BYD ตั้งเป้ารายได้โต 3 เท่า ดึงมาร์เก็ตติ้ง 200 ชีวิตเสริมทัพเพิ่ม

HoonSmart>>บียอนด์ ตั้งเป้ารายได้ปี 2567 โต 3 เท่าทะลุ 1,000 ล้านบาท ดึงมาร์เก็ตติ้งเสริมทัพอีกกว่า 200 ชีวิต ลงทุนใหม่อีก 3,000 ล้านบาท ปั้นธุรกิจขึ้นท็อป 10 ใน 3 ปี

น.ส.ออมสิน ศิริ ประธานกรรมการบริหาร บล.บียอนด์ เปิดเผยว่า ปี 2567 ตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าหรือเป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาทจากปี 2566 ที่มีรายได้ประมาณ 300 ล้านบาท โดยไม่รวมรายได้ดอกเบี้ยจากบริษัทไทยสไมล์บัส และคาดว่าผลการดำเนินงานจะกลับมาเป็นบวก จากปีที่ผ่านมาขาดทุนประมาณ 20 ล้านบาท

ทั้งนี้ รายได้หลักจะมาจากธุรกิจหลักทรัพย์ ประกอบด้วยรายได้ดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อซื้อขายหุ้น รายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหุ้น และรายได้จาก Block Trade

ปีนี้มีความพร้อมจะรุกตลาดอย่างเต็มที่หลังจากใช้เวลาปรับโครงสร้างธุรกิจเสร็จ โดยจะมีการจัดตั้งบริษัทบียอนด์ โฮลดิ้ง ภายในไตรมาส 3 ซึ่งจะมีบล.บียอนด์ และไทยสมายล์ อยู่ภายใต้โฮลดิ้ง

 

รวมถึง ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศก็พร้อม และได้ผู้บริหารที่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจโบรกเกอร์ ธุรกิจเวลท์  ธุรกิจกองทุนรวม ทั้งด้านลูกค้ารายย่อย รายใหญ่ และสถาบันเข้ามาเสริมทีม ประกอบด้วย นายชัยพัชร์ นาคมณฑนาคุ้ม ที่อยู่ในวงการหลักทรัพย์และไฟแนนซ์ กว่า 30 ปี มาเป็น กรรมการบริหาร นายจักรกริช เจริญเมธาชัย มาเป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายสุวัฒน์ สินสาฎก มาเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจหลักทรัพย์ลูกค้าสถาบัน

นอกจากนี้ จะมีมาร์เก็ตติ้งเข้ามาเสริมอีกกว่า 200 คนในอีก 1 เดือนข้างหน้า จะทำให้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ส่วนธุรกิจบริษัทไทยสมายล์บัส ที่ให้บริการยานยนต์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า ประกอบด้วย รถเมล์ไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า จะยังคงมีผลขาดทุนในปีนี้แต่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะเริ่มมีกำไรในปี 2568 โดยมีการลงทุนไปแล้วกว่า 20,000 ล้านบาท

ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าที่ให้บริการผู้โดยสารในกรุงเทพ 2,000 คัน และสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 3,000 คัน ซึ่งสัดส่วนจะเท่ากับจำนวนรถของขสมก.ที่ให้บริการในปัจจุบันราว 3,000 คัน

สำหรับปี 2567 ตั้งงบลงทุน 3,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะใช้ไปกับการ ปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อขายหุ้น ซึ่งปัจจุบันมีสินเชื่อคงค้างอยู่ประมาณ 800 ล้านบาท เงินสดที่อยู่ในมือ 400-500 ล้านบาท จะทำให้สามารถรองรับความต้องการสินเชื่อของลูกค้าได้มากขึ้นอีกราว 1,400-1,500 ล้านบาทในปีนี้

“การปล่อยสินเชื่อเราอิงเกณฑ์ของ บริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ (TSFC) แต่ใช้อัตราดอกเบี้ยของบริษัท โดยเลือกปล่อยสินเชื่อซื้อขายหุ้นที่อยู่ในกลุ่ม A,B และ C คิดอัตราดอกเบี้ย 6.25% และจะมีการทบทวนทุกๆไตรมาส หากได้สินเชื่อไปแล้วไม่เทรดเป็นเวลา 1 ไตรมาสจะถูกบวกดอกเบี้ยเพิ่ม 0.50% หากลูกค้าไม่เทรดก็จะขอลดวงเงินสินเชื่อ จะทำให้สามารถกระจายสินเชื่อไปให้ลูกค้ารายอื่นๆได้”น.ส.ออมสิน กล่าว

น.ส.ออมสิน กล่าวว่า บริษัทจะมีการต่อยอดธุรกิจจากฐานลูกค้าที่เป็นผู้โดยสารรถเมล์ไฟฟ้า เรือโดยสารไฟฟ้า ที่มีการลงทะเบียนซื้อตั๋วเติมเงินก่อนใช้บริการร่วม 1 ล้านราย ด้วยการนำเสนอบริการทางการเงินในกลุ่ม ทั้งธุรกิจหลักทรัพย์ กองทุนรวม ประกัน ลีสซิ่ง

ปัจจุบัน บริษัทไทยสมาลย์บัส เป็นรายแรกที่มีการทำสัญญาขายคาร์บอนเครดิต ให้กับมูลนิธิคลิค ของสวิสเซอร์แลนด์ และจะมีการต่อยอดธุรกิจด้านคาร์บอนเครดิตในด้านอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต

“จากการที่บริษัทมีการทำธุรกิจกรีน มีคาร์บอนเครดิตในมือ สามารถที่จะพัฒนาธุรกิจใหม่ๆเพิ่มเติม อาทิ การออกเหรียญที่มีคาร์บอนเครดิตหนุนหลัง หรือ ทำการเทรดคาร์บอนเครดิตได้ในอนาคต ซึ่งในต่างประเทศค่านายหน้าสูงกว่าค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ถึง 10 เท่า”น.ส.ออมสิน กล่าว