HoonSmart.com>>ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลง โดยดาวโจนส์ร่วง 132.71 จุด, ดัชนี S&P 500 ลดลง 64.45 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 372.84 จุด กังวลผลกระทบสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อที่จะกลับมาอีกครั้ง ล่าสุด”ทรัมป์”สั่งเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ในอัตรา 25% แล้ว ส่งตลาดยุโรปปิดลบ ด้านราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average: DJIA) วันที่ 26 มีนาคม 2568 ปิดที่ 42,454.79 จุด ลดลง 132.71 จุด หรือ -0.31% โดยได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้น Nvidia และ Tesla จากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่กลับมาอีกครั้ง ทำให้นักลงทุนลดความเสี่ยงลดลง และล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ในอัตรา 25% แล้ว
ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 5,712.20 จุด ลดลง 64.45 จุด, -1.12%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 17,899.02 จุด ลดลง 372.84 จุด, -2.04%
หุ้นของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ เช่น Meta Platforms และ Amazon ลดลงกว่า 2% ขณะที่ Alphabet ลดลงกว่า 3% Tesla ร่วงลงกว่า 5% และดัชนีกลุ่มเทคโนโลยี 2.46%
หุ้นร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบวัน หลังจากที่ทำเนียบขาวประกาศว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะเปิดเผยภาษีนำเข้ารถยนต์ในการแถลงข่าวในเวลา 16.00 น. หุ้นของ General Motors และ Stellantis ต่างลดลงกว่า 3%
ในขณะที่ตลาดรอการประกาศมาตรการภาษีแบบเรียกเก็บในอัตราที่เท่ากัน(reciprocal tariffs) จากคู่ค้าในวันที่ 2 เมษายน ล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งจัดเก็บภาษีรถยนต์นำเข้า 25% โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 เมษายน และทรัมป์กล่าวว่า “เราจะเริ่มเก็บภาษีวันที่ 3” วิลล์ ชาร์ฟ ผู้ช่วยทำเนียบขาวของทรัมป์กล่าวว่าภาษีศุลกากรใหม่นี้ใช้กับ “รถยนต์และรถบรรทุกขนาดเล็กที่ผลิตในต่างประเทศ” และชี้แจงว่าภาษีศุลกากรใหม่นี้มีผลเพิ่มเติมจากภาษีศุลกากรที่มีอยู่แล้ว
ตลาดวิตกว่าสงครามการค้าจะขยายวง แม้ยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับมาตรการตอบโต้จากคู่ค้า และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจโลก
เจมี่ ค็อกซ์ หุ้นส่วนผู้จัดการของ Harris Financial Group กล่าวว่า ตลาดไม่ชอบความไม่แน่นอนของภาษีศุลกากร โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับรถยนต์ รถยนต์ถือเป็นจุดศูนย์กลางของผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจจากภาษีศุลกากร
แดเนียล สเกลลี หัวหน้าทีมวิจัยและกลยุทธ์ตลาดการบริหารความมั่งคั่งของ Morgan Stanley กล่าวว่า กำหนดเส้นตายภาษีศุลกากรในสัปดาห์หน้าน่าจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเจรจามากกว่าจะเป็นข้อสรุป ดังนั้น ตลาดยากที่จะปรับตัวแบบพุ่งขึ้น
ไมเคิล บราวน์ นักกลยุทธ์ของ Pepperstone กล่าวว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาษีศุลกากรนั้นยังคงสูงอยู่มาก ทำให้ธุรกิจและผู้บริโภคยากที่จะวางแผนล่วงหน้าให้นานกว่าหนึ่งวัน และยังคงทำให้ผู้เล่นในตลาดไม่สามารถประเมินความเสี่ยงได้
ผลสำรวจเผยให้เห็นว่าผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจมีมุมมองทางบวกลดลงในไตรมาสแรก โดยธุรกิจกังวลเรื่องการขึ้นราคาที่เกี่ยวข้องกับภาษีศุลกากรและรีบเร่งเพิ่มสินค้าคงคลัง ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดคิดเมื่อเดือนที่แล้ว
โดยกระทรวงพาณิชย์รายงาน ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนกุมภาพันธ์ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 0.9% ขณะที่นักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลง 1.0% จากที่เพิ่มขึ้น 3.3% ในเดือนมกราคม
นายอัลแบร์โต มูซาเล็ม ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่ายังไม่ชัดเจนว่าผลกระทบต่อเงินเฟ้อจากมาตรการภาษีศุลกากรจะมีผลชั่วคราวหรือไม่ และเตือนว่าผลกระทบทางอ้อมอาจส่งผลให้เจ้าหน้าที่เฟดคงอัตราดอกเบี้ยไว้เป็นเวลานานขึ้น
ภาษีศุลกากรและข้อมูลการสำรวจที่อ่อนแอลงจะส่งผลต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตลอดทั้งปีนี้ นักกลยุทธศาสตร์ของ Barclays Plc ได้ปรับลดเป้าหมายดัชนี S&P 500 ในปี 2025 ลงจาก 6,600 เป็น 5,900
ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสงครามการค้าโลกกำลังทำให้สภาพคล่องในหุ้นสหรัฐลดลง และมีผลต่อนักลงทุนสถาบัน ซึ่งอาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดโดยรวม สภาพคล่องใน S&P 500 stock-index futures ซึ่งวัดจากสัญญาที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุด อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี จากข้อมูลที่รวบรวมโดย Deutsche Bank AG
นักลงทุนจับตาการรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล(PCE)ในสัปดาห์นี้ ซึ่ง PCE เป็นตัวชี้วัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ให้ความสำคัญในวันศุกร์
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบ จากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มเฮลธ์แคร์ ขณะที่นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ที่จะมีผลบังคับใช้ในสัปดาห์หน้า
ดัชนี STOXX 600 ปรับตัวลงครั้งที่ 4 ในรอบ 5 วันทำการ
ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 548.73 จุด ลดลง 3.86 จุด, -0.70%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,689.59 จุด เพิ่มขึ้น 25.79 จุด, +0.30%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 8,030.68 จุด ลดลง 77.91 จุด, -0.96%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 22,839.03 จุด ลดลง 270.76 จุด, -1.17%
ดัชนีกลุ่มเฮลธ์แคร์ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน โดยได้รับผลกระทบจากการลดลงของหุ้น Novo Nordisk ซึ่งเป็นหุ้นใหญ่
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีลดลงราว 2% ถูกฉุดจากการร่วงลง 6.7% ของหุ้น Tietoevry บริษัทบริการด้านไอทีหลังจากที่ Morgan Stanley ปรับลดคำแนะนำการลงทุนจาก “overweight” เป็น “equal weight”
หุ้นกลุ่มพลังงานเป็นหนึ่งในไม่กี่กลุ่มที่ปรับขึ้น ด้วยแรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นกว่า 1%
อย่างไรก็ตาม ดัชนี STOXX 600 ยังคงมีแนวโน้มทำผลงานได้ดีที่สุดในรอบ 2 ปี โดยส่วนใหญ่เกิดจากความคาดหวังว่ามาตรการทางการเงินครั้งประวัติศาสตร์ของเยอรมนีจะช่วยกระตุ้นการเติบโตในเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค นอกจากนี้ ภูมิภาคนี้ยังดึงดูดนักลงทุนที่มองหาคุณค่าที่มากกว่าหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจากนโยบายการค้าของรัฐบาลทรัมป์ทำให้กังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของสหรัฐฯ
ในอังกฤษ เรเชล รีฟส์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังได้ปรับลดแผนการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อกลับสู่เป้าหมายทางการคลัง แต่ความเสี่ยงในเศรษฐกิจโลกอาจทำให้มีแนวโน้มที่จะขึ้นภาษีในช่วงปลายปีนี้
นักลงทุนในพันธบัตรอังกฤษขานรับแผนการกู้ยืมเงินของอังกฤษที่ต่ำกว่าที่คาด โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปีของอังกฤษลดลงมาที่ 5.306% ประกอบกับข้อมูลเงินเฟ้อต่ำกว่าที่คาด ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางอังกฤษจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 65 เซนต์ หรือ 0.94% ปิดที่ 69.65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 77 เซนต์ หรือ 1.05% ปิดที่ 73.79ดอลลาร์ต่อบาร์เรล