ญี่ปุ่นขึ้นดบ.ครั้งแรกรอบ 17 ปี จับตาเฟด ฟันด์โฟลว์ไม่รีบคืนเงิน’เยนแครี่เทรด’

HoonSmart.com>>ตามคาด! ญี่ปุ่นขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี เลิก 2 มาตรการ ค่าเงินอ่อน 150 เยน/ดอลลาร์  นิเคอิขึ้นทะลุ 40,000 จุด บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง คาดนักลงทุนไม่ต้องรีบปรับพอร์ตคืนเงินเยน  ห้องค้ากสิกรไทยคาดเยนอ่อนจำกัดแถว 152 เยน มีโอกาสแข็งทดสอบ  145 เยน  ไทยพาณิชย์คาดเฟดมีโอกาส่งสัญญาณ Hawkish  หุ้นไทยลบ 3.48 จุด  ต่างชาติทิ้งหนัก 18,801.70 ล้านบาท เกิดจากดีลบิ๊กล็อต AWC-F รวม 17,938.80 ล้านบาท  พรุ่งนี้มีอีกล็อต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า ในการประชุมวันที่ 19 มี.ค. 2567 ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ (7-2) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 17 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2550 จากระดับ -0.1% มาอยู่ที่ระดับ 0-0.1% พร้อมทั้งประกาศยุติมาตรการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (yield curve control) และยุติการเข้าซื้อกองทุน ETFs และ REITs แต่ยังคงรักษาระดับการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นไว้ในปริมาณใกล้เคียงเดิม

การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ BOJ ในครั้งนี้ถือเป็นการสิ้นสุดดอกเบี้ยติดลบที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2559 และกลับทิศนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างมาก (Ultra loose monetary policy) ที่ดำเนินมายาวนาน อย่างไรก็ดี จากถ้อยแถลงของ BOJ สะท้อนว่าจะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอยู่ และจะไม่ได้ปรับทิศนโยบายการเงินมาเป็นแบบตึงตัวดังเช่นในสหรัฐฯ และยุโรป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับทิศนโยบายการเงินของญี่ปุ่นรอบนี้เป็นการส่งสัญญาณการปรับนโยบายการเงินให้เป็นปกติ และเป็นจุดตั้งต้นให้การเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเดินหน้าอย่างยั่งยืนโดยไม่ต้องมีนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างมาก (Ultra loose monetary policy) คอยประคองเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างมายาวนาน แต่หนี้สาธารณะที่อยู่สูงกว่า 260% ของ GDP ยังคงเป็นข้อจำกัดในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป

ห้องค้ากสิกรไทยประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินเยนในระยะถัดไปมีจำกัดแล้วที่ราว 152 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อ BOJ ขยับนโยบาย
ไปในทิศทางตึงตัวมากขึ้นเงินเยนมีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 145 เยนได้ โดยเฉพาะเมื่อเฟดลดดอกเบี้ยชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

ด้านนายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์  เปิดเผยว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury yields) เดือนที่ผ่านมาผันผวนสูงตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ  แต่หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ออกมาสูงกว่าคาด Treasury yields กลับมาสูงขึ้น แนวโน้ม Sideways ในระดับสูง โดยมอง Yield อายุ 10 ปี ที่กรอบราว 4.15-4.45% ในช่วง 1 เดือนนี้

ประเด็นที่ต้องจับตาในช่วงนี้คือผลการประชุมเฟด ซึ่งมีโอกาสที่จะส่งสัญญาณ Hawkish ทำให้ Yields อาจขึ้นต่อได้เล็กน้อย กล่าวคือ 1) เฟดน่าจะปรับประมาณการเศรษฐกิจขึ้น 2) มีโอกาสที่ Dot plot รอบนี้อาจถูกปรับสูงขึ้น เพราะ SCB FM ประเมินว่า Nominal neutral rate ณ สิ้นปีนี้อาจอยู่ที่ราว 4.5% ทำให้เฟดอาจคง Dot plot ปีนี้ตามเดิม อย่างไรก็ดี ในปี 2568-2569 Neutral rate มีแนวโน้มอยู่ที่ราว 3.9% และ 3.6% ทำให้มีโอกาสที่ Dot plot อาจถูกปรับขึ้นได้

สำหรับอัตราดอกเบี้ยไทย ตลาดมอง กนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป 2 ครั้งในปีนี้ โดยมีโอกาส 80% ที่จะลดดอกเบี้ยครั้งแรกเดือน เม.ย. และจะลดอีกครั้งในเดือน ต.ค.  แต่ SCB FM มองว่าโอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาดมีสูงขึ้น โดยอาจลดดอกเบี้ย 2 ครั้งติดต่อกันในเดือน เม.ย. และ มิ.ย. ลูกค้าจึงอาจพิจารณา Pay fixed ผ่าน THOR OIS 2y ราว 2.00% หรือต่ำกว่าได้

ด้านค่าเงินบาท คาดโดยเฉลี่ยจะอยู่ในกรอบ 35.70-36.20 ในช่วง 1 เดือนจากนี้ โดยปัจจัยที่อาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้คือ การประชุม เฟดสัปดาห์นี้ ซึ่งหากอ่อนค่าที่ราว 36.10-36.40 ก็มองว่าเป็นระดับที่ผู้ส่งออกอาจพิจารณาขายได้ ส่วนปัจจัยที่อาจทำให้เงินบาทแข็งค่าได้คือ เลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่อาจชะลอลง และการปรับฐานของราคา Bitcoin อาจทำให้ราคาทองคำลดลง โดยหากแข็งค่าที่ราว 35.40-35.70 ก็มองว่าเป็นระดับที่ผู้นำเข้าอาจพิจารณาซื้อได้

ตลาดหุ้นในภูมิภาค ส่วนใหญ่ปรับตัวลง ยกเว้นญี่ปุ้น ส่วนไทยปิดที่ 1,382.46 จุด ลดลง 3.48 จุด หรือ -0.25% มูลค่าซื้อขาย 54,059.85 ล้านบาท  เกิดจากต่างประเทศขายสุทธิ 18,801.70 ล้านบาท นักลงทุนไทยซื้อ  17,937.99 ล้านบาท แรงขายของต่างชาติมาจากบิ๊กล็อตหุ้น AWC-F 5 รายการ จำนวน 4,530 ล้านหุ้น มูลค่าซื้อขาย 17,938.80 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 3.96 บาท/หุ้น เกิดจากการปรับโครงสร้างของกลุ่มผู้ถอหุ้นรายใหญ่ โดย”ทีซีซีกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล ” โอนหุ้น AWC 28.31% ของหุ้นทั้งหมด หรือประมาณ 9,000 ล้านหุ้น ให้กับ บริษัท ทีซีซี รีเทล การทำรายการจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 19- 20 มี.ค.2567 เริ่มโอนวันนี้ จำนวน 4,530 ล้านหุ้น คิดเป็นประมาณ 14% พรุ่งนี้จะมีอีกล็อต

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า หุ้นวันนี้เคลื่อนไหวบวก-ลบแคบ ๆ ไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามา  รอดูผลประชุมเฟดในคืนวันพรุ่งนี้ ส่วนผลประชุม BOJ มองเป็นสัญญาณที่ไม่ดี  ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร  สูงได้ จากที่ญี่ปุ่นมีความเข้มงวดนโยบายการเงินมากขึ้น เป็นเพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นดี

แนวโน้มการลงทุนในวันพรุ่งนี้ (20 มี.ค.) นายอภิชาติ กล่าวว่า ตลาดคงจะแกว่งแคบ โดยมีแนวรับ 1,380 จุด แนวต้าน 1,395 จุด

นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง กล่าวว่า BOJ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน้อย ไม่มีผลต่อทิศทางฟันด์โฟลว์  ส่วนเฟดก็ไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ย เงินเยนก็คงจะยังอ่อนอยู่ ซึ่งจะดีต่อการส่งออกของญี่ปุ่น แต่ถ้าเงินเยนแข็งค่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็จะปรับตัวลง

“นโยบายของ BOJ ชัดเจนยังไม่เร่งรีบขึ้นดอกเบี้ย ทำให้นักลงทุนไม่จำเป็นต้องรีบปรับ Carry trade เพราะการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้แค่นิดเดียว ไม่มีผลต่อทิศทาง Fund Flow แต่ก็ต้องรอดูว่าญี่ปุ่นจะมีมาตรการอะไรออกมาอีกหรือเปล่า เพราะได้มีการยกเลิกมาตรการ Yield Curve Control แล้ว ซึ่งวันนี้เงินเยนอ่อนค่ามาที่ 150.1 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากเมื่อวานนี้เงินเยนอยู่ที่ 149.1 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และเคยทำจุดสูงสุดที่ 152 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ  ถ้าเงินเยนอ่อนค่ามากกว่านี้แล้ว ญี่ปุ่นจะทำอย่างไร จะแทรกแซงยังไง เพราะไม่มี Yield Curve Control แล้ว คงจะต้องติดตามดูต่อไป ส่วนเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงอยู่ในสถานะที่แข็งค่าอยู่จนกว่าจะรู้ผลประชุมเฟด อิทธิพลของเฟดมีมากกว่า BOJ โอกาสที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยมีน้อย”นายถนอมศักดิ์กล่าว