โบรกฯ ปรับเพิ่มคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น KTB คลายกังวลสินเชื่อ ITD ต่ำสุดกลุ่มแบงก์ใหญ่

HoonSmart.com>> “บล.ฟินันเซีย ไซรัส” ปรับเพิ่มคำแนะนำหุ้น KTB จาก “ถือ” เป็น “ซื้อ” สะท้อนความกังลดลงเกี่ยวกับปล่อยกู้ ITD ต่ำสุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ตั้งสำรองเต็มจำนวน ด้านราคาหุ้นร่วงกว่า 12% ตั้งแต่ต้นปี underperform กลุ่มแบงก์ ตั้งเป้าสินเชื่อโต 3% แนวโน้มต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อลดลง คาดเตรียมยื่นขอไลเซ่นส์ Virtual bank ต่อยอดธุรกิจ ให้ราคาเป้าหมาย 19.80 บาท ด้านหุ้น KTB ปิดภาคเช้าบวก 3.73% วอลุ่มสูงสุดในตลาด

หุ้นธนาคารกรุงไทย (KTB) เช้าวันที่ 22 มี.ค.นี้ ปรับตัวขึ้นโดดเด่นสวนตลาดและปิดภาคเช้าที่ 16.70 บาท เพิ่มขึ้น 0.60 บาท หรือ +3.73% มูลค่าการซื้อขาย 2,166.72 ล้านบาท

บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส ปรับเพิ่มคำแนะนำลงทุนเป็น BUY จากเดิม HOLD เพื่อสะท้อนความกังวลที่ลดลงเกี่ยวกับประเด็นเรื่องคุณภาพสินทรัพย์หลังการประชุม analyst เช้านี้ (22 มี.ค.) อีกทั้งราคาหุ้น YTD ที่ปรับตัวลดลงมากกว่า 12% (underperform มากเทียบกับกับ SETBANK และ SET ที่ลดลงเฉลี่ย 3% ในช่วงเดียวกัน) ภายหลังประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2/67 ที่หดตัวลงมาก ซึ่งเราเชื่อว่าได้สะท้อนปัจจัยลบต่างๆ ไปมากแล้ว โดย P/BV ปัจจุบันที่ 0.55 เท่า เริ่มต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 0.6 เท่า และต่ำกว่าราคาเป้าหมายที่ P/BV 0.65 เท่า อิง GGM ที่คาดการณ์ LT-ROE 8% และ COE 11.8% ขณะที่ราคาเป้าหมาย 19.80 บาท

ประเด็นหลัก 1) ธนาคารฯ ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีของลูกหนี้ ITD ที่เป็นกังวลในช่วงที่ผ่านมา แม้ไม่มีการเปิดเผยมูลหนี้ แต่คำนวณโดยคร่าวจากสินเชื่อใน stage 2 ที่เพิ่มขึ้นมาราว 5.60 พันล้านบาทใน 4Q23 KTB ได้กันสำรอง (ไม่คิดหลักประกัน) ครบถ้วนแล้ว 100% พร้อมยืนยันว่าในบรรดา ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ ด้วยกัน KTB มีการปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้ต่ำที่สุด และในกรณีที่ข้อตกลงร่วมกันระหว่างธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ว่าให้มีการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติม ก็ให้จัดชั้นเป็นสินเชื่อ stage 2 และกันสำรองเต็มจำนวนเช่นกัน ซึ่งนอกจากลูกหนี้ ITD ยังได้รวมไปถึงกลุ่ม supply chain ที่เกี่ยวข้องและ contingent liabilities ที่ได้สำรองแล้วเต็มที่เช่นกัน เราจึงมีความเห็นว่าข้อมูลนี้ช่วยลดทอนความกังวลไปได้มาก

2) Guidance ปี 2024 ที่เพิ่งมีการเปิดเผย ส่วนใหญ่ยังสอดคล้องกับประมาณการปี 2567 ยกเว้นเป้าหมายสินเชื่อที่ KTB ตั้งเป้า 3% y-y (รวมสินเชื่อภาครัฐ) แต่เราคาด 1% y-y เนื่องจากสินเชื่อภาครัฐที่มีความผันผวนและคาดเดายาก จึงยังคงเป้าหมายสินเชื่อที่เราคาดไว้ ขณะที่เป้าหมาย credit costs เป็นไปในทิศทางลงจากปี 2566 ที่ 143bp มาที่ 120-130bp ขณะที่เราคาด 140bp ตามนโยบายระมัดระวัง ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็น upside ต่อประมาณการ (ทุก 10bp ของ credit costs ที่ลดลง จะบวกต่อกำไรสุทธิปี 2567 เท่ากับ 5.5%)

3) Virtual bank ที่มีแนวโน้มการยื่นขอ license จาก ธปท. โดย KTB เชื่อว่าประโยชน์หลักๆ ที่จะได้รับคือ 1) การต่อยอดธุรกิจใน ecosystem ของธนาคารฯ และกลุ่มพันธมิตรที่เข้าร่วมลงทุน และ 2) ฐานลูกค้าใหม่ๆ ที่จะได้มาจากแหล่งภายภายนอกที่พันธมิตรมี ซึ่งธนาคารฯ ไม่สามารถเจาะฐานลูกค้าใหม่ๆ ไปได้ถึงขนาดนั้น ทั้งนี้ KTB มั่นใจว่าเทคโนโลยีด้าน IT ปัจจุบันที่มีอยู่มีความแข็งแกร่งมากและไม่เป็นรองคู่แข่ง ส่วนพันธมิตรก็มีความแข็งแกร่งในแต่ละด้าน โดยแนวโน้มเงินลงทุนใน VB ไม่ได้เป็นภาระต่อธนาคารฯ ขณะที่ KTB ยังคงเป้างบลงทุนด้าน IT ของตนเองในระดับเดิมคือปีละ 1 หมื่นล้านบาท

ด้านบล.หยวนต้า เผยความกังวลต่อกรณี ITD ลดลงเนื่องจากธนาคารให้ข้อมูลว่ามีการตั้งสำรองไว้เพียงพอแล้วตั้งแต่ไตรมาส 4/66 และเป็นธนาคารที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากการผ่านร่างงบประมาณปี 2567