ดาวโจนส์ปิดทรุด 1,014 จุด วิตกสงครามการค้าสหรัฐ-จีน

HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้ง 3 ดัชนีหลักปิดทรุดอีกครั้ง ดาวโจนส์ร่วง 1,014.79 จุด กว่า -2.50% นักลงทุนกังวลเศรษฐกิจอาจชะลอตัวจากขึ้นภาษีจีนในอัตราสูง วิตกสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนทวีความรุนแรงขึ้น แม้ทรัมป์ยืดเวลาขึ้นภาษีประเทศคู่ค้า 90 วัน ด้าน “ราคาน้ำมันดิบ” ลดลงกว่า 3% ฟาก “ตลาดหุ้นยุโรป” ปืดพุ่ง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average: DJIA) วันที่ 10เมษายน 2568 ปิดที่ 39,593.66 จุด ลดลง 1,014.79 จุด หรือ -2.50% จากที่ปรับขึ้นแรงในวันก่อนหน้าหลังการประกาศผ่อนผันภาษีศุลกากร 90 วัน ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศผ่อนผันภาษีศุลกากร 90 วัน เพราะนักลงทุนกังวลว่าแม้มีการระงับภาษีบางส่วนชั่วคราว แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจชะลอตัวลงจากการที่ทรัมป์ขึ้นภาษีจีนประเทศเดียวในอัตราที่สูงขึ้นมาก และอาจกลายเป็นการเผชิญหน้าโดยตรงกับจีน

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 5,268.05 จุด ลดลง 188.85 จุด, -3.46%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,387.31 จุด ลดลง 737.66 จุด, -4.31%

ตลาดดิ่งลงหลังจากที่ทำเนียบขาวยืนยันกับ CNBC เมื่อวันพฤหัสบดีว่าอัตราภาษีศุลกากรรวมสำหรับจีนจะรวมเป็น 145%ไม่ใช่ 125% ที่ปรับไปในวันก่อน

หุ้นที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ Apple ซึ่งลดลง 4.2% ตลาดคาดว่า Apple จะเป็นหนึ่งในหุ้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทผลิตในจีน

หุ้นTesla ลดลง7.3% ตามลำดับ หุ้นNvidia ลดลงเกือบ 6% หุ้น Meta Platforms ลดลงเกือบ 7%

หุ้นทุกกลุ่มปรับตัวลง นำโดยหุ้นพลังงานจากราคาน้ำมันที่ลดลง 6.4% จีนเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุด หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีลดลง 4.5%

ตลาดกำลังประเมินความรุนแรงของทรัมป์ที่เพิ่มขึ้นในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนขณะที่ระงับการเก็บภาษีคู่ค้าหลายรายของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์กล่าวในช่วงบ่ายว่า เขาไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ที่จะขยายระยะเวลาการระงับใช้ภาษีศุลกากรออกไป

“เราคงต้องรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น” ทรัมป์กล่าวในการประชุมคณะรัฐมนตรี

โดยรวมแล้วภาษีที่ยังมีผลบังคับใช้คือ ภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนทั้งหมด 145% ภาษีนำเข้าอลูมิเนียม รถยนต์ และสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโก 25% ที่ไม่อยู่ภายใต้ข้อตกลงสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก-แคนาดา และภาษีนำเข้าสินค้าอื่นๆ ทั้งหมด 10% ซึ่งอาจยังคงนำไป ราคาที่สูงขึ้นและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

บทวิเคราะห์ของ Morgan ระบุว่า Stanley แม้จะมีการเลื่อนการบังคับใช้ภาษีบางรายการ แต่การขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนก็ทำให้ภาษีนำเข้าที่แท้จริงอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

นักวิเคราะห์ของ Rabobank กล่าวว่า สงครามการค้ากำลังกลายเป็นการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งอาจเห็นความรุนแรงเพิ่มขึ้นและคลายลงอีกครั้งในเวลาเดียวกัน ส่งผลให้ตลาดไปในทิศทางที่แตกต่างกัน

ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก พุ่งขึ้น 21.12% ปิดที่ 40.72

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่รายงานเมื่อคืนนี้ได้แก่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)เดือนมีนาคมจากกระทรวงแรงงาน ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวลงจาก 2.8% ในเดือนกุมภาพันธ์ และต่ำกว่า 2.5%ที่นักวิเคราะห์คาด ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวลงจาก 3.1% ในเดือนกุมภาพันธ์ และต่ำกว่า 3.0%ที่นักวิเคราะห์คาด
นักลงทุนจับตาการรายงาน ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมีนาคม และผลประกอบการของธนาคารรายใหญ่ ทั้ง JPMorgan Morgan Stanley และ Wells Fargo ในวันศุกร์นี้ เพื่อประเมินสัญญาณภาวะเศรษฐกิจ

ตลาดหุ้นยุโรปปิดพุ่งขึ้น โดยดัชนีส่วนใหญ่ปรับขึ้นภายในวันเดียวสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2022 หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ระงับการเก็บภาษีศุลกากรต่างตอบแทนกับคู่ค้าส่วนใหญ่ ส่งผลให้มีการฟื้นตัวอย่างมากหลังจากที่มีการเทขายอย่างหนัก

ต่อมาสหภาพยุโรปได้ระงับการใช้มาตรการตอบโต้ต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่าราว 21,000 ล้านยูโร

ตลาดหุ้นหลักในภูมิภาคพุ่งขึ้นระหว่าง 3% ถึง 4.7% โดยดัชนีของเยอรมนี สเปน และสหราชอาณาจักร เพิ่มขึ้นดีที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 ดัชนี CAC 40 ของฝรั่งเศสพุ่งขึ้น 3.8%
ซึ่งเป็นวันที่ดีที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2022

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนยังคงมีอยู่ เพราะทรัมป์ยังคงเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนอีก รวมถึงยังคงเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์และเก็บภาษีพื้นฐาน 10%

ดัชนีความผันผวนของตลาดหุ้นยูโรโซนยังอยู่ในระดับสูงถึง 37 จุด ซึ่งสะท้อนว่านักลงทุนยังคงคาดว่า ตลาดจะมีความผันผวนอย่างมาก

ตลาดเงินลดการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป(ECB)ในการประชุมเดือนนี้ โดยมองว่ามีโอกาส 97% ที่ ECBจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนเมษายน จากที่คาดการณ์ไว้เต็ม 100% ในวันก่อนหน้านั้น และคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ถึง 3 ครั้งภายในสิ้นปีนี้

หุ้นทุกกลุ่มปรับตัวสูงขึ้น โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในเดือนนี้ ทั้งกลุ่มธนาคาร กลุ่มเหมืองแร่ และพลังงาน พากันปรับขึ้น 5.2%, 3.8% และ 2.5% ตามลำดับ ดัชนีธนาคารที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยยังทำผลงานได้ดีที่สุดในรอบกว่า 3 ปี

ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 487.28 จุด เพิ่มขึ้น 17.39 จุด, +3.70%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,913.25 จุด เพิ่มขึ้น 233.77 จุด, +3.04%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,126.02 จุด เพิ่มขึ้น 263.00 จุด, +3.83%,
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 20,562.73 จุด เพิ่มขึ้น 891.85 จุด, +4.53%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 2.28 ดอลลาร์ หรือ 3.66% ปิดที่ 60.07 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน ลดลง 2.15 ดอลลาร์ หรือ 3.28% ปิดที่ 63.33 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 
 
 
 
 
 
———————————————————————————————————————————————————–