ความจริงความคิด : ใช้ตั๋ว PN วางแผนภาษีดีมั๊ย

โดย..สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
“ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” อีกแล้ว กับการหลบหลีกภาษี ซึ่งหลายคนเขียนสับสนว่าเป็น “การวางแผนภาษี” จริงๆแล้ว “การวางแผนภาษี” กับ “การหลบหลีกภาษี” และ “การหนีภาษี” 3 คำนี้ มีเป้าหมายเดียวกัน คือ “เสียภาษีให้น้อยที่สุด” แต่วิธีการและผลลัพธ์ต่างกัน

• การวางแผนภาษี (Tax Planning) คือ การนำสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทางภาษีที่กฎหมายกำหนดไว้ ไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้น้อยลง โดยไม่ผิดกฎหมาย อย่างเช่น การซื้อประกันชีวิต ประกันบำนาญ RMF TESG ฯลฯ แล้วนำเงินที่ออมมาลดหย่อนภาษีตามเงื่อนไขของสรรพากร เป็นต้น

• การหลบหลีกภาษี (Tax Avoidance) คือ การใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลง แต่ไม่ได้ผิดกฎหมาย

• การหนีภาษี (Tax Evasion) คือ การหลบเลี่ยงไม่เสียภาษีหรือ เสียภาษีน้อยลง โดยฝ่าฝืนกฎหมาย

สรุปง่ายๆ ก็คือ ถ้าเป็นการวางแผนภาษี จะมั่นใจได้ว่า “ถูกกฎหมาย”100% การหนีภาษี “ผิดกฎหมาย” 100% ส่วนการหลบหลีกภาษี ยังไม่แน่ว่า “ถูกกฎหมาย” หรือ “ผิดกฎหมาย” เพราะมีเหตุต้องพิจารณาหลายเรื่อง

อย่างกรณี “การซื้อหุ้นด้วยตั๋ว PN” ที่เป็นประเด็นกันในตอนนี้ ก็เช่นกัน แม้พิจารณาตามตัวบทกฎหมายแล้วจะถูกกฎหมาย (อธิบดีสรรพากรออกมายืนยันเอง” แต่ผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ ยังต้องพิจารณาอีกมาก และจะเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ ก็ต้องรอดูกันต่อไป น่าจะมีใครนำกรณีนี้ฟ้องศาลเพื่อหาคำตอบสุดท้ายดูนะ เหมือนอย่างกรณีการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “คดีซุกหุ้นภาค 2” ก็ได้คำตอบสุดท้ายของการหลบหลีกภาษีมา แต่ถ้าเป็นตอนนี้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ถ้าจะฟ้อง ใครมีสิทธิฟ้อง นึกๆดูแล้ว ผู้เสียหาย คือ สรรพากร แต่ถ้า สรรพากร ไม่ฟ้อง ใครจะฟ้องได้นะ

สรุปเรื่องนี้ไม่เพียงท่านนายกฯจะมีเดิมพันที่สูง สรรพากรเองก็มีเดิมพันที่สูงด้วยเช่นกัน หากการวางแผนภาษีด้วยตั๋ว PN สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ก็จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับการวางแผนภาษีต่อไป ลองคิดดู ก็น่าจะทำได้หลายอย่าง เช่น

การหลบภาษีการรับด้วยการเปลี่ยน “การให้” เป็น “ธุรกรรมซื้อขาย” แทน เมื่อไม่มีการให้ การรับ ผู้รับก็ไม่ต้องเสียภาษีการรับ

การหลบหลีกภาษีการรับมรดก ด้วย “การทำธุรกรรมซื้อขาย” ทรัพย์สมบัติให้ลูกด้วยตั๋ว PN ก่อนตาย เพื่อให้ทรัพย์มรดกสุทธิเหลือต่ำกว่า 100 ล้านบาท ด้วยวิธีนี้ ลูกได้รับทรัพย์สมบัติพ่อโดยไม่ต้องควักเงินซักบาท แถมตอนพ่อเสียชีวิต ลูกที่เป็นผู้รับมรดกก็ไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดก เพราะมรดกสุทธิต่ำกว่า 100 ล้านบาท หลายคนอาจแย้งว่า ตั๋ว PN ที่ลูกให้พ่อในตอนซื้อทรัพย์แทนเงินสด ก็เป็นทรัพย์มรดกที่ลูกต้องนำมารวมกับทรัพย์มรดกอื่นเพื่อเสียภาษีการรับมรดกเหมือนกัน ไม่น่าจะช่วยลดภาษีการรับมรดก เข้าใจถูกต้องครับ แต่ก็ยังมีวิธีการบริหารภาษีการรับมรดกอยู่ดี เพราะ ภาษีการรับมรดก จะเก็บต่อเมื่อครบ 3 องค์ประกอบ ประธาน กริยา และ กรรม คือ มี “ผู้รับมรดก” มี “การรับมรดก” และมี “มรดก” ถ้าไม่ครบทั้ง 3 องค์ประกอบ ก็ไม่มีการเสียภาษีการรับมรดก อย่างเช่น

    ๐ การวางแผนมรดกด้วยประกันชีวิต ไม่เสียภาษีการรับมรดก เพราะ ประกันชีวิต ไม่ใช่มรดก หรือ
    • ๐ การทิ้งมรดกไว้ใน “กองมรดก” ก็ไม่เกิด “ผู้รับมรดก” และ “การรับมรดก” เพราะภาษีการรับมรดกที่ไทยใช้ จะเก็บจาก “ผู้รับมรดก” เท่านั้น ดังนั้น หากทายาทเลือกวิธีทิ้ง

“ตั๋ว PN”

    • ไว้ในกองมรดก ก็ไม่ถือว่าทายาทได้รับ

“ตั๋ว PN”

    เป็นมรดก เมื่อทายาทไม่ได้รับ “ตั๋ว PN” เป็นมรดก ทายาทก็ไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดกจาก “ตั๋ว PN”

 

ซื้อทรัพย์มรดกจากกองมรดก ด้วย “ตั๋ว PN” แทนที่จะแบ่งมรดกกันให้เสียภาษีการรับมรดก ก็ใช้วิธีให้ทายาทออก “ตั๋ว PN” ไปแลกทรัพย์มรดกที่ตนเองได้รับจากกองมรดก อย่างนี้ก็เท่ากับว่า ทายาทได้ทรัพย์มรดกมาใช้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องภาษีการรับมรดกอีกต่อไป

การรับจ้าง การทำธุรกรรมต่างๆ แทนที่จะชำระกันด้วยเงินสด อย่างเช่น ตัวแทนประกันชีวิตที่มีเงินได้จากค่าคอมมิชชั่น สมัยก่อนอาจใช้วิธีการวางแผนภาษีกระจายเงินได้ข้ามปีภาษีด้วยการขอให้บริษัทประกันจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้ในปีถัดไป ซึ่งกระจายได้แค่ปีต่อปี ต่อไปอาจเปลี่ยนเป็นบริษัทประกันจ่ายเป็นตั๋ว PN แทน จะช่วยกระจายเงินได้ออกได้หลายปีภาษี ทำให้ประหยัดภาษีได้มาก
ถ้านั่งคิดไปเรื่อยๆ น่าจะทำได้อีกหลายวิธี เผลอๆต่อไป “ตั๋ว PN” อาจเป็นตราสารหนึ่งที่ใช้กันแพร่หลายในไทยเหมือน Bitcoin ก็เป็นได้ ถือเป็น “นวัตกรรมทางการเงิน” ชิ้นโบว์แดงของไทยเลย

แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักวางแผนการเงิน CFP ก็ไม่แนะนำให้ทำการหลบหลีกภาษีด้วยวิธีใช้ “ตั๋ว PN” ครับ เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต ซึ่งผลเสียทางภาษีหนักและน่ากลัวมาก ไม่คุ้มเสี่ยงครับ