HoonSmart.com>> BYD เร่งดำเนินการปลด CB ปักธง !! กลางปีนี้ หลังประชุมผู้ถือหุ้นขอมติลดทุนปลายเดือนเม.ย.นี้ ” จักรกริช เจริญเมธาชัย” ซีอีโอ เผยธุรกิจหลักทรัพย์ โตสวนตลาด ฟากพัฒนาการ “ไทยสมายล์บัส” รายได้โฆษณา-ค่าโดยสาร นิวไฮ 200 ลบ./เดือน เส้นทางทับซ้อน ขสมก. คลี่คลาย

นายจักรกริช เจริญเมธาชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริษัทหลักทรัพย์ บล.บียอนด์ (BYD) เปิดเผยถึง พัฒนาการของบริษัทในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาว่า
1) ธุรกิจหลักของบริษัทคือธุรกิจหลักทรัพย์ รายได้เติบโตต่อเนื่อง บุคลากรเพิ่มขึ้น แตะ 300 คน ขณะที่สินทรัพย์ภายใต้การแนะนำและการบริหารเพิ่มจาก 4 พันล้าน แตะ 1.4 หมื่นล้านบาท ในช่วง 1 ปี
2) โครงสร้างรายได้ของบริษัท 50% มาจากธุรกิจ Wealth Management โดยมีผลิตภัณฑ์การลงทุนครบวงจร ทั้งในและต่างประเทศครอบคลุมทุกสินทรัพย์ ขณะที่ธุรกิจ Brokerage ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการพัฒนา Platform การลงทุนที่แปลกใหม่ และเป็นผู้นำตลาดต่างจากคู่แข่ง
3) บริษัท ฯ ลงทุนรถเมล์ Thai Smile Bus (TSB) มีการให้กู้ยืมเงิน ประมาณ 10,000 ล้านบาท ได้มีการตั้งสำรองไปแล้วประมาณ 5,000 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทยังคงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้เงินกู้โดยสมบูรณ์
4) ปัจจุบันคณะกรรมการบริษัท ฯ อยู่ระหว่างการการศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ของ TSB ว่าจะปรับโครงสร้างทางด้านเงินทุนและธุรกิจอย่างไร ซึ่งจะมีความคืบหน้าภายในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
นายจักรกริช ยังกล่าวว่า บริษัทเห็นพัฒนาการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องของ TSB ซึ่งผู้โดยสาร/ วัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1.6 แสนราย ในช่วง มค.67 สู่ระดับสูงสุด ต่อวันประมาณ 4 แสนราย ณ สิ้นปี 67 ขณะที่รายได้จาก บัตรโดยสาร และโฆษณาปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปีที่ 200 ล้านบาท/เดือน
สำหรับสาเหตุการขาดทุนของ BYD เกิดจาก
1.เป็นปกติของการลงทุนธุรกิจ Mass transit และ Infrastructure ที่ช่วง 10 ปีแรก จะมีค่าใช้จ่ายค่าเสื่อมราคาสูงเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับ BTS ที่เปิดดำเนินการมาในปี 2542 และรถไฟใต้ดิน ที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 ก็มีลักษณะงบกำไรขาดทุนเช่นเดียวกัน
2. จำนวนผู้โดยสารปัจจุบัน 400,000 คน /วัน ถือว่าช้ากว่าประมาณการมาก เพราะเดิมที คาดว่าจำนวนผู้โดยสารที่ 4 แสนคน/วัน ในปีที่ 1 และ 6 แสนคนในปีที่ 3
สาเหตุหลักมาจาก เส้นทางที่ทับซ้อนกับ ขสมก. อย่างไรก็ดีเชื่อว่า การเจริญเติบโตหลังจากนี้ จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ ขสมก. หยุดบริการเส้นทางทับซ้อนไปแล้วกว่า 80%
พร้อมกันนี้ยังเชื่อว่า จำนวนผู้โดยสาร/วัน ในกรุงเทพ ฯ 1,000,000 คน/วัน ทาง TSB จะมีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 50% ได้โดยไม่ยากนัก ทั้งนี้ปัจจุบัน BTS, BMCL, ขสมก. มีจำนวนผู้โดยสารต่อวันที่ 6.5 แสน, 4.3 แสน และ 5.5 แสน คนต่อวัน ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี BYD ประกาศขาดทุนเกือบ 5,000 ล้านบาท จากการตั้งสำรองไทยสมายล์บัส ทำให้หลักทรัพย์ของบริษัทติดเครื่องหมาย CB ซึ่งคณะกรรมการบริษัทได้มีการประกาศ ลดทุนโดยการลดพาร์ จาก 5 บาท เหลือ 1.25 บาท ส่งผลให้ทุนจดทะเบียนลดลงจาก 2.6 หมื่นล้านบาท เหลือประมาณ 6.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางบัญชีไม่มีผลใด ๆ ต่อผู้ถือหุ้น
ขณะที่ส่วนผู้ถือหุ้น ปรับตัวลดลงเหลือ 7.6 พันล้านบาท แสดงว่าส่วนผู้ถือหุ้นได้อยู่สูงกว่าทุนจดทะเบียนชำระแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อขั้นตอนเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นและการแจ้งจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานก.ล.ต. เสร็จสิ้น ตลาดหลักทรัพย์จะพิจารณาปลดเครื่องหมาย CB ให้กับ BYD ได้ เมื่อ BYD แสดงกำไรสุทธิหรือมีส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าไม่น้อยกว่า 100% ของทุนชำระแล้วในงบการเงินปี 2568