HoonSmart.com>>บล.กรุงศรี คาดผลกระทบจากแผ่นดินไหวมีผลต่อ SET ลดลงช่วงสั้นราว -1.8% ถึง -3% กรอบตั้งรับ 1,155- 1,130 จุด และจะค่อย ๆ ฟื้นใน 3 วัน หากไม่มีปัจจัยลบใหม่ หวังรัฐบาลมีแผนฟื้นฟู-กระตุ้นเศรษฐกิจตามมา ประเมินหุ้นหลายกลุ่มรับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทั้งกลุ่มอสังหาฯ(แนวสูง)-กลุ่มประกัน-หุ้นที่มีธุรกิจในเมียนมาร์-กลุ่มท่องเที่ยว รวมถึงกลุ่มเกี่ยวโยงกับตึกถล่มในกทม.
บล.กรุงศรี ประเมินผลกระทบจากแผ่นดินไหว SET จะลดลงเพียงระยะสั้นราว -1.8% ถึง -3% ประเมินกรอบตั้งรับ 1,155- 1,130 จุด (PER 2568 12.8-12.5x) และน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวหลังจากนั้นใน 3 วัน หากไม่มีปัจจัยลบใหม่ เนื่องจากรัฐบาลน่าจะมีแผนฟื้นฟู กระตุ้นเศรษฐกิจตามมา แนะนำนักลงทุนอย่า Panic ต่อประเด็นดังกล่าว และค่อยๆ พิจารณาวางกลยุทธ์
ปัจจัยกระทบหลัก วันศุกร์ 13.20 น. เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ขนาด 8.2 ริกเตอร์ที่ประเทศเมียนมาร์ สร้างความเสียหายรุนแรงในเมียนมาร์ และเกิดแรงสั่นสะเทือนมาที่ประเทศไทยแบบไม่คาดคิด ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวในเขตเศรษฐกิจ กทม ครั้งที่รุนแรงที่สุด ส่งผลอาคารสำนักงานใหม่ของ สตง. ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างถล่ม และความเสียหายบางส่วนต่ออาคารสูง ในเขต กทม.
เนื่องจากผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและหุ้นในตลาดค่อนข้างจำกัด โดยกลุ่มอสังหาฯ(ระยะสั้น จะมีความกังวลต่อโครงการแนวดิ่ง) แต่สัดส่วนอสังหาฯในไทย คิดเป็นเพียง 2.5% ของ GDP ขณะที่กลุ่มประกันมูลค่าความเสียหายราว 2.2-2.5 พันล้านบาท คิดเป็น Market EPS เพียง -0.05 บาทต่อหุ้น ส่วนหุ้นที่มีธุรกิจในเมียนมาร์ เป็นหุันขนาดกลางเครื่องดื่ม และอาหารเป็นส่วนใหญ่ และสุดท้ายกลุ่มท่องเที่ยว บริษัทส่วนใหญ่ แจ้งว่ายังไม่มีการยกเลิก Booking แบบมีนัยฯ แลเโรงแรมยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ
ผลกระทบเชิงพื้นฐานรายกลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ กลุ่มที่มีธุรกิจในเมียนมาร์ มีสัดส่วนรายได้ในเมียนมาร์สูง แม้ส่วนใหญ่ทรัพย์สินไม่มีความเสียหาย แต่น่าจะกระทบต่อกำลังซื้อ ได้แก่ MEGA 30%, OSP 10% CBG 7% และ ICHI 7% ตามลำดับ ส่วน TOA (2-3% ของรายได้) และ THG (ถือหุ้น 40% ใน ร.พ. Ar Yu) คาดเป็นกลาง
กลุ่มที่มีธุรกิจเกี่ยวโยงกับกรณีอาคาร สตง. ถล่ม คือ ผู้รับเหมา ITD (ส่วนเจ้าหนี้ คือ ธนาคาร คาดกระทบจำกัด เพราะได้ตั้งสำรองไปแล้ว)
ประกันที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาคารดังกล่าว TIPH (40% ของวงเงินประกัน 2.2 พันล้านบาท หรือราว 896 ล้านบาท ระดับเงินกองทุนสำรองใช้ได้ 7.6 พันล้านบาท ขณะที่คิดเป็นผลกระทบ 1.5 บาทต่อหุ้น) , BKIH (25% ของวงเงินประกัน 2.2 พันล้านบาท หรือราว 560 ล้านบาท เงินกองทุนสำรองใช้ได้ 4.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่คิดเป็นผลกระทบต่อหุ้นราว 5.4 บาท )
กลุ่มอสังหาฯ ที่มีโครงการแนวดิ่ง ต้องรอการตรวจสอบฟื้นความเชื่อมั่น สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ ระยะสั้นหลีกเลี่ยง แต่ให้รอโอกาสสะสม เพื่อระยะกลาง เช่น กลุ่มอสังหาฯ ที่อาคารมีความเสียหายต่ำ แต่เกิด Panic ราคาลงเกิน -10% รอตั้งรับ SIRI, SC, LH และ กลุ่มประกันที่กำไรจะลดลงเพียง 1 ไตรมาส และเบี้ยประกันในอนาคตจะสูงขึ้น หากหุ้นปรับฐานลึก -15% ขึ้นไป รอตั้งรับ TIPH, BKIH
กลุ่มที่มีผลกระทบระยะสั้นเชิงจิตวิทยา แต่ภาพอุตสาหกรรมมีปัจจัยลบอื่นๆ เน้น Selective หุ้นรายตัวในกลุ่ม : บันเทิง ชิ้นส่วนฯ เกษตร-อาหาร กลุ่มขนส่งทางบวก ขนส่งทางเรือ คำแนะนำเน้น Selective หุ้นรายตัวที่แข็งแกร่งในกลุ่ม บันเทิง เลือก PLANB, เกษตร – อาหาร เลือก CPF, ขนส่งทางบก เลือก BTS
กลุ่มที่มีผลกระทบระยะสั้นเชิงจิตวิทยา แต่ราคาน่าจะปรับตัวลงระยะสั้น แต่แนะนำทยอยตั้งรับเนื่องจากอุตสาหกรรมมีภาพบวก คือ กลุ่มท่องเที่ยว การบิน กลุ่มนิคม กลุ่มธนาคาร (กลุ่มเสี่ยงผันผวน คือ กลุ่มที่มีสินเชื่อบ้านสูง อาทิ SCB 32% TTB 25% KTB 19% KBANK 17%) กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่ม ร.พ. กลุ่มเช่าซื้อ กลุ่มรับเหมา คำแนะนำสำหรับ กลุ่มท่องเที่ยว เลือก MINT, นิคม เลือก AMATA, กลุ่มธนาคาร เลือก KBANK, กลุ่มโรงไฟฟ้า เลือก GPSC, กลุ่ม ร.พ. เลือก BDMS, BH, กลุ่มเช่าซื้อ เลือก MTC, กลุ่มรับเหมา เลือก STECON
กลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว หรืออาจได้อานิสงส์บวก กลุ่มจำหน่ายสินค้าและบริการจำเป็น หรือกลุ่มได้ประโยชน์จากการซ่อมแซ่มรอบใหญ่หลังจากนี้ ค้าปลีก (บวกกลุ่มสินค้าจำเป็น และ Home Improvement) กลุ่มสื่อสาร กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มที่ปรึกษางานอาคาร/โครงสร้าง กลุ่มรับเหมาเสาเข็ม คำแนะนำกลยุทธ์หลัก รวมถึงผู้รับความเสี่ยงได้น้อย ระยะสั้น-กลาง เน้นหุ้นกลุ่มที่มี Deep Value อาทิ CPALL, CPAXT, BJC, HMPRO, GLOBAL, SCC กลุ่มที่อยู่ในช่วง Upcycle อาทิ ADVANC, TRUE ส่วนเก็งกำไรเน้นไปที่กลุ่มวัสดุก่อสร้างขนาดเล็ก-กลาง SCGD, DCC กลุ่มเสาเข็ม PYLON และเก็งกำไรกลุ่มที่ปรึกษางานอาคาร/โครงสร้าง STI, TEAMG, PPS
ด้านเทคนิค Set index (ชาร์ตรายวัน) ปิดต่ำกว่าเส้น Ema 5 วัน (1,183) และเส้น EMA 10 วัน (1,184) เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มี.ค.2568 รวมถึงสัญญาณของเครื่องมือทางเทคนิคเริ่มแกว่งออกข้างถึงกลับมาย่อตัวลง อาทิ stochastic, rsi และ macd รวมถึง Volume ที่หดตัวลงไปมาก (เฉลี่ย 5 วัน เพียง 25,123 ล.บ.) ส่งผลให้การฟื้นตัวตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นไปอย่างจำกัด และมีแรงขายกดดัน จึงมีมุมมองที่ค่อนข้างเป็นลบกับดัชนีในระยะสั้น และส่งผลให้ดัชนีมีโอกาสปรับฐาน และทดสอบ Low (1,160 – 1,157) อีกครั้งในลักษณะของการทำ Double bottom ส่วนแนวต้านรายวันขยับลง 1,180 / 1,185 จุด ตามลำดับ
ในกรณี Worst case ดัชนีทำ New Low หลุดจากบริเวณ 1,157 จุด Downside จะเริ่มเปิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งหากพิจารณาจาก ชาร์ตรายสัปดาห์ ดัชนีจะมีแนวรับถัดไปที่ 1,140 จุด / 1,130 จุด