BAM ทุ่มกำไร 80% ปันผล 0.38 บาท ธุรกิจโตอีกไกล ระบบมี NPLs 5 แสนลบ.

HoonSmart.com>>บอร์ด”บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์” (BAM) ใจดี อนุมัติจ่ายเงินปันผลปี 66  หุ้นละ 0.38 บาท ผลตอบแทน 4.69% เปิดเป้าหมายปี 67 ผลเรียกเก็บ  20,000 ล้านบาท ขยายฐานสินทรัพย์ภาระหนี้รวม 70,000 ล้านบาท มองธุรกิจโตอีกมาก จากความแข็งแกร่งของผู้นำบริษัท AMC 25 ปี กลยุทธ์เด็ด ระบบการเงินมี NPLs ให้ซื้อมาบริหารสูงถึง 5 แสนล้านบาท ไม่รวมที่จะตกชั้นจากสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษอีก 1.1 แสนล้านบาท  

บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) บริษัทบริหารสินทรัพย์ชั้นนำของประเทศ เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทฯมีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 0.38 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,228 ล้านบาท คิดเป็น 80.04% ของกำไรสุทธิของปี 2566 ให้กับ ผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) วันที่ 30 เม.ย. 2567 และขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 29 เม.ย. 2567 คิดเป็นอัตราผลตอบแทนประมาณ 4.69% เทียบกับราคาหุ้นปิดที่ 8.10 บาทเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2567 ทั้งนี้ BAM จ่ายเงินปันผลสูงใกล้เคียงกับ SCB แจกสัดส่วน  80% ของกำไรสุทธิ เท่ากับเงินปันผลหุ้นละ  10.34 บาท

ส่วนผลงานปี 2566 บริษัทฯมีกำไรสุทธิ 1,534.50 ล้านบาท เท่ากับ 0.47 บาทต่อหุ้น ลดลง 43.7%จากปี 2565 มีกำไรสุทธิ 2,724.76 ล้านบาทหรือ 0.84 บาทต่อหุ้น มีผลเรียกเก็บจากส่วนงานบริหารหนี้เสีย NPLs จำนวน 8,452ล้านบาท และงานบริหารทรัพย์สินรอการขาย NPAs จำนวน  6,698 ล้านบาท รวมจำนวน 15,150 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อสร้างความยั่งยืนและให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้รายย่อยได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือน และลูกหนี้กลุ่มธุรกิจขอเลื่อนการชำระหนี้ออกไปจากสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและยังไม่ทั่วถึง

สำหรับงานบริหาร NPAs ยังค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากตลาดบ้านมือสองยังได้รับความสนใจ แม้ว่าภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์เติบโต
ไม่มากนัก จากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท และภาวะดอกเบี้ยสูงที่กดกับการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ ส่วนการบันทึกผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นรวม  4,225 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.3% จากปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการบันทึก จากเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้รวมจำนวน 4,190 ล้านบาท

ปี 2566 เป็นปีที่บริษัทฯ ตระหนักถึงการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน ซึ่งบริษัทฯ ได้รับการประเมินหุ้นยั่งยืน “SET ESG Ratings” 2 ปี ซ้อน และมีผลการประเมินที่ระดับ “AA” สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทฯ ได้ยกระดับการดำเนินงานและการจัดทำรายงานความยั้งยืนภายใต้กรอบ ESG รวมทั้งยังมีการนำแนวคิดด้านความยั่งยืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการดำเนินธุรกิจ พร้อมรับมือกับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล

การดำเนินธุรกิจ แม้ว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ โดยภาครัฐและสถาบันการเงินยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องผ่านเครื่องมือช่วยเหลือทางการเงิน เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย การลดค่างวดการชำระหนี้ การพักชำระะเงินต้น เป็นต้น ส่งผลให้ยอดคงค้าง NPLs ในระบบสถาบันการเงินตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ยังทรงตัวที่ระดับ 5 แสนล้านบาท หรือมียอดคงค้าง NPLs ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.7% และมีสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loans) อีก 1.1 แสนล้านบาท

ปัจจุบันบริษัทฯ มีหนี้เสียด้อยคุณภาพที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการภาระหนี้รวม 495,007 ล้านบาท และมีทรัพย์สินรอการขาย มูลค่ารวม 71,316 ล้านบาท โดยบริษัทฯ เชื่อว่าปริมาณ NPLs ในระบบสถาบันการเงินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการตกชั้นของสินเชื่อ Special Mention Loans ที่จะกลายมาเป็น NPLs เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยปริมาณ NPLs ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นโอกาสทางธุรกิจของบริษัท ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ชั้นนำของประเทศมีบุคลากรที่มีความชำนาญ มีประสบการณ์ในการบริหารจดัการหนี้เสียมากกว่า 25 ปี รวมถึงมีสำนักงานสาขาที่ครอบคลุมกว่า 25 สาขาทั่วประเทศเป็นเครือข่ายสำคัญที่ให้บริการลูกค้าแบบครบวงจร ด้วยพนักงานคนท้องถิ่นที่เข้าใจความต้องการและเข้าถึงลูกหนี้-ลูกค้าได้เป็นอย่างดี

ส่วนแนวโน้มการดำเนินงานในปี 2567 ซึ่งเป็นโอกาสที่บริษัทฯ ครบรอบ  ได้กำหนดเป้าหมายผลเรียกเก็บที่ 20,000 ล้านบาท และมีเป้าหมายขยายฐานสินทรัพย์ภาระหนี้รวม 70,25 ปี000 ล้านบาท มีกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ Clean Loan ด้วยการจัดกลุ่มลูกหนี้ ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่บริหารเอง กับกลุ่มที่ให้ทนายนอก/Collector บริหารจัดการ เพื่อลดเวลาในการติดตามหนี้ การดำเนินโครงการกิจการค้าร่วม (Consortium) ร่วมกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รวมทั้งการพัฒนา Pricing Model ด้วยการลงทุนแบบSelective เพื่อรับซื้อรับโอนสินทรัพย์ในราคาที่เหมาะสม

นอกจากนี้เพื่อเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven Organization) บริษัทฯ ได้เร่งสร้างระบบการให้บริการลูกค้าบน Online Platform โดยมีระบบการชำระเงิน และ E-TDR (การปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์)ด้วยการจัดทำ BAM Mobile Application ระบบจองทรัพย์/ชำระเงิน และระบบตรวจสอบภาระหนี้/ชำระหนี้รวมถึงการบริหารจัดการข้อมูล DATA Management Dashboard ด้วยการสร้างศูนย์ข้อมูลกลาง (DATA Center) ในขณะเดียวกันยังได้นำระบบ Lead Management ที่จะช่วยรวบรวมข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่สนใจสินค้าและกลุ่มลูกหนี้ที่ต้องการทราบข้อมูลเบื้องต้นก่อนเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ให้ติดต่อหรือลงทะเบียนเข้ามา เพื่อสร้างโอกาสในการปิดการขาย หรือโอกาสในการปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้เพิ่มขึ้น

“บริษัทฯ มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และมีแผนการบริหารงานสภาพคล่อง แผนการกู้เงินระยะสั้นและระยะยาวอย่างเหมาะสม โดยในปี 2566 บริษัทฯ ออกและเสนอขายหุ้นกู้ 2 คร้ัง เป็นเงินรวม 10,400 ล้านบาท ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุนสถาบันและรายใหญ่(บริษัทได้รับการจัดอันดับดับเครดิตองคก์รและหุ้นกู้ จากบริษัททริสเรทติ้ง อยู่ที่ระดับ “A-” แนวโน้ม“คงที่”) ณ วันที่ 31 ธ.ค.2566 บริษัท ฯ มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน 2.15 เท่า (ธนาคารผู้ให้กู้ กำหนดเงื่อนไขให้ไม่เกิน 3 เท่า)”

แม้ว่าผลการดำเนินงานจะเผชิญความท้าทายนับตั้งแต่ครึ่งหลังของปี2566 แต่บริษัทฯ มั่นใจศักยภาพในการดำเนินงานและการเติบโตของธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยมุ่งมั่นที่จะดำเนินกลยุทธ์เร่งผลเรียกเก็บให้ได้ตามเป้าหมายภายในระยะเวลา 10 เดือนแรก เพื่อทำให้ปี 2567 เติบโตได้ดี โดยตั้งเป้าหมายผลเรียกเก็บรวม 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นผลเรียกเก็บ NPL และ NPA อย่างละ 10,000 ล้านบาท” บริษัท BAM ระบุ