ดาวโจนส์ปิดลบ 96 จุด รอเงินเฟ้อ

HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯ 3 ดัชนีหลักปิดผสม ดาวโจนส์ลดลง 96 จุด ด้าน “S&P500-Nasdaq” บวก นักลงทุนรอรายงานดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ชี้วัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ย “ราคาน้ำมันดิบ WTI” เพิ่มขึ้น 1.29 ดอลลาร์ ฟาก “ตลาดหุ้นยุโรป” ปิดบวก ดัชนี DAX ของเยอรมนีแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 27กุมภาพันธ์ 2567 ที่ 38,972.41 จุด ลดลง 96.82 จุด หรือ -0.25% นักลงทุนให้ความสนใจการรายงานผลประกอบการของธุรกิจค้าปลีกที่จะสะท้อนภาพเศรษฐกิจ ในขณะที่รอการรายงานดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ และเป็ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ย

ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,078.18 จุด เพิ่มขึ้น 8.65 จุด, +0.17%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,035.30 จุด เพิ่มขึ้น 59.05 จุด, +0.37%

ตลาดยังให้ความสนใจหลักที่จังหวะเวลาของการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ดัชนีPCE จึงถูกมองว่าเป็นตัวเร่งที่เป็นไปได้สำหรับหุ้นที่จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคมีความมั่นใจน้อยลงเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ

หุ้น Macy บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ เพิ่มขึ้น 3.4% หลังจากประกาศว่าจะปิดร้านค้าที่ประสบปัญหาประมาณ 150 แห่ง เนื่องจากไม่ทำรายได้ในไตรมาสก่อน หุ้นLowe’s เพิ่มขึ้น 1.7% หลังจากรายงานผลประกอบการที่ก้าวกระโดด หุ้น Zoom Video และหุ้น Hims & Hers Health เพิ่มขึ้น 8% และ 31% ตามลำดับ หลังรายงานผลประกอบการที่เกินความคาด

แซม สโตวัล หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนของ CFRA Research กล่าว ตลาดในวันอังคาร ไม่มีทิศทางมากนัก แต่ละเซ็กเตอร์ต่างก็เคลื่อนไหวตามปัจจัยของตัวเอง

กลุ่มสาธารณูปโภคปรับตัวนำตลาด โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 1.9% กลุ่มบริการการสื่อสารเพิ่มขึ้น 1% ขณะที่ภาคเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นไม่ถึง0.1%

สโตวัล กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้กลุ่มเทคโนโลยี สินค้าฟุ่มเฟือย บริการด้านการสื่อสาร และหุ้นทางการเงินดีขึ้นก็คือ หุ้นเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะทำผลงานได้ดีในช่วงที่ตรึงอัตราดอกเบี้ยชั่วคราว ซึ่งหมายถึงการเติบโต ดังนั้นคิดว่าจนกว่าเฟดจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย นักลงทุนจะไม่กระจายการลงทุนไปเป็นหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กมากนัก เพราะต้องการรอดูก่อน

นอกจากนี้ตลาดวิเคราะหควาเห็นของเจ้าหน้าที่เฟด โดยนายเจฟฟรีย์ ชมิด ประธานเฟดสาขาแคนซัสซิตีเมื่อวันจันทร์กล่าวว่า ยังคงให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ระดับสูงและไม่เร่งรีบที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ส่วนนางมิเชล โบว์แมน ผู้ว่าการเฟดกล่าวว่า ไม่รีบที่จะลดอัตราดอกเบี้ย เมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ

นักลงทุนจะรอดูข้อมูลเศรษฐกิจอื่น ๆ ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ทั้ง ข้อมูลจีดีพี, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน และกิจกรรมการผลิต

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่รายงานเมื่อวาน Conference Board เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวลงมาที่ 106.7 จาบ 110.9 ในเดือนมกราคม และต่ำกว่า 115.0 ที่นักวิเคราะห์คาด ด้วยความกังวลเกี่ยวกับตลาดแรงงาน และปัจจัยทางการเมืองในสหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมกราคม เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปลดลง 6.1% ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2020 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่า อาจลดลง 4.5% . และเมื่อเทียบรายปี ลดลง 0.8%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวก โดยดัชนี DAX ของเยอรมนีแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่นักลงทุนรอคอยข้อมูลอัตราเงินเฟ้อในสัปดาห์นี้ ซึ่งอาจให้ความการลดอัตราดอกเบี้ยมีความชัดเจนขึ้นว่าอาจเริ่มในปีนี้

ดัชนี STOXX 600 ทั่วยุโรปปิดสูงขึ้น 0.2% โดยได้แรงหนุนจากกลุ่มทรัพยากรพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น 1.7% ตามราคาโลหะที่สูงขึ้น และฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนเมื่อวันจันทร์

กลุ่มเทคโนโลยีก็เพิ่มขึ้น 1% สู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2010

ในปีนี้ดัชนี DAX ของเยอรมนีเพิ่มขึ้นดีกว่าคู่แข่งในภูมิภาค โดยเพิ่มขึ้น 4.8% ส่วน STOXX 600 เพิ่มขึ้นเกือบ 4% ในปีนี้ หลังจากเพิ่มขึ้นเกือบ 13% ในปี 2023 จากการคาดหวังมากขึ้นจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

เอริก เธดีน สมาชิกธนาคารกลางยุโรปและผู้ว่าการธนาคารRiksbank(ธนาคารกลางของประเทศสวีเดน)ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 เมื่อพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง

ผลสำรวจพบว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคชาวเยอรมันคาดว่าจะทรงตัวที่ระดับต่ำในเดือนมีนาคม ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของฝรั่งเศสลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อกลับมาอีกครั้ง

กลุ่มเฮลธ์แคร์ลดลง 0.1% โดยผู้ผลิตยารักษาโรคอ้วน Wegovy Novo Nordisk ร่วงลงมากถึง 4.5% ระหว่างวัน แต่ปิดลดลง 1.2%

หุ้น Puma ลดลง 4.1% เนื่องจากแบรนด์ชุดกีฬาเยอรมันคาดว่าครึ่งปีแรกจะไม่สดใสในตลาดที่ท้าทาย

ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ 496.33 จุด เพิ่มขึ้น 0.90 จุด, +0.18%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,683.02 จุด ลดลง 1.28 จุด, -0.02%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,948.40 จุด เพิ่มขึ้น 18.58 จุด, +0.23%,
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 17,556.49 จุด เพิ่มขึ้น 133.26 จุด, +0.76%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 1.29 ดอลลาร์ หรือ 1.66% ปิดที่ 78.87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 1.12 ดอลลาร์ หรือ 1.36% ปิดที่ 83.65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล