“อมร ทองธิว” ทายาทรุ่น 3 วิริยะประกันภัย เร่งเครื่องอาณาจักร 7 หมื่นล้าน โต 3.7%

HoonSmart.com>>”อมร ทองธิว” ทายาทรุ่น 3 วิริยะประกันภัย เผยปี 2568 เป็นปีของการเก็บเกี่ยวผลลงทุนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ใช้แนวคิด ใช้ทุกวิให้คุ้มค่า ด้วยบริการที่เป็นเลิศครอบคลุมครบวงจร ขับเคลื่อนอาณาจักร 7 หมื่นล้านบาท ดันยอดขายเบี้ยรวมโต 3.7% ปักธงที่ 4.25 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 3 พันล้านบาท เสริมความแข็งแกร่งด้านบริการ เครือข่ายพันธมิตร กำลังคน ฝ่าเศรษฐกิจโตต่ำ การแข่งขันรุนแรง

“ปี 2568 เป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวผลจากการลงทุนไปเมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2566-2567 เราได้ลงทุนไปราว 200 ล้านบาท ในการพัฒนาด้านไอทีโดยการนำเอไอเข้ามาจัดการกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ โดยเฉพาะฐานข้อมูลลูกค้า 8 ล้านราย เพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ การขาย พัฒนาเครือข่ายพันธมิตร พัฒนาบุคลากร เป็นเพียงการเริ่มต้น”นายอมร ทองธิว กรรมการผู้จัดการ บริษัทวิริยะประกันภัย กล่าว

นายอมร กล่าวว่า ปี’68 นี้ จะไม่มีการลงทุนอะไรเพิ่ม แต่จะทำให้เกิดการเชื่อมประสานกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ใช้จุดแข็งของกันและกันในการเกื้อหนุนการพัฒนาด้านบริการที่มีความเป็นเลิศ โดยตั้งเป้าเบี้ยรับรวม 42,569 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่บริษัทยังคงมีความมั่นคงแข็งแกร่งด้วยในสินทรัพย์ที่มีอยู่ถึง 7 หมื่นล้านบาท มีอัตราความพอเพียงของเงินกองทุน 220%

ในช่วง ที่เริ่มเข้ามาทำงานที่บริษัทวิริยะประกันภัย ตอนนั้นบริษัทฯก็ใหญ่อยู่แล้ว โดยเฉพาะบุคลากร ที่มีความหลากหลายด้านอายุ ความเชี่ยวชาญ ลักษณะนนิสัย ตอนเข้ามาก็พัฒนาหลายเรื่องเพื่อให้เติบโตไปต่อได้ในอนาคต

โจทย์ตอนนั้น คือ ทำอย่างไร ให้ทีมผู้บริหารรุ่นใหม่ทำงานร่วมกับทีมผู้บริหารรุ่นเดิม นำข้อคิดของผู้บริหารรุ่นเดิมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อผสมผสานกันออกมาเป็นการทำงานที่ได้ประสิทธิภาพ ที่จะต้องพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

“ถ้ามองต่อไปในอนาคต ยังคงเน้นการพัฒนาบริการให้เป็นเลิศ เพราะจะนำการเติบโตมาเองอย่างเป็นธรรมชาติ”นายอมร กล่าว

ปี’68 โต 3.7% กำไร 3 พันล้านบาท

นายอมร ทองธิว เป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลวิริยะพันธุ์ เข้ามารับช่วงต่อจาก นางสุวพร ทองธิว ที่เป็นคุณแม่โดยเข้ามาร่วมงานกับบริษัทวิริยะประกันภัย ตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบันรวม 15 ปี ในขณะที่ บริษัทวิริยะประกันภัย มีอายุ 78 ปีเต็ม และกำลังก้าวสู่ปีที่ 79 นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2490 โดย “นายเล็ก วิริยะพันธุ์” และสืบทอดการบริหารต่อมายังรุ่นที่ 2 โดย “นางสุวพร ทองธิว” และเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในไทย สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดเบี้ยประกันภัยรับรวมสูงสุดอันดับ 1 มายาวนานถึงปัจจุบันเป็นเวลา 33 ปี และคาดว่าในปีนี้จะยังไม่มีใครมาชิงเบอร์ 1 ได้

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายใหม่ๆ ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากเศรษฐกิจที่โตต่ำ และเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้บริโภครอไม่ไหว ทุกสิ่งอย่างต้องตอบสนองให้ทันใจ การแข่งขันจากบริษัทประกันภัยดิจิทัล และ InsurTech เริ่มมีบทบาทมากขึ้น วิริยะต้องเร่งปรับตัว

ปี 2568 ได้ชูแนวคิด “ใช้ทุกวิให้คุ้มค่า:ด้วยบริการที่เป็นเลิศครบวงจร” ในการขับเคลื่อนเป้าหมายเบี้ยรวมจะโต 3.7% หรือมีเบี้ย 42,569 ล้านบาท แบ่งเป็นประกันภัยรถยนต์ 37,591 ล้านบาท โต 3.3% และเบี้ยประกันภัย Non-Motor 4,978 ล้านบาท โต 11% จากฐานปี 2567 ที่เบี้ยรวมทำได้ 40,879 ล้านบาท และปีนี้จะมีกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท

หากมองโอกาสความเป็นไปได้จากอดีต กับขนาดของตลาดในปี 2568 ที่ทาสมาคมประกันวินาศภัยไทย มองว่าปี 2568 อุตสาหกรรมประกันวินาศภัยของไทยมีมูลค่ากว่า 2.91-2.94 แสนล้านบาท โดยประกันภัยรถยนต์เป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดที่ประมาณ 60% หรือคิดเป็น 1.8 แสนล้านบาท และตลาดประกันสุขภาพและประกันภัยทรัพย์สินยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก

ทางวิริยะฯ จะยังรักษาส่วนแบ่งการตลาดเบี้ยรับรวมอันดับ 1 ไว้ได้ โดยปีที่ผ่านมาส่วนแบ่งตลาดที่สามารถครอบครองได้อยู่ที่ 14.3% มีส่วนแบ่งตลาดเบี้ยรถยนต์ 22.6% อันดับ 1 เช่นกัน ภายใต้ความได้เปรียบด้าน แบรนด์แข็งแกร่งและเป็นที่ยอมรับ มีเครือข่ายบริการครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีสาขาและศูนย์สินไหมมากกว่า 160 แห่ง พร้อมเครือข่ายพันธมิตรศูนย์ซ่อมกว่า 1,000 แห่ง มีบุคลากรที่มีความหลากหลายวัย ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ จำนวนมากถึงกว่า 6,900 คน ซึ่งได้รับการฝึกอบรมด้านประกันภัยอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญมีฐานะการเงินมั่นคง จากสินทรัพย์รวม 70,904 ล้านบาท และอัตราความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) 220% สูงกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทำให้มีทุนในการแข่งขัน และเผชิญกับการขาดทุนในบางสินค้าได้นาน เช่น

ปัจจุบันประกันภัยภาคสมัครใจรถยนต์ไฟฟ้า ที่ยังขาดทุน เพราะต้นทุนในการซ่อมสูงกว่ารถสันดาปถึง 50% แม้เบี้ยสูงกว่ารถสันดาป 15% ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งอยู่ระหว่างการทบทวนการขึ้นเบี้ยประกันรถ EV ถึงจะขาดทุน แต่ก็ยังรับประกันต่อไปได้ โดยยังคงครองอันดับ 1 ของเบี้ยรถ EV ซึ่งปีที่ผ่านมามีเบี้ย 1,500 ล้านบาท มีรถ EV ที่บริษัทคุ้มครองอยู่ 6.6 หมื่นคัน ที่ปีนี้จะรักษาระดับไม่ให้ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

ที่ผ่านมา การปรับตัวด้านดิจิทัลยังล่าช้า เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่เป็นประกันภัยด้วยกัน และเทียบกับคู่แข่งที่เป็น InsurTech และแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยยังพึ่งพาการขายผ่านตัวแทนเป็นหลัก แต่หลังจากที่มีการนำ AI มาใช้พัฒนาฐานข้อมูล ทำการวิเคราะห์ ได้ผลชัดเจนแล้ว จะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าติดตาม ซึ่งปีนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้นและเป็นการเรียนรู้จากการลงมือทำด้วยตนเอง

ตลาดประกัน Non-Motor ของวิริยะ ยังไม่เติบโตเท่าที่ควร เพราะปัจจุบันรายได้หลักยังมาจากประกันภัยรถยนต์มากถึง 89% ขณะที่ประกันภัย Non-Motor มีเพียง 11% แต่ก็เป็นโอกาสในอนาคต โดยปี 2568 มีแผนที่จะรุกขยายตลาดประกันสุขภาพและประกันภัยทรัพย์สินผ่านฐานลูกค้าเดิม 8 ล้านกรมธรรม์ให้มากขึ้น

โดยจะมีการออกประกันสุขภาพที่มีเงื่อนไขให้ลูกค้าร่วมจ่ายค่ารักษา หรือ Copayment และประกันสุขภาพที่ให้ลูกค้ารับผิดชอบค่ารักษาส่วนแรก หรือ Deductible จะช่วยให้ลูกค้าลดเบี้ยลงได้ 40-50%

ขณะที่ บริษัทฯ ได้หาทางออกเพื่อให้กำลังซื้อเพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและกำลังซื้อที่ลดลง ทำให้ลูกค้าหลายกลุ่มลดค่าใช้จ่ายด้านประกันภัย ด้วยการออกประกันภัยระยะสั้น 3 เดือน 6 เดือนออกมา และการออกประกันภัยภาคสมัครใจ 2 บวก และ 3 บวก เข้ามาเสริมมากขึ้น

ชูแนวคิด ใช้ทุกวิให้คุ้มค่าฯ

นายอมร อธิบาย ถึง แนวคิด “ใช้ทุกวิให้คุ้มค่า:ด้วยบริการที่เป็นเลิศครอบคลุมครบวงจร” เพื่อสร้างประสบการณ์ที่มากกว่าความคุ้มครอง คือ ความคุ้มค่า ใน 3 ด้าน ซึ่งได้ออกเป็นภาพยนต์โฆษณาชุดใหม่เพื่อสื่อให้เห็นความตั้งใจของบริษัท ในการข้บเคลื่อนเป้าหมายการดำเนินงาน ประกอบด้วย

1.การยกระดับคุณภาพและความพร้อมในการให้บริการ ในทุกจุดที่ลูกค้าสามารถสัมผัสได้ หรือ Touchpoint ควบคู่กับช่องทางการจำหน่ายและจุดบริการที่หลากหลาย ด้วยการเพิ่มจำนวนตัวแทนและนายหน้า ที่มีอยู่แล้ว 3,800 กว่าคนให้มากขึ้น โดยเฉพาะจะมุ่งเจาะตลาดในเมืองรอง เช่น อุทัยธานี บึงกาฬ นครพนม ที่ต้องการตัวแทนและนายหน้าอีก 200 ราย ขยายช่องทาง Line OA ให้เป็น One Stop Service สำหรับซื้อประกัน แจ้งเคลม และบริการฉุกเฉิน ขยายจุดรอตรวจสอบอุบัติเหตุจาก 20 จุดเป็น 30 จุด พร้อมใช้เทคโนโลยี VClaim on VCall ให้ลูกค้าแจ้งเคลมผ่านมือถือได้สะดวกยิ่งขึ้น และยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฯ เพราะลดการเดินทางออกจากบ้าน และลดระเวลาในการเดินทาง ช่วยลดต้นทุนของบริษัทด้วย และขยายความร่วมมือกับโรงพยาบาลชั้นนำเพื่อเสริมบริการด้านประกันสุขภาพ

2.ขยายเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศของบริการ(Ecosystem) ด้วยเพิ่มตัวแทนจำหน่ายประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รองรับเทรนด์ยานยนต์ใหม่ ขยายเครือข่ายพันธมิตรศูนย์ซ่อมเฉพาะทาง เช่น Luxury Car, รถขนส่ง เพิ่ม Exclusive Partner สำหรับ Privilege Program ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ซึ่งปัจจุบันมีพันธมิตรที่จัดสิทธิพิเศษเฉพาะลูกค้า 65 แบรนด์ จะเพิ่มเป็น 80 แบรนด์ในปีนี้

3.ยกระดับศักยภาพบุคลากรที่มีอยู่ 6,900 คนทั่วประเทศ ที่จะมีการจัดการอบรมความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะบุคคลอย่างรอบด้าน เพื่อสร้างผู้บริหารรุ่นใหม่ในอนาคตรุ่นต่อไป ทั้ง ด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ สินค้า สินไหม บริการ การรับประกันภัย

ส่วนลดเบี้ยสีเขียว

นายอมร กล่าวว่า บริษัทฯ ยังยึดหลักการทำประกันภัยภายใต้กฎเกณฑ์มาตรฐานสากล ด้วยการนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับสังคมไทย ภายใต้นโยบายด้าน ESG บริษัทได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับพลังงานสีเขียว คุ้มครองโซล่า รูฟท็อป และอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยแก่ผู้ประกอบการขนส่ง ที่ใช้รถไฟฟ้าในการขนส่ง

ขณะเดียวกัน บริษัทฯมีการติดตั้งโซล่า รูฟท็อป ที่ศูนย์บริการต่างๆ และการให้บริการเคลมผ่านวิดีโอคอลล์ ก็เป็นหนึ่งในการช่วยลดการเดินทาง

ภายใต้การบริหารของ นายอมร ทองธิว กรรมการผู้จัดการ บริษัทวิริยะประกันภัย แม้บริษัทฯจะมีเบี้ยที่ห่างไกลอันดับ 2-3 อยู่หลัก 8-9 พันล้านบาท แต่ยุคที่เทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นเร็ว และเปลี่ยนแรง การรุกคืบของคู่แข่งขันทั้งในไทย และต่างประเทศ รวมถึงคู่แข่งที่มีรูปแบบการทำธุรกิจแตกต่างจากอดีต การเร่งเตรียมพร้อมในทุกด้าน อาจจะทำให้สามารถรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดประกันวินาศภัยและเติบโตอย่างมั่นคงได้ แต่จะยาวนานแค่ไหนเป็นเรื่องที่ไม่มีใครตอบได้ในยุคนี้

รายงานโดย วารุณี อินวันนา