แผ่นดินไหวเปลี่ยนธุรกิจประกันภัย ตึกสตง. 2,136 ลบ.4 บริษัทส่งต่อ’ทิพย’รับแค่100 ลบ.

HoonSmart.com>>คปภ.ควงสมาคมประกันวินาศภัยไทยและสมาคมประกันชีวิตไทยแถลงข่าวด่วนถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือ-จ่ายค่าสินไหมประกันภัยจากเหตุแผ่นดินไหว ภายใน 15 วัน  “ดร.สมพร” นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย มองธุรกิจเปลี่ยนแปลง เห็นโอกาสขยายฐานเบี้ย คนไทยตื่นตัวซื้อประกันแผ่นดินไหว ไม่ใช่ของแถมอีกต่อไป ยกมหันตภัยน้ำท่วม เผยตึกสตง.ถล่ม ทำประกัน  2,136 ล้านบาท กับ 4  บริษัท แต่มีการส่งประกันต่อตปท. “ทิพยประกันภัย” รับเองแค่ 5% หรือ 100 ล้าน 

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)  แถลงข่าวร่วมกับ ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย  และนางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2568 ถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาด้านประกันภัยจากเหตุแผ่นดินไหวในการ​จ่าย​ค่าสินไหม​ทดแทนครั้งนี้

ดร.สมพร กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นเหรียญสองด้าน ประกันภัยทั้งระบบจะต้องปรับตัว ทำให้ธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป มีโอกาสขยายฐานประกันกว้างขึ้น จากเดิมเบี้ยประกันแผ่นดินไหวเป็นเพียงของแถม สำหรับการซื้อประกันประเภทต่างๆ และกรณีที่เกิดภัยพิบัติ จำกัดความรับผิดชอบเพียง 20,000 บาท แนวโน้มบริษัทจะต้องคิดเบี้ยขึ้นมาเฉพาะสำหรับแผ่นดินไหว และมีราคาสูง สถานการณ์เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับมหันตภัยน้ำท่วม ทำให้คนไทยและผู้ประกอบการมีการตื่นตัวหันมาทำประกันน้ำท่วมมากขึ้น

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ คาดว่าน้อยกว่าคราวที่เกิดวิฤตโควิด ที่มีการเคมประกันสูงมากกว่า 1 แสนล้านบาทเพราะเป็นเรื่องที่ไม่รู้  บริษัทประกันจ่ายเองไม่ต่ำกว่า 50,000-60,000 ล้านบาท และยังคงมีหนี้สินอยู่ในกองทุนอีก 80,000 ล้านบาท จนส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทประกัน แต่ครั้งนี้ ความเสียหายมากที่สุด อยู่ที่ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ถล่ม กรมธรรม์ประกันภัยประเภทการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง (Contractor All Risk – CAR) มีจำนวนเงินเอาประกันภัยรวมทั้งหมด 100% มูลค่า 2,136 ล้านบาท รองลงมาคือคอนโดมิเนียมที่ยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบความเสียหายอยู่ในขณะนี้  ส่วนภาพรวมสมาคมฯได้ ขอความร่วมมือจากสมาชิกให้แจ้งข้อมูลอยู่

อย่างไรก็ตาม ตึกสตง.ที่ถล่มลง มีบริษัทประกันภัย 4 แห่งรับประกัน ได้แก่ บริษัททิพยประกันภัย รับสูงสุด 40% ตามด้วยบริษัทกรุงเทพประกันภัย บริษัทอินทรประกันภัย บริษัทละ 25% และบริษัทวิริยะประกันภัย 10%  ซึ่งทั้ง 4 บริษัทมีการส่งประกันต่อ โดยเฉพาะบริษัททิพยประกันภัยส่งต่อต่างประเทศถึง 95% รับผิดชอบเองเพียง 5% หรือคิดเป็นเงิน 100 ล้านบาทเท่านั้น พิจารณาจ่ายตามความคืบหน้าในการก่อสร้าง จึงไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานและฐานะการเงินที่มีความแข็งแกร่ง

“ทิพยประกันภัย เรามีการบริหารความเสี่ยง ถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่จะส่งต่อ ส่วนที่รับเองไม่มาก เช่น 5%  เราจะไม่ส่งต่อกรณีบ้านที่อยู่อาศัย ราคาไม่เกิน 150 ล้านบาท  นอกจากนี้ส่วนที่รับไว้เอง เมื่อรวมกันหลายโครงการก็เป็นเม็ดเงินที่สูง เราก็จะส่งต่อเบี้ยประกันอีกครั้ง เพื่อให้มีความเสี่ยงไม่มากเกินไป  “นายชูฉัตรกล่าว

สำหรับ​บุคคล​ที่​ทำประกัน​จากเหตุ​การ​ณ์แผ่นดินไหว กรณีได้รับบาดเจ็บ​ หรือ​เสียชีวิต​ ทุกบริษัท​ที่​เป็น​สมาชิกสมาคมพร้อมจ่าย​ค่าสินไหม​ตามกรมธรรม์ สำหรับอาคารหรือที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย  และมีการทำประกันอัคคีภัย ประกันภัยอาคารชุด ยังครอบคลุม​ถึง​ภัยแผ่นดิน​ไหว​ ได้ประสานไปยังนิติบุคคล เพื่อรวบรวมข้อมูลความเสียหายของผู้อยู่อาศัย พบว่ามีการทำประกันอัคคีภัยทั่วประเทศกว่า 5.4 ล้านฉบับ  ครอบคลุม ทั้งกรณีไฟไหม้และแผ่นดินไหว ได้รับความคุ้มครอง 20,000 บาทต่อกรมธรรม์ หากผู้เอาประกันตกลงค่าสินไหมตามมาตรฐานที่บริษัท​กำหนด​ได้​ จะต้องจ่าย​ภายใน​ 15​ วัน

ส่วนประชาชนที่ที่พักเสียหายและเสี่ยงเกิดอันตราย สามารถดำเนินการซ่อมแซมเพื่อความปลอดภัยได้ก่อน โดยไม่ต้องรอการประเมินจากประกัน แต่ต้องมีการบันทึกภาพความเสียหายไว้ประกอบการขอชดเชย

ทางด้านนายชูฉัตรกล่าวว่า  บริษัทประกันมีความแข็งแกร่ง มีการ Stress Test รับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหว  พร้อมจ่าย​ค่าสินไหม​ทดแทน และได้ติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด กรณีตึกสนง.ถล่ม ทางบริษัทก็มีการส่งประกันต่อ ส่วนความช่วยเหลือได้ประสานข้อมูลรายชื่อและเอกสารของผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้สูญหายจากเหตุอาคารถล่มและเปิดสายด่วน 1186 ประสานเรื่องการเคลมประกันความเสียหายตลอด 24 ชั่วโมง ธุรกิจประกันพร้อมจ่ายเคลมแผ่นดินไหว ใน 15 วัน

นางนุสรา ขอยืนยันว่าบริษัทประกันชีวิตได้มีการเตรียมพร้อมรองรับภาวะฉุกเฉิน เพื่อความต่อเนื่องในการให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัย  ซึ่งสามารถใช้บริการต่าง ๆ เช่น การเรียกร้องสินไหมทดแทน การเรียกร้องเคลมค่ารักษาพยาบาล และบริการอื่น ๆ ที่จะช่วยเหลือให้ได้รับความสะดวกมากที่สุด ขอให้ผู้เอาประกันภัยทุกท่านตรวจสอบสถานะกรมธรรม์ให้ยังมีผลบังคับใช้อยู่เสมอ และระมัดระวังคัดกรองข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อป้องกันการแอบอ้าง และนำไปสู่การหลอกลวงข้อมูล  เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน