมเฟดคงอัตราดอกเบี้ย แต่ยึดการคาดการณ์ดอกเบี้ย หรือ Dot Plot ว่า จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ครั้งในปีนี้

เบย์ลี เวคฟิลด์ผู้จัดการกองทุนจาก Avivaกล่าวว่า มีการขายทำกำไรในช่วงปลายสัปดาห์ บวกกับการซื้อขายลดลงก่อนเทศกาลอีสเตอร์ในสัปดาห์หน้า

เจเจ คินาฮาน ซีอีโอ IG North America และกรรมการผู้จัดการ Tastytrade กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ นอกจากข่าวเฟดแล้ว ไม่มีข่าวใหญ่อื่นที่จะหนุนตลาด

อย่างไรก็ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างที่ไม่คาดมาก่อนของธนาคารกลางสวิสและการคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษในวันพฤหัสบดี ดันให้ดัชนีหลักทำนิวไฮ เพราะเทรดเดอร์เห็นว่าธนาคารกลางทั่วโลกไม่ได้คอยให้เฟดลดดอกเบี้ยก่อนแล้วค่อยลดตาม

คีธ เลอร์เนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนร่วมของ Truist กล่าวว่า แนวโน้มโดยรวมยังคงมีผลบวกต่อตลาด โดยเฉพาะเมื่อมีการทำระดับสูงสุดใหม่เป็นเดือนที่ห้าติดต่อกัน ซึ่งก็มากพอที่จะทำให้ตลาดเดินหน้าไปอีก

สำหรับความเคลื่อนไหวของหุ้นรายตัว หุ้นFedEx บวกกว่า 7% หลังรายงานผลการดำเนินงานที่ปรับใหม่ดีกว่าคาด หุ้น Nike ร่วง 6.9% หลังคาดการณ์ผลการดำเนินงานไม่สดใสและยอดขายในจีนชะลอ
      
หุ้น Lululemon ลดลง 15.8% หลังคาดการณ์ผลประกอบการที่อ่อนแอและการเติบโตในอเมริกาเหนือชะลอตัว
      
สัปดาห์หน้าในด้านการรายงานข้อมูลมีไม่มากนัก แต่ก็มีการแจ้งผลประกอบการและการเผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญบางตัว ทั้งคำสั่งซื้อสินค้าคงทน ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE)

      
ตลาดหุ้นยุโรปปิดผสม ใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในวันศุกร์ โดยตลาดหุ้นอังกฤษ เยอรมัน และอิตาลีปรับขึ้นดีกว่าหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค หลังจากการส่งสัญญาณเชิงบวกจากธนาคารกลางประเทศหลักในสัปดาห์นี้
   
ดัชนี STOXX 600 ปิดลบวานนี้แต่ปรับขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 9 ติดต่อกัน หลังจากทำสถิติall-time high อีกครั้งในช่วงเช้าของวัน
      
การลดลงของหุ้นเทคโนโลยีที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยและสินค้าส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน ตามตลาดจีน ถูกกลบด้วยการเพิ่มขึ้นของหุ้นสาธารณูปโภคและอสังหาริมทรัพย์
      
ยอดค้าปลีกของอังกฤษทรงตัวเกินคาดในเดือนกุมภาพันธ์ แม้ว่าสภาพอากาศชื้นกระทบยอดขายในร้านค้า ยิ่งเป็นสัญญาณมากขึ้นของการฟื้นตัวจากภาวะถดถอยเล็กน้อยในปีที่แล้ว
      
แอกเซล รูดอลฟ์ นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสของแพลตฟอร์มการซื้อขายออนไลน์ IG กล่าวว่า ดัชนีFTSE 100 น่าจะแตะระดับ 8,000 ได้ เนื่องจากเงินของนักลงทุนมุ่งหน้าสู่ตลาดหุ้นอังกฤษที่มีมูลค่าต่ำ แม้ยอดค้าปลีกจะทรงตัวก็ตาม
      
ตลาดหุ้นเยอรมนีปรับขึ้นหลังผลสำรวจชี้ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจปรับตัวดีขึ้นเกินคาดในเดือนมีนาคม จากการรายงานของสถาบัน Ifo โดยดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจอยู่ที่ 87.8 ซึ่งสูงกว่า 86.0 ที่นักวิเคราะห์คาด
      
ในตลาดอิตาลี Santanderซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับสองของยูโรโซนวัดจากมูลค่าตลาดบวก 2% หลังประกาศจะจ่ายเงินปันผลและการซื้อคืนรวมมูลค่ามกว่า 6 พันล้านยูโร (6.50 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2024
      
ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการที่นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรปบอกกับผู้นำสหภาพยุโรปที่ร่วมประชุมในกรุงบรัสเซลส์ว่า อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนจะดลลงต่อเนื่อง ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวในปีนี้
      
ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 509.64 จุด ลดลง 0.13 จุด, -0.03%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,930.92 จุด เพิ่มขึ้น 48.37 จุด, +0.61% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบปี
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 8,151.92 จุด ลดลง 27.80 จุด, -0.34%,
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 18,205.94 จุด เพิ่มขึ้น 26.69 จุด, +0.15%
      
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคมลดลง 44 เซนต์ หรือ 0.54% ปิดที่ 80.63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคมลดลง 35 เซนต์ หรือ 0.41% ปิดที่ 85.43 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล