GUNKUL ฉลุยโต 20%-ปี 69 พุ่งฉิว ลั่นทุนพร้อม ทุกธุรกิจแกร่ง เพิ่มลูกค้า  

HoonSmart.com>>”กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง” (GUNKUL) ขาขึ้น ทำธุรกิจแห่งอนาคตครบวงจร มั่นใจปี 67-68 โต 20% ต่อปีสบายๆ เป้าทะลุ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 69 ยิ่งดีเปิด COD ไฟฟ้า เดินหน้าประมูลพลังงานทดแทน มีเงินพร้อมลงทุน  ยันไม่เพิ่มทุน เดินหน้าซื้อหุ้นคืน ปันผลไม่ต่ำกว่า 40%  ธุรกิจเทรดดิ้ง-ก่อสร้าง-ไฟฟ้ากอดงานในมือเพียบ พร้อมโต  เดือนก.ค.เปิดขายหุ้นกู้ล็อตใหม่ หลังชิมลาง 800 ล้านบาทล้น 3 เท่า ดอกเบี้ยต่ำ 4.25% ต่อปี 

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทฯ คาดรายได้เติบโตปีละ 20% ในปี 2567-2568 ส่วนปี 2569 เป็นต้นไป จะเติบโตก้าวกระโดดจากการเริ่มเปิดขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ

” บริษัทไม่มีการเพิ่มทุนแน่นอน ไม่มีปัญหาเรื่องแหล่งเงินทุน มีกระแสเงินสดเพียงพอ สัดส่วนหนี้ที่มีดอกเบี้ยต่อทุนต่ำเพียง 1 เท่า ขยายได้ถึง 3 เท่า หรือก่อหนี้ได้สบาย 3 หมื่นล้านบาท บริษัทเพิ่งประสบความสำเร็จในการขายหุ้นกู้ จำนวน 800 ล้านบาท มีความต้องการซื้อล้นถึง 3 เท่า””นางสาวโศภชากล่าว

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายการใช้เงินชัดเจน นอกจากการลงทุนแล้ว ยังใช้เงินเพื่อซื้อหุ้นคืน และจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของงบการเงินเฉพาะบริษัท

ดร.สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เปิดเผยว่า เป้าหมายการเติบโตในปี 2567และ 2568 ปีละ 20% มีความเป็นไปได้ เนื่องจากทุกธุรกิจมีงานในมือ (Backlog) และมีการเติบโตขึ้นชัดเจน  เป้าหมายที่ตั้งมีการคำนึงถึงจุดเสี่ยงความล่าช้าของการใช้งบประมาณแล้ว คาดว่าในปี 2567 จะมีรายได้ประมาณ 9,000 ล้านบาท และทะลุ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2568 จากปี 2566 ทำได้ 7,737.13 ล้านบาท โดยเตรียมพร้อมเข้าประมูลซื้อขายไฟฟ้าพลังงานทดแทนรอบใหม่ คาดแผน PDP ใหม่จะออกมาภายในปีนี้ และยังรับงานติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปอย่างต่อเนื่อง

บริษัทแตกต่างจากบริษัทพลังงานทั่วไป โครงสร้างรายได้มาจากธุรกิจหลากหลายที่มีการเติบโตชัดเจน เช่น งานก่อสร้างและวางระบบทางด้านวิศวกรรม (EPC) ตั้งเป้ารายได้ 4,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) จำนวน 4,800 ล้านบาท ตั้งเป้าเพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท รวมเป็น 6,800 ล้านบาท คาดจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้  2,000 ล้านบาท  งานในมืออาทิเช่น ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ (โซลาร์ฟาร์ม) ของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาวเวอร์ (TPIPL) และรอการประมูลอีกหลายโครการ รับงานขนาดใหญ่ขึ้น งานก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 เควี  จากก่อนหน้านี้ได้รับงานก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าขนาด 230 เควีไปแล้ว

ส่วนธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า (เทรดดิ้ง) คาดเติบโต 20% หรือประมาณ  2,000 ล้านบาท มีสินค้าที่เตรียมไว้ขายในปีก่อน แต่ ติดในเรื่องการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่  การจัดทำงบประมาณล่าช้า จึงจะนำมามาขายในปีนี้แทน รวมกับยอดขายใหม่

ธุรกิจผลิตไฟฟ้า บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนในประเทศ ได้รับเลือกในกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 จำนวน 17 โครงการ รวม 832.4 เมกะวัตต์ (MW) ได้เข้าลงนามสัญญาซื้อขายไฟแล้ว จำนวน 14 โครงการ รวม 621.4 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด ส่วนที่เหลือจะมีการเซ็น PPA ในลำดับถัดไป ซึ่งการก่อสร้างจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี คาดว่าจะเริ่มสร้างรายได้ในปี 2569 เป็นต้นไปทำให้การเติบโตก้าวกระโดด

แนวโน้มธุรกิจของ GUNKUL มีโอกาสเติบโตชัดเจน โรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานถ่านหินจะหมดอายุ 25 ปี หากครบอายุ 1,000 MW จะต้องเติมโซลาร์ฟาร์มประมาณ  4,000-5,000 MW จะต้องเติมแบตเตอรี่ด้วย เพื่อให้กักเก็บพลังงาน ขณะที่ราคาแบตเตอรี่ถูกลง มีการพัฒนาประสิทธิภาพดีขึ้น

นางสาวนฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการสายงานกลยุทธ์การลงทุนและนวัตกรรมของบริษัท GUNKUL กล่าวว่า บริษัททำธุรกิจที่เป็นห่วงโซ่พลังงานครบวงจร ทำให้มีรายได้กว้างกว่าคู่แข่ง และได้มาร์จิ้นที่มากกว่า ขณะที่พลังงานสะอาดที่ได้มาแล้ว 832 MW และแผน PPA จะเพิ่มไฟฟ้าพลังงานทดแทน รวมถึงเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต ความต้องการใช้รถยนต์ EV กำลังเข้ามา ทำให้ความต้องการพลังงานสะอาดจะต้องไป บริษัทเตรียมพร้อมประมูลโครงการใหม่ๆด้วย

นายฐิติพงศ์ เตชะรัตนยืนยง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สายงานกลุ่มการเงินและบัญชี  GUNKUL  กล่าวว่า เมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัทประสบความสำเร้จในการออกและเสนอขายหุ้นกู้จำนวน 800 ล้านบาท อายุ 2 ปี 9 เดือน อัตราดอกเบี้ย 4.25% ต่อปี ถือว่าต่ำมากสำหรับเรทติ้ง BBB+ ความต้องการจองซื้อล้นถึง 3 เท่า

” เราออกหุ้นกู้ล็อตนี้ เพื่อทดสอบนักลงทุนถึงการตอบรับหุ้นกู้ GUNKUL  เพื่อเตรียมพร้อมในการเสนอขาย สำหรับหุ้นกู้ที่จะครบอายุประมาณ เดือนก.ค. จำนวน 1,800 ล้านบาท กำลังพิจารณาว่าจะออก 1,000 ล้านบาท หรือออก 1,800 ล้านบาททั้งหมด เพื่อสำรองเงินไว้สำหรับการลงทุนด้วย  ซึ่งจะต้องพิจารณาแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของสหรัฐก่อน อย่างไรก็ตาม บริษัทมีอิบิทดา 4,000 ล้านบาท สามารถใช้เป็นฐานทุน 30% ในการขอสินเชื่อ 70%